154
สอนลูกให้รู้เท่าทันโกง

สอนลูกให้รู้เท่าทันโกง

โพสต์เมื่อวันที่ : May 9, 2022

ไม่อยากให้ลูกโดนเอาเปรียบ แล้วถ้าลูกเอาเปรียบผู้อื่นล่ะ แน่นอนว่าสำหรับคนเป็นพ่อแม่มักจะสอนลูกว่า อย่าไปเอาเปรียบผู้อื่นนะ แต่ก็อย่าให้ผู้อื่นมาเอาเปรียบเรา 

 

หรือแม้แต่การสอนไม่ให้ลูกโกงผู้อื่น แต่ถ้าลูกถูกโกงล่ะ แน่นอนว่าสำหรับคนเป็นพ่อแม่มักจะสอนลูกว่า อย่าไปโกงผู้อื่นนะ แต่ก็อย่าให้ผู้อื่นมาโกงเราด้วยเช่นกัน แต่หากว่าด้วยวิธีการแยบยลที่ดูเหมือนไม่โกง แต่ไม่เหมาะไม่ควร ไม่ถูกศีลธรรมล่ะ เราจะบอกลูกว่าควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ

 

 

โลกยุคปัจจุบันสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนจนประหนึ่งเหมือนไม่อาจบอกลูกได้ชัดว่าอะไรคือขาว อะไรคือดำ อะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว เพราะเด็กมักจะเชื่อให้สิ่งที่เห็นมากกว่าสิ่งที่ได้ยิน

 

การอธิบายเรื่อง ‘โกง’ ให้ลูกเข้าใจในเรื่อง ‘ดี’/‘ชั่ว’ และ ‘โกง’/’ไม่โกง’ ในยุคนี้ยากเหลือเกิน การจะบอกว่าคนโกงเป็นคนไม่ดี แต่เหตุไฉนเราจึงพบเห็นคนโกงบางคนได้ดี !

 

ยิ่งถ้าเป็นการโกงที่แยบยล เพราะความที่มีโอกาสมากกว่าผู้อื่น แล้วทำให้การโกงแยบยล เอาเปรียบผู้อื่นได้เนียนกว่า แล้วเราจะสอนลูกเราอย่างไรว่าพฤติกรรมแบบนั้นไม่ควรเอาเยี่ยงอย่างที่ผ่านมา สังคมไทยยังคงเน้นค่านิยมและมีทัศนคติเรื่องเด็กเก่ง เด็กฉลาด ต้องมาก่อนเสมอ ทำให้การใส่ใจเรื่อง “ความดี” มักถูกมองข้ามไป หรือคิดว่าเพียงแค่บอกกล่าวก็น่าจะเพียงพอ 

เรื่องการปลูกฝังให้ลูกเติบโตเป็นคนดี โตไปไม่โกง หรือรู้ทันการโกง สามารถทำได้ตั้งแต่เล็ก พ่อแม่อย่าคิดว่าลูกเล็กยังไม่เข้าใจ รอให้ลูกโตก่อน เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะเมื่อรอให้ลูกโตแล้ว การแก้ปัญหาย่อมยากกว่าการปลูกฝัง

 

สิ่งที่พ่อแม่ควรปลูกฝังคือ การสอนให้ลูกแยกแยะระหว่างความดีความชั่ว ระหว่างถูกผิด ระหว่างสิ่งที่เหมาะและไม่เหมาะ สามารถปลูกฝังได้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่วัยเด็กเล็กก็สามารถทำได้ เช่น เมื่อลูกอยากได้ของเล่นของเพื่อน ก็ต้องบอกลูกว่านั่นไม่ใช่ของเรา ไปเอาของเพื่อนไม่ได้ แต่เราสามารถยืมได้ ต้องขออนุญาตก่อน และเมื่อเล่นเสร็จแล้วก็ต้องคืนเจ้าของพร้อมกับขอบคุณเพื่อนด้วย

 

