110
ปลูกฝังลูกให้มีจิตอาสา 

ปลูกฝังลูกให้มีจิตอาสา 

โพสต์เมื่อวันที่ : May 13, 2022

ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 นอกจากการพยายามประคับประคองจิตใจไม่ให้เครียด หรือเผชิญกับความทุกข์ที่ถาโถมเข้ามาทั้งการดูแลสุขภาพป้องกันตัวเองและคนในครอบครัวขั้นสูงสุด ไหนจะเรื่องภาวะเศรษฐกิจในครอบครัว

 

รวมถึงสภาพของพ่อแม่ที่ต้อง Work From Home ส่วนเด็ก ๆ ก็ต้อง Learn From Home ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะต้องอีกยาวนานแค่ไหน 

 

 

มีหลายครอบครัวที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากชนิดที่จะผ่านไปในแต่ละวันนั้นแสนยากเย็น ในขณะที่บางครอบครัวยังพอรับมือได้ จึงน่าจะถือโอกาสที่พ่อแม่จะให้ลูกของเราได้มองเห็นถึงโอกาสในการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมท่ามกลางความยากลำบากนี้ ขณะเดียวกันถ้าครอบครัวของเรายังพอที่จะรับมือได้บ้าง ก็น่าจะลองตั้งคำถามกับลูกว่า แล้วเราจะช่วยเหลือคนอื่นที่หนักหนากว่าเราได้อย่างไร เราสามารถทำประโยชน์ให้ผู้อื่นผ่านสถานการณ์โควิด-19 ได้แบบไหน และการลงมือทำเพื่อผู้อื่นก็จะส่งผลต่อตัวเด็กที่จะเติบโตไปในอนาคตด้วย

เริ่มจากพ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดี เริ่มตั้งคำถาม กระตุ้นให้ลูกคิดว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง การแบ่งปันในยามทุกข์ยากจะช่วยอะไร ถ้าเราคือคนที่กำลังประสบปัญหาหนักหนาสาหัสและต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น เราจะทำอย่างไร และในเมื่อเรามีกำลังพอ แล้วเราควรจะช่วยเหลือหรือแบ่งปันผู้อื่นหรือไม่ อย่างไร ?

สร้างโอกาสให้ลูกเรียนรู้เรื่องจิตอาสา

 

❤︎ 1. เริ่มจากฝึกความคิด ❤︎

ถือโอกาสช่วงเวลาที่ต้องเก็บตัวอยู่บ้านในการมอบความรับผิดชอบให้ลูกได้ทำอะไรด้วยตัวเอง พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักบทบาทของตัวเอง ให้ลูกได้เรียนรู้ว่าสมาชิกทุกคนในบ้านมีหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกัน และฝึกให้ลูกคิดถึงผู้อื่นจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ชวนพูดคุยสม่ำเสมอ ตั้งคำถาม ฝึกสังเกต คิดวิเคราะห์ และชวนให้คิดถึงคนที่ลำบากกว่าเรา ก่อนจะชวนคิดต่อไปว่าแล้วเราจะสามารถช่วยอะไรผู้อื่นได้

 

❤︎ 2. สอนให้ลูกคิดถึงผู้อื่น ❤︎

การที่ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเองจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่การช่วยเหลือผู้อื่น พ่อแม่อาจยกสถานการณ์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ลูกฟัง ให้ดูจากภาพข่าวก็ได้ ชวนลูกพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วลองตั้งคำถามโดยดูวัยของลูก แล้วถามว่ารู้สึกอย่างไร จากนั้นลองโยนคำถามต่อว่า แล้วเราจะสามารถช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนเหล่านี้ได้อย่างไร ปล่อยให้ลูกได้ฝึกคิด แสดงความคิดเห็น และชวนลูกต่อยอดด้วยความคิด โดยการตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง ฝึกให้เขาคิดด้วยตนเองและคิดถึงผู้อื่น

 

