การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
...“อยากให้ลูกอารมณ์ดีบ้าง หน้าตาบูดบึ้งทั้งวัน”...
...“ลูกเป็นเสือยิ้มยากไม่ค่อยมีเพื่อน”...
...“ลูกชอบเก็บตัวไม่ค่อยพูดจาอยู่กับมือถือทั้งวัน”...
ใครที่เจอะเจอปัญหานี้ก็คงไม่สบายใจ เพราะคนเป็นพ่อแม่ก็อยากให้ลูกเป็นเด็กสดใสร่าเริง อารมณ์ดี โดยเฉพาะเวลาที่อยู่ในครอบครัว แต่ถ้าตรงกันข้าม ลูกหงุดหงิดอารมณ์เสียบ่อย ๆ เมื่ออยู่ในครอบครัว พ่อแม่ก็ย่อมทุกข์ใจเป็นธรรมดา
ท่ามกลางสถานการณ์สารพัดวิกฤตที่เกิดขึ้นรอบโลกและรอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ชีวิตของผู้คนต้องเผชิญสภาพปัญหารอบด้าน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สุขภาพ ฯลฯ เรียกว่ามาทีเดียวพร้อม ๆ กัน ไม่เว้นแม้แต่เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลโดยตรงต่อสภาวะจิตใจ
และนั่นหมายถึงต้องอยู่ที่ต้นทุนทักษะชีวิตของเด็กแต่ละคนด้วยว่าเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมแบบไหน ได้รับการเลี้ยงดูอย่างไร และได้รับการพัฒนาทักษะชิวิดที่สำคัญสำหรับสังคมยุคนี้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง EQ
EQ (Emotional Quotient) ความฉลาดทางอารมณ์ หมายถึง ความสามารถทางอารมณ์ที่ช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข เป็นเรื่องที่ต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งในยุคนี้
ดร.แดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Working with Emotional Intelligence” ได้จำแนกองค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์ไว้ 5 ประการดังนี้
☺︎ การตระหนักรู้อารมณ์ตนเอง (Self-Awareness) มีความสามารถที่จะรับรู้และเข้าใจความรู้สึกอารมณ์ และความต้องการของตนเอง มีความเชื่อมั่นในตนเอง
☺︎ การควบคุมอารมณ์ของตนเอง (Self-Regulation) มีความสามารถในการควบคุมหรือจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ มีความสามารถในการปรับตัวเมื่อต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง
☺︎ การสร้างแรงจูงใจให้แก่ตนเอง (Self-Motivation) มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จตามเป้าหมาย และมีความคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆ
☺︎ การเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น (Recognizing Emotions in Others) มีความสามารถในการเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น มีความเห็นอกเห็นใจ และมีทักษะที่จะปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม
☺︎ ทักษะทางสังคม (Social Skill) มีความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีทักษะการสื่อสารที่ดี สามารถปรับตัวร่วมกับผู้อื่น และบริหารความขัดแย้งได้ดี
ทั้ง 5 ข้อเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน แต่ดูเหมือนเรื่องนี้ยิ่งจำเป็นมากสำหรับเด็กยุคนี้ และแน่นอนว่าต้องเริ่มต้นจากพ่อแม่
❤︎ พ่อแม่ต้องมีความมั่นคงในอารมณ์ ❤︎
ต้องเข้าใจด้วยว่าลูกจะซึมซับพฤติกรรมและอารมณ์จากสิ่งที่เห็น ไม่ว่าพ่อแม่จะโกรธหรือไม่พอใจต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง หรือการกระทำของลูก ก็ต้องพยายามเตือนตัวเองให้ควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้
❤︎ พ่อแม่ต้องเข้าใจพื้นฐานอารมณ์ของลูก และเข้าใจลูก ❤︎
เพราะเมื่อเกิดปัญหาก็จะได้เตรียมรับมือและจัดการกับพฤติกรรมต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ควรหาโอกาสรับฟัง พูดคุยกับลูกด้วยความนุ่มนวล จะช่วยทำให้ลูกรับฟังพ่อแม่ด้วยเช่นกัน
❤︎ ความรัก ความเอาใจใส่ สร้างเกราะคุ้มภัยให้ลูก ❤︎
เด็กทุกวัยยังต้องการความรัก ความเอาใจใส่ ความอบอุ่นจากพ่อแม่เสมอ
ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตดี มีความสุขสามารถเผชิญกับความทุกข์ ความกดดัน และความอึดอัดคับข้องใจต่างๆ เพราะสามารถควบคุมตนเองได้ และพยายามหาทางแก้ไขปัญหา สามารถปรับตัวและมีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลรอบข้าง
จริงอยู่ที่ EQ มีความสำคัญและจำเป็นมากสำหรับเด็กทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่เด็กยุคนี้ที่เกิดมาในยุคดิจิทัล มีความจำเป็นที่จะต้องมีมากกว่าปกติ เพราะพวกเขาเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในทุกระดับที่ไม่เอื้อให้พวกเขาเติบโตขึ้นไปแบบมีสุขภาพจิตที่ดีได้อย่างสมวัย อยากให้ลูกเติบโตแบบไหน พ่อแม่สร้างได้ !