หรือแม้แต่เมื่อลูกถูกเพื่อนเอาของเล่นไปโดยไม่ขออนุญาต หรือถูกขโมยไป ก็ต้องบอกให้ลูกรู้ว่าเพื่อนทำไม่ถูก ต้องบอกเพื่อนด้วยว่าควรจะขออนุญาตก่อน แล้วก็ให้เพื่อนยืมหรือเล่นด้วยกัน และเมื่อเล่นเสร็จก็ควรนำมาคืนเจ้าของ ประมาณว่าให้เขาเรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกันแบบแบ่งปันกันได้ ไม่เอาเปรียบกัน 

 

 

แรก ๆ เด็กอาจไม่เข้าใจ แต่เมื่อทำเป็นประจำ เด็กจะค่อย ๆ ซึมซับและเรียนรู้เรื่องความเป็นเจ้าของ และของผู้อื่น และไม่ควรเอาของผู้อื่นมาเป็นของเรา เท่ากับเป็นการสอนเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต สอนให้เด็กเรียนรู้สิทธิตนเองและผู้อื่น ไม่ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินผู้อื่น การหยิบยืมของไปใช้ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของก่อนเท่านั้น 

 

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน การที่พ่อแม่สามารถสอนจากเรื่องราวในชีวิตประจำวัน จะทำให้ลูกซึมซับได้ทุกวี่วัน ที่สำคัญอย่าคิดว่านี่เป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ เพราะส่วนใหญ่เด็กที่โกง จะเริ่มจากโกงจากเรื่องเล็ก ๆ ก่อน แล้วจากนั้นถึงจะโกงเรื่องที่ใหญ่ขึ้น

 

ประการต่อมา เรื่องการสร้างจิตสำนึก เป็นเรื่องด้านในของจิตใจที่จะต้องสอนให้ลูกละอายแก่ใจถ้าทำสิ่งไม่ดี ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ และต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน เมื่อเด็กมีความรับผิดชอบ อาสา มีน้ำใจ ไม่เห็นแก่ตัว และเสียสละต่อเรื่องส่วนรวมควรชื่นชม และชี้ให้เห็นถึงคุณค่าในตัวเอง 

แต่เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งสำคัญที่สุด คือ พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่าง พ่อแม่ต้องไม่โกง เพราะถ้าพ่อแม่โกง ลูกก็จะได้รับแบบอย่างจากพ่อแม่โดยตรง ต่อให้พร่ำสอนอย่างไรก็ไม่เป็นผล เพราะพ่อแม่ทำเป็นตัวอย่างอยู่ทุกวี่วัน หรือทำให้ลูกอีกต่างหาก

 

รวมถึงต้องไม่ให้ค่ากับคนโกง เพราะสังคมยุคนี้ให้ความสำคัญและยกย่องคนเก่ง คนรวย โดยไม่ได้สนใจว่าคนเก่ง หรือคนรวยเหล่านั้นใช้วิธีใดถึงรวย ตรงกันข้ามควรให้ค่ากับคนดีและความดี แม้มันอาจจะไม่เห็นผลเร็ว แต่มันยั่งยืนและทำให้มีความสุข

 

ในเมื่อเราไม่สามารถควบคุมเรื่องกลโกงทุกรูปแบบที่เป็นข่าวคราวอยู่บ่อยครั้ง ก็เป็นเรื่องที่คนเป็นพ่อแม่ต้องสร้างเกราะป้องกันที่เข้มแข็งภายในครอบครัว เพื่อสร้างภูมิต้านทานชีวิตที่ดีให้กับลูกให้รู้เท่าทัน และไม่ตกไปในกับดักของการโกง สอนให้เขาเรียนรู้และเคารพกฎหมาย กฎกติกาในทุกสิ่งที่ต้องเผชิญ เพราะพฤติกรรมที่สั่งสมตั้งแต่เด็กก็จะติดตัวเขาไปจนโตจนกลายเป็นนิสัยด้วย