เลี้ยงลูกให้ไม่ติดความสมบูรณ์แบบ
ยอมรับได้กับความไม่สมบูรณ์แบบ เป็นการสร้าง “Growth mindset” ให้กับลูก
วันแรกที่มองเห็นเส้นสีแดง 2 เส้นอยู่บนแผ่นตรวจการตั้งครรภ์ 9 เดือนที่อุ้มท้อง ขนาดของท้องที่เพิ่มขึ้น แรงถีบจากขาน้อย ๆ ที่อยู่ในพุงของเรา เสียงร้องเสียงแรกที่ดังก้องในห้องคลอด (หรือห้องผ่าตัด) สัมผัสแรกของผิวหนังอันบอบบาง ความอุ่นของเนื้อตัวของลูก กลิ่นของเด็กอ่อนที่แสนเสพติดสำหรับพ่อแม่อย่างเรา
คุณแม่ยังจำความรู้สึกเหล่านี้ได้ใช่ไหมครับ ความรู้สึกที่ทำให้เรารู้ตัวว่า “เราไม่ได้อยู่เพียงลำพังในโลกนี้อีกต่อไปแล้ว” นับแต่นี้เป็นต้นไป ครอบครัวของเราจะมีเจ้าสิ่งมีชีวิตน้อย ๆ ที่หน้าตาละม้ายคล้ายเราและคู่ชีวิตของเรา และต่อมาเราจะได้สัมผัสกับแววตา สีหน้า คำพูดคำจา วิธีการมองโลกและวิถีการดำเนินชีวิตที่มีบางส่วนของเราอยู่ในนั้นจนเราประหลาดใจ เจ้าตัวน้อยที่คงเปรียบเสมือน ‘หลักฐาน’ ของการมีชีวิตอยู่ของเราในวันที่เราได้ลาจากโลกใบนี้ไปแล้ว
..."พ่อแม่จึงทุ่มเทกายและใจในการเลี้ยงดูลูกอย่างดีที่สุด พ่อแม่อย่างเราจึงพยายามที่จะเป็น 'พ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ'"...
ตั้งแต่เกิด แม่พยายามที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้มากและนานที่สุดเท่าที่ทำได้ แม่ตระเตรียมสต็อกนมไว้เผื่อวันที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน เราเริ่มให้อาหารตามวัยกับลูกเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เราพยายามเลี้ยงลูกให้ถูกต้องตามหลักการทั้งการกิน-นอน-ขับถ่าย-การใช้ชีวิต และการกระตุ้นพัฒนาการในด้านต่าง ๆ อย่างเต็มที่เท่าที่เราจะทำได้ การฝึกให้ลูกนอนยาว การปรับและรับมือกับพฤติกรรมตามวัย เพราะเรารู้ดีว่า การเลี้ยงดูเด็กสักคนให้ได้ดีนั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย และต้องใช้ความทุ่มเททั้งร่างกาย จิตใจ และเวลาอย่างมาก
ในขณะเดียวกัน ชีวิตของพ่อแม่ก็ไม่ได้เป็นเพียง “พ่อแม่” เท่านั้น เรายังสวมบทบาทอีกมากมายทั้งบทบาทที่บ้าน อย่างการดูแลจัดการบ้านให้เรียบร้อย งานบ้านอย่างการทำความสะอาดบ้าน เสื้อผ้า อาหาร จานชาม (+/- สัตว์เลี้ยง) และอีกมากมาย บทบาทความเป็น “ภรรยา” ความเป็น “ลูก” เป็น “เพื่อน” บทบาทในที่ทำงานอย่างการเป็น “เจ้านาย” “หัวหน้างาน” “เพื่อนร่วมงาน” รวมถึงความเป็น “ลูกน้อง” ทุกบทบาทมีหน้าที่ความรับผิดชอบ และเป้าหมาย โดยเราต้องการทำทุกอย่างให้ดีที่สุดโดยเฉพาะเรื่องของลูก
“ความสมบูรณ์แบบ” ของพ่อแม่แต่ละคนนั้นย่อมมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ “เป้าหมาย” ที่วางไว้ในใจ และเมื่อมีเป้าหมายในการเลี้ยงลูก เราจึงความคาดหวัง
เราคาดหวังที่จะเป็นพ่อแม่ที่มีสติ ไม่ตะคอก ไม่ตีลูก แต่ในวันที่เราเหนื่อยล้าเกินไป เราจึงหลุดเสียงดังหรือตีลูกไป เราคาดหวังที่จะเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กน่ารัก เรียบร้อย ว่านอนสอนง่าย แต่ลูกก็ดูซนและไม่เชื่อฟังเสียเหลือเกิน เราคาดหวังที่จะฝึกให้ลูกกินได้ครบถ้วนมีโภชนาการที่ดี หลายคนทุ่มเททำอาหารที่ดีที่สุดให้ลูก แต่ลูกก็ไม่กิน และอีกหลากหลายความคาดหวังที่เราหวังไว้ สมหวังบ้าง ผิดหวังบ้าง โดยเมื่อสิ่งที่เป็นจริงไม่ได้มาตรฐานตามสิ่งที่คาดหวัง พ่อแม่หลายคนจึงเลี้ยงลูกทุกวันไปด้วย ‘ความรู้สึกผิด’ ‘ความเครียด’ และ ‘ความกดดัน’ จนอาจถึงจุดที่เราเองเริ่มสงสัยใน ‘ความสามารถในการเป็นพ่อแม่’ ของเรา ทั้งที่ความเป็นจริงก็คือ ความสมบูรณ์แบบนั้นไม่เคยมีอยู่จริง
ความพยายามที่จะเป็น “พ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ” เป็นการสร้างแรงกดดันและความรู้สึกผิดที่มากเกินความจำเป็นให้กับพ่อแม่อย่างเรา ไม่มีพ่อแม่คนใดในโลกใบนี้ที่สมบูรณ์แบบ หากแต่มีเพียง “พ่อแม่ธรรมดาที่ดีพอและพอดี” สำรับลูกของเขาเท่านั้น แล้วก็ไม่ผิดสักนิดเดียวที่เราจะรู้สึกเหนื่อยเมื่อร่างกายและจิตใจมันอ่อนล้าจากภาระหน้าที่ที่ต้องใช้พลังงานและเวลาทมันในแต่ละวัน
แล้วก็ไม่ผิดที่จะรู้สึกผิดเมื่อเกิดข้อผิดพลาดในการเลี้ยงลูกในแต่ละวัน เพราะเราใส่ใจกับการเลี้ยงลูก เราจึงใส่ใจในทุกรายละเอียดและเฝ้าประเมินตัวเองในบทบาทตวามเป็นพ่อแม่ของเรา รู้สึกผิดนิด ๆ ก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะขับเคลื่อนให้เราพัฒนาตัวเองและแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น
เพียงเข้าใจว่า พ่อแม่ก็เป็นแค่ปุถุชนคนธรรมดาที่สามารถทำผิดทำพลาดได้ จงให้อภัยตัวเอง จงดูแลตัวเอง กินให้ดี นอนให้พอ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ เพื่อให้มีแรงกายและใจตื่นขึ้นมาในแต่ละวันที่จะสวมบทบาทของเรารวมถึงการเป็นพ่อแม่ที่ดีสำหรับลูกของเรา พ่อแม่ปกติที่ไม่สมบูรณ์แบบ