ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
ผลการศึกษาล่าสุดจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD (The Organization for Economic Co-operation and Development) เปิดเผยถึงความสามารถในการรับมือกับข่าวปลอมหรือ Fake News ของเยาวชนอายุ 15 ปี
จากทั่วโลก พบว่าเยาวชนไทยมีศักยภาพต่ำมากในเรื่องนี้ โดยอยู่ในอันดับเกือบจะท้ายสุดของ 77 ประเทศทั่วโลกที่ทำการประเมิน โดยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 76 สูงกว่าอินโดนีเซียที่อยู่ในอันดับที่ 77 เพียงประเทศเดียว ส่วนเด็กนักเรียนจากอังกฤษ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และเดนมาร์ก มาเป็นอันดับ 1-5 เรียงกันมา ขณะที่สิงคโปร์เป็นสมาชิกอาเชียนที่ติดอันดับ 8 เพียงประเทศเดียว
ผลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการวัดผล PISA 2018 ทางด้านความสามารถเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางด้านดิจิทัลของผู้เข้าร่วมการทดสอบ มีการสอบถามผู้เข้าร่วมการทดสอบว่าได้มีการเรียนรู้ถึง 7 หัวข้อนี้ ในห้องเรียนหรือไม่ ?
❤︎ 1. วิธีการใช้คีย์เวิร์ดในการใช้เครื่องมือค้นหา อย่างเช่น Google หรือ Yahoo
❤︎ 2. วิธีการตัดสินใจว่าจะเชื่อข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตหรือไม่
❤︎ 3. วิธีการเปรียบเทียบหน้าเว็บที่แตกต่างกัน และตัดสินใจได้ว่าข้อมูลใดที่เกี่ยวข้องกับงานของพวกเขามากกว่า
❤︎ 4. การทำความเข้าใจผลจากการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะทางออนไลน์
❤︎ 5. วิธีใช้คำอธิบายสั้น ๆ ด้านล่างลิงค์ในรายการผลลัพธ์ของการค้นหา
❤︎ 6. วิธีการตรวจสอบว่าข้อมูลใดเป็นความคิดเห็นส่วนตัวหรือมีความเอนเอียง
❤︎ 7. วิธีตรวจจับอีเมลฟิชชิง หรือสแปม
ปรากฏว่าผลการทดสอบพบว่านักเรียนไทยได้รับรู้เรียนรู้ประเด็นเหล่านี้ในห้องเรียนน้อยมาก มีผลต่อทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ต่ำของเด็กไทยในปัจจุบัน
ในขณะที่การใช้งานออนไลน์โดยรวมของเยาวชนอายุ 15 ปี เพิ่มขึ้นจาก 21 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ใน PISA ปี 2012 เป็น 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ใน PISA ปี 2018 ซึ่งเกือบจะเท่ากับเวลาการทำงานเฉลี่ยของผู้ใหญ่ของประเทศ OECD
โดยผลการศึกษาเหล่านี้บ่งบอกถึงความสามารถในการแยกแยะข้อเท็จจริงจากความคิดเห็น การประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล และการเรียนรู้กลยุทธ์ในการตรวจจับข้อมูลที่ลำเอียงหรือข้อมูลเท็จ เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการอ่านในโลกดิจิทัล
จากผลการศึกษาครั้งนี้เป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า เด็กและวัยรุ่นเป็นวัยที่ตกเป็นเหยื่อของสื่อได้ง่าย ยิ่งสถานการณ์ช่วงโควิด-19 ยิ่งทำให้เด็กและเยาวชนใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรให้ความสำคัญต่อการรับสื่อของเด็กและเยาวชน ฝึกวิธีคิดให้รู้เท่าทันสื่อแบบจริงจัง
ฝึกวิธีคิดให้รู้เท่าทันสื่อ
☺︎ 1. ฝึกสังเกตและไม่เชื่อทันที ☺︎
ผู้ใหญ่ควรฝึกให้ลูกสังเกตทุกครั้ง อย่าเพิ่งเชื่อและคล้อยตามทันที เป็นวิธีช่วยฝึกการใช้สติให้ระแวดระวังและเท่าทันต่อสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต
