67
เมื่อลูกเครียดจากการเรียนออนไลน์

เมื่อลูกเครียดจากการเรียนออนไลน์

โพสต์เมื่อวันที่ : May 28, 2022

...“สงสารลูกมากต้องเรียนออนไลน์ตลอด”...

...“ลูกบ่นว่าเรียนออนไลน์ทำให้เรียนหนักมากขึ้น ไม่เข้าใจบทเรียน”...

 

พ่อแม่จำนวนไม่น้อยได้ยินลูกบ่นเรื่องเรียนออนไลน์ทำนองนี้บ่อย ๆ หลังจากที่สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องหันมาใช้นโยบายการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างนี้ไปอีกถึงเมื่อไหร่ และสิ่งที่เด็กส่วนใหญ่มักสะท้อนก็คือเรียนออนไลน์เครียดกว่าเรียนที่ห้องเรียน เพราะ...

 

เรียนไม่ทัน ‣ เด็กจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีสมาธิในการเรียนและขาดแรงจูงใจในการเรียน เพราะเมื่อต้องเรียนอยู่ที่บ้าน ก็จะคุ้นชินกับบรรยากาศสบาย ๆ ไม่ได้ซีเรียสเหมือนไปเรียนที่โรงเรียน ที่มีบรรยากาศของการเรียนหนังสือ มีคุณครูอยู่หน้าชั้นเรียน และมีเพื่อนๆ นั่งเรียนหนังสือ เมื่อต้องมาเรียนที่บ้านจึงมักว่อกแว่ก แอบเอามือถือมาเล่นระหว่างเรียน โอกาสที่จะเรียนไม่เข้าใจ หรือเรียนไม่ทันแล้วไม่มีแรงจูงใจที่กระตุ้นให้อยากสอบถามครูผู้สอน

 

 

ภาระงานมากขึ้น ‣ เมื่อต้องเรียนออนไลน์ ครูผู้สอนก็มักเป็นกังวลกลัวลูกศิษย์จะไม่เข้าใจในบทเรียน จึงมักสั่งงานเพื่อให้เด็กได้ทบทวนบทเรียน ภาระงานต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายก็มักจะใช้เวลามากขึ้น เพราะจำเป็นที่เด็กต้องค้นคว้าและทำการบ้านผ่านออนไลน์ อีกทั้งถ้ามีงานทุกวิชาก็ยิ่งทำให้เด็กต้องพยายามทำงานหลายชิ้นให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด

 

ไม่มีตัวช่วย ‣ เหตุผลหนึ่งของเด็กที่อยากไปโรงเรียนก็คือได้เจอเพื่อน ได้สนุกสนานกับเพื่อน ได้มีสังคม เวลาเรียนไม่เข้าใจเนื้อหาที่เรียนก็จะถามเพื่อน หรือเวลารู้สึกไม่สบายใจก็มักจะพูดคุยกับเพื่อน พอเป็นการเรียนออนไลน์ ก็จะไม่สามารถมีตัวช่วยเรื่องเหล่านี้ได้

ผลกระทบของการเรียนออนไลน์ยังทำให้เด็กหลายคนรู้สึกโดดเดี่ยว เหงา ฯลฯ ขณะเดียวกันพ่อแม่หลายบ้านก็รู้สึกเครียดมากขึ้น  สอดคล้องกับงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนเรื่องผลกระทบของการเรียนออนไลน์ ในผู้ปกครองชาวอเมริกัน 405 คน มีลูกอย่างน้อย 1 คนอายุต่ำกว่า 12 ปี และครึ่งหนึ่งของผู้ปกครองที่มีลูกอายุระหว่าง 2-5 ปี พบว่า 40% ของผู้ปกครองรู้สึกเครียดจากการที่ลูกต้องเรียนออนไลน์ โดย 25% ให้ข้อมูลว่า บ้านมีอุปกรณ์พร้อมต่อหรือสภาพไม่การเรียนออนไลน์

 

ไม่ใช่แค่ผู้ปกครองเท่านั้นที่เครียด เด็กหลายคนก็เครียด ผลสำรวจของ Washington Post จากผู้ปกครองที่มีลูกต้องเรียนออนไลน์ 60 คน พบว่าลูกตัวเองเครียดมากขึ้น ก้าวร้าวมากขึ้น บ้างก็เบื่ออาหาร หรือมีปัญหาเรื่องสุขภาพ

สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถช่วยเหลือลูกได้ 

❤︎ สังเกตความเปลี่ยนแปลง ❤︎

ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงลูก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพฤติกรรมการกิน การนอน การปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว สิ่งเหล่านี้เป็นอาการภายนอกที่สามารถพบเห็นได้ และเมื่อสังเกตแล้วรีบหาทางแก้ไข ก็จะทำให้มีโอกาสรับมือได้อย่างทันท่วงที แต่หากปล่อยอาการเหล่านี้ทิ้งไว้ หรือไม่ตระหนักต่อปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ โอกาสที่จะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นก็เป็นได้

 

❤︎ หากิจกรรมผ่อนคลาย ❤︎

การทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวจะช่วยให้ลูกรู้สึกดีขึ้น อาจให้ลูกเป็นคนคิดกิจกรรมโดยเริ่มจากกิจกรรมที่ลูกชอบ แล้วค่อยหาทางผ่อนคลายให้ลูก ใช้เวลาร่วมกัน แล้วค่อยๆ ให้ลูกได้ระบายความรู้สึก โดยที่พ่อแม่ทำหน้าที่รับฟัง ปลอบโยน และแสดงความพยายามหาทางช่วยเหลือ

❤︎ ส่งพลังบวกให้กำลังใจ ❤︎

คำพูดด้านบวกและกำลังใจที่ดีสำคัญเสมอยามที่สภาวะจิตใจอ่อนแอ พ่อแม่ต้องพยายามใช้คำพูดด้านบวก ชี้ให้ลูกเห็นว่าปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เด็กเผชิญกันถ้วนทั่ว ไม่ใช่ปัญหาของเขาคนเดียว และชี้ให้ลูกเห็นถึงคุณค่าของตัวเอง พร้อมทั้งบอกให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่พร้อมจะอยู่เคียงข้างเขาเสมอ 

 

หากครอบครัวมีความเข้าใจ ลูกก็จะลดความกดดันและความเครียดลงได้