การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“คุณหมอคะ ลูกติดดูดนิ้วมากเลยค่ะ ลูกเป็นอะไรไหมคะ” คุณแม่ท่านหนึ่ง
นี่เป็นคำถามที่คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกในวัยเด็กเล็กจำนวนไม่น้อยสงสัย โดยเฉพาะหากลูกดูดนิ้วแทบจะตลอดเวลาจนทำให้บางคนมีผิวหนังบริเวณนิ้วมือเปื่อยและเกิดแผลได้ หลายคนสงสัยว่าลูกดูดนิ้วเพราะฟันขึ้น เหงือกอักเสบ หรือมีแผลในช่องปากช่องคอหรือไม่ หลายคนมีความกังวลว่า การดูดนิ้วจะนำมาซึ่งอาการท้องเสียและติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร วันนี้มาทำความเข้าใจกันครับ
ทารกทุกคนมีสัญชาตญาณ (รีเฟล็กซ์ดั้งเดิม; Primitive Reflex) ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิดรวมถึง 2 สัญชาตญาณที่ทำให้มนุษย์รอดชีวิต นั่นก็คือ สัญชาตญาณการดูด (Sucking Reflex) และสัญชาตญาณการหันหา (Rooting Reflex) เมื่อมีสิ่งกระตุ้นบริเวณมุมปาก ทำให้ทารกพร้อมที่จะหันหาและดูดน้ำนมจากเต้านมมารดาได้ตั้งแต่แรกเกิด ดังนั้นทุกอย่างที่เข้าปากเด็กทารก เด็กก็จะดูดไปตามสัญชาตญาณ และเมื่อ "นิ้วมือ" และ "กำปั้น" เป็นอวัยวะแรก ๆ ที่เด็กค้นพบด้วยตัวเอง
การดูดนิ้วจึงเป็นเรื่องปกติในเด็กเล็ก
นอกจากนั้น ‘การดูดนิ้ว’ ยังสามารถสร้าง ‘ความผ่อนคลาย’ และ ‘เพลิดเพลิน’ อีกด้วย เด็กหลายคนจึงดูดนิ้วเพื่อกล่อมตัวเองให้นอนหลับตอนเริ่มโตขึ้นมาระยะหนึ่ง หรือแม้กระทั่งตอนช่วงที่ตัวลูกรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่สบายตัวก็อาจจะดูดนิ้วหนักขึ้นได้ โดยเด็กจะเริ่มหยุดดูดนิ้วเมื่ออายุหลัง 6-7 เดือนเป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาในการเริ่มอาหารตามวัย และพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่แข็งแรงขึ้นทำให้เด็กแบเบาะเริ่มเคลื่อนที่ไปสำรวจสิ่งของที่อยู่รอบตัวมากขึ้น
หลายคนเปลี่ยนจากการดูดนิ้วเป็นการเอาสิ่งของต่าง ๆ เข้าปากแทน (หลายคนเอาทุกอย่างเข้าปาก ยกเว้น อาหาร เสียด้วยซ้ำ พ่อแม่ก็อาจจะรู้สึกกลุ้มใจกันไป) พบว่าบางคนอาจติดการดูดนิ้วไปจนอายุ 2-4 ขวบได้ บางคนเลิกแล้ว บางครั้งก็กลับมาดูดได้อีก เช่นเดียวกับพฤติกรรมอย่าง การดึงผม การกัดเล็บ การแกะหนังเท้า ของเด็กโตและผู้ใหญ่ มันเพลิดเพลิน โดยเฉพาะตอนเครียด ๆ หรือเจ็บป่วย เด็กโตและผู้ใหญ่บางคนอาจพบพฤติกรรมการดูดนิ้วกลับมาได้มากขึ้น พบว่าเด็กที่ถูกทอดทิ้ง และได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมไม่ได้รับการกระตุ้นและมีปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสม เด็กกลุ่มนี้ก็จะมีพฤติกรรมดูดนิ้วที่มากกว่าปกติได้
โดยทั่วไป ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องจัดการกับพฤติกรรมการดูดนิ้วของเด็กโดยเฉพาะก่อนวัยที่ฟันแท้ขึ้น ยกเว้น
♥︎ 1. การดูดนิ้วทำให้เกิดแผลเปื่อยที่ผิวหนัง
♥︎ 2. พฤติกรรมการดูดนิ้วหลังอายุ 5 ขวบที่เป็นวัยที่จะเริ่มมี ‘ฟันแท้’ ขึ้น เนื่องจากการดูดนิ้วในช่วงที่ฟันแท้ขึ้นอาจส่งผลต่อเพดานปากและการเรียงตัวของฟันแท้จนอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพของฟันและช่องปากได้ ผู้เชี่ยวชาญบางคนอาจแนะนำให้เริ่มดูแลการดูดนิ้วหากยังไม่เลิกหลังอายุ 3-5 ปี
หากไม่มีปัญหาดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่สามารถปล่อยให้เป็นเรื่องของธรรมชาติได้ เพราะพอถึงช่วงอายุหนึ่ง เด็กจะเลิกดูดนิ้วด้วยตนเอง เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเอื้อให้การเลิกดูดนิ้วเกิดขึ้นเร็วขึ้นได้ด้วยการไม่ทัก ไม่ดุ ไม่ลงโทษ สังเกตสิ่งกระตุ้นและแก้ไข และหากิจกรรมให้ลูกได้ทำ อย่าลืมการดูแลความสะอาดของมือและพื้นผิว-สิ่งของที่ลูกเอามือไปสัมผัสด้วย เพราะถ้าอาจเป็นสารเหตุทำให้เกิดโรคท้องเสียได้ โดยพบว่าการเอานิ้วเข้าปากก็อาจเป็นหนึ่งในกลไกการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายตามหลักของ Hygiene Hypothesis ด้วย