โดยพ่อแม่อาจช่วยแนะนำรูปแบบการช่วยเหลือแบ่งปันว่าถ้าไม่ได้แบบนี้เป็นอีกแบบได้ไหม อาจจะเริ่มจากคนใกล้ตัวของลูกก่อน เช่น เพื่อนของลูก และเริ่มต้นจากการช่วยเหลือหรือแบ่งปันจากสิ่งที่ลูกสามารถทำได้ด้วย โดยอาจจะไม่ใช่คิดถึงการช่วยเหลือเรื่องเงินทองอย่างเดียว แต่เป็นรูปแบบการแบ่งปันในเรื่องอื่น ๆ ที่เขาสามารถลงมือหรือลงเรี่ยวแรงด้วยก็ได้

❤︎ 3. ชวนให้ลงมือทำ ❤︎

สิ่งสำคัญอย่าฝึกให้ลูกคิดอย่างเดียว ต้องชวนลูกปฏิบัติจริง บอกลูกว่ามีช่องทางช่วยเหลือมากมาย เราจะช่วยเหลือคนอื่นด้วยวิธีใดได้บ้างโดยเราก็ต้องปลอดภัยด้วย และชวนลูกลงมือทำ อาจจะหยิบยกเอาความช่วยเหลือใกล้ตัวกับเขาด้วยก็ได้ 

 

การให้ลูกได้เรียนรู้จักการเป็น “ผู้ให้” เป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกเรื่องการมีจิตอาสา อาจเริ่มจากชวนเด็กไปบริจาคสิ่งของหรือทำกิจกรรมอาสา เพื่อให้เขาได้มีโอกาสซึมซับความเป็นจิตอาสาโดยตรงอันจะส่งผลให้เขาปฏิบัติตนด้วยจิตอาสาและจิตสาธารณะตามความเคยชิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเขาในภายภาคหน้า

 

❤︎ 4. ฝึกจากในบ้านพัฒนาสู่สังคม ❤︎

การพัฒนาจิตใจที่จะแบ่งปันไปสู่ผู้อื่นสามารถทำได้ ถ้าได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เล็กอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นการพัฒนาจิตใจของตัวเองด้วย พ่อแม่ควรชี้ให้ลูกเห็นว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นอย่างไร คนที่ได้รับการช่วยเหลือจะมีความสุขอย่างไร เพื่อให้เขาได้เห็นเป็นรูปธรรมว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเกิดผลดีต่อผู้อื่นและสังคมอย่างไร

 

ถ้าครอบครัวนำเอาสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียนร่วมกันในครอบครัว เท่ากับเป็นการปลูกฝังเรื่องจิตอาสาให้กับลูกตั้งแต่เล็ก ที่สำคัญ ควรบอกเขาด้วยว่าจำนวนเงินที่น้อย แต่เมื่อรวบรวมกันมีคนจำนวนมาก ก็จะทำให้มีเงินจำนวนมากขึ้น และสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้เช่นกัน ทำให้เขาเรียนรู้ว่าจำนวนเงินยังไม่สำคัญเท่ากับจิตใจที่คิดจะ “ให้”  

 

 

การสอนให้ลูกรู้จักการให้ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รวมไปถึงการสอนให้รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจากข่าวผู้ประสบเหตุจากสถานการณ์จริง อาจจะชี้ให้เห็นถึงผู้คนที่อาสาสมัครไปช่วยเหลือผู้อื่น เขาช่วยเหลือผู้อื่นชนิดที่ไม่หวังผลตอบแทน พ่อแม่ควรจะยกย่องคนเหล่านั้นให้ลูกฟังอย่างสม่ำเสมอ  

 

ยิ่งยุคนี้เด็ก ๆ มีแนวโน้มเติบโตขึ้นไปท่ามกลางการมีตัวเองเป็นศูนย์กลางมากเท่าไร ผู้ใหญ่ยุคนี้ยิ่งต้องให้ความสำคัญและใส่ใจกับเรื่องการส่งเสริมให้เด็กมีจิตอาสาเพิ่มมากขึ้น

 

เพราะจะทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกดีกับตัวเอง มีความสุขที่ได้เรียนรู้จักการให้ และยังได้เกิดความภาคภูมิใจว่าเขาเป็นเด็กที่มีความสามารถ มีศักยภาพ และมีคุณค่า