☺︎ 2. เช็คแหล่งที่มา ☺︎
เช็คแหล่งที่มาของข่าว ข้อมูล ความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ ผู้เขียน หรือการอ้างอิงทางวิชาการทุกครั้ง เช่น ถ้าเป็นข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพก็ควรมีข้อมูลอ้างอิงทางการแพทย์หรือสถาบันที่น่าเชื่อถือ เพราะที่ผ่านมามีเว็บไซต์หลายแห่งที่หลอกลวงและมีการตั้งชื่อให้คล้ายคลึงกับเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือ
☺︎ 3. ตั้งคำถามทุกครั้ง ☺︎
ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่า เนื้อหาของข่าวถูกต้องไหม เนื้อหาข่าวเก่า ภาพหรือคลิปเดิม หรือตัดแปะจากแหล่งอื่นหรือไม่ ให้ระวังเนื้อหาที่ใช้ภาษาไม่เป็นทางการ การพาดหัวข่าวที่ดูน่าสนใจเกินจริง ที่สำคัญไม่ควรแชร์ข่าวหรือข้อมูลนั้นๆ ทันที หรือเพียงแค่ไม่แน่ใจก็ต้องไม่ส่งต่อ
☺︎ 4. ชวนพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ☺︎
ครอบครัวมีส่วนช่วยมากในเรื่องนี้ ควรตั้งเป็นประเด็นในการพูดคุยร่วมกันในครอบครัว จะได้รู้ว่าสมาชิกในครอบครัวคิดอย่างไร พ่อแม่จะได้สอดแทรกวิธีการสังเกตการรับรู้ข้อมูลข่าวสารแบบรู้เท่าทันสื่อ มีการแลกเปลี่ยนนำเสนอ หรือแสดงความคิดเห็นต่างๆ ควรเป็นไปด้วยเหตุและผล จะส่งเสริมให้เกิดวุฒิภาวะขึ้นในตัวเด็ก
☺︎ 5. ประเมินคุณค่าของสื่อ ☺︎
ประเด็นสำคัญที่ควรให้เด็กเรียนรู้คือ คุณค่าของสื่อ เด็กควรรู้ว่า สื่อนั้น ๆ มีเจตนาอะไร ต้องการอะไร รวมถึงคุณค่าของสื่อว่าอยู่ในระดับใด เมื่อเด็กสามารถเข้าใจเจตนาและประเมินคุณค่าสื่อได้ ย่อมหมายถึงเด็กมีแนวโน้มเท่าทันสื่อ
ยุคสื่อดิจิทัลที่ประชาชนส่วนใหญ่มีบทบาทเป็นทั้งผู้สร้างและผู้รับสื่อ จึงควรปลูกฝังเด็กไทยให้มีความรอบรู้ด้านทักษะการรู้เท่าทันสื่อ สู่การเป็น “พลเมืองดิจิทัล” เท่าทันตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคม และพัฒนาปัจจัยแวดล้อมทั้งพื้นที่สร้างสรรค์ ช่องทางสื่อ และการสนับสนุนการจัดการความรู้
ด้วยสถานการณ์ของสื่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเลี้ยงดูเด็กสมัยนี้จึงแตกต่างจากเด็กสมัยก่อน ผู้ใหญ่ก็ต้องเรียนรู้ไปกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ด้วย พ่อแม่ผู้ปกครองจะสอนลูกจากประสบการณ์เดิม ๆ ไม่ได้อีกแล้ว เพราะโลกเปลี่ยน สภาพแวดล้อมเปลี่ยน ข้อมูลข่าวสารก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย พ่อแม่ก็ต้องแสวงหาความรู้เพื่อสอนลูกด้วยเช่นกัน ไม่ควรใช้ความรู้ในชุดเดิม ๆ ประโยคประเภท “พ่อแม่อาบน้ำร้อนมาก่อน หรือรู้ดีกว่าลูก” นำมาใช้ไม่ได้แล้ว ผู้ใหญ่ต้องเปิดใจกว้างวางอคติ ปรับทัศนคติ และมองกระบวนการเรียนรู้ศึกษาพร้อมไปกับลูก
การสร้างความสัมพันธ์ความเข้าใจระหว่างเด็กและผู้ใหญ่เป็นสิ่งจำเป็น เพราะสื่อออนไลน์นับวันมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมีนโยบายและมาตรการที่เป็นองค์รวม ในการดูแล ป้องกัน เรียนรู้ครอบคลุมเด็กและประชาชนทุกช่วงวัย และดึงการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่าง ๆ เพื่อสร้างสังคมรู้เท่าทันสื่อ
...“ผลการจัดอันดับของ OECD ครั้งนี้บอกเล่าเหตุปัจจัยของวิกฤติสังคมไทยได้พอสมควร”...