144
รู้ได้อย่างไรว่าลูกถูกทำร้าย

รู้ได้อย่างไรว่าลูกถูกทำร้าย

โพสต์เมื่อวันที่ : June 16, 2022

“พ่อแม่สังเกตว่าลูกมีบาดแผลตามร่างกาย แต่ลูกกลับบอกพ่อแม่ว่าไม่มีอะไร”  คุณเป็นพ่อแม่ที่มีลูกกำลังเข้าสู่วัยรุ่นแล้วเคยประสบปัญหานี้หรือเปล่า ? การที่เด็กรังแกกันหรือทำร้ายกันมีหลายรูปแบบ เช่น...



‣ การชกต่อยทำร้ายร่างกาย (ทางร่างกาย)

‣ การล้อเลียนทำให้อับอาย (ทางวาจา

‣ การข่มขู่ ฝืนใจ หรือบังคับ (ทางจิตใจ)

‣ การส่งข้อความข่มขู่ หรือกลั่นแกล้งบนสื่อสังคมออนไลน์ (ทางออนไลน์

 

ไม่ว่าจะเป็นการถูกรังแกหรือถูกทำร้ายจากใคร เป็นเรื่องที่คนเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องรู้เท่าทัน และสังเกตถึงสัญญาณเตือนบางประการที่บ่งบอกว่าลูกถูกทำร้าย

 

✚ บาดแผลตามร่างกาย ✚

บาดแผลตามร่างกายเป็นสิ่งที่เห็นชัดเจน บางครั้งรอยแผลที่เกิดจากการถูกทำร้ายอาจจะเป็นรอยช้ำนิดหน่อย แต่เป็นรอยฟกช้ำที่ดูผิดปกติ เช่น บวมตามแขนขา ตาช้ำ รอยแผลอาจไม่ใหญ่ แต่ขอให้ดูร่วมกับอาการทางกายอื่น ๆ ด้วย

 

✚ พฤติกรรมแปลกไป ✚

จากที่เคยเป็นเด็กร่าเริง ช่างพูด และดูเงียบไป หรือมีพฤติกรรมที่ผิดแปลกจากเดิม ตกใจง่าย ไม่อยากไปโรงเรียน หรืออาจเกิดพฤติกรรมที่ควบคุมไม่ได้ เช่น สะดุ้งจากฝันร้าย หรือเหม่อลอยบ่อย ๆ ขณะที่เด็กบางคนที่ถูกทำร้ายเลือกที่จะเงียบมากกว่าโวยวาย เพราะเด็กกลัวว่าจะถูกทำร้ายมากขึ้น จึงไม่อยากบอกพ่อแม่ หรืออาจมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมการกินการนอนที่เปลี่ยนไป

✚ อารมณ์ฉุนเฉียว ✚

การถูกทำร้ายร่างกายนั้นส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและอารมณ์ของเด็ก ไม่เฉพาะกับเด็ก ๆ ที่ร่าเริงแล้วเปลี่ยนเป็นซึมเศร้าลงเท่านั้น แต่ยังอาจจะทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมอื่น ๆ เช่น โกรธโมโหง่าย ฉุนเฉียวง่าย ที่อาจจะเกิดจากความคับข้องใจที่ต้องการระบาย แต่บางคนแสดงออกด้วยความก้าวร้าว ต่อต้าน 

 

✚ ขาดความมั่นใจ ✚

ถ้าลูกเคยทำอะไรได้ แต่กลับทำไม่ได้หรือไม่กล้าทำ พ่อแม่อาจจะต้องเอะใจสักนิดว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาหรือไม่ หรือ ลูกเคยทำการบ้าน แต่จู่ ๆ ก็ไม่สนใจทำการบ้าน และผลการเรียนตกต่ำ ก็อาจต้องสอบถามและค่อย ๆ พูดคุยกับลูก 

 

แล้วพ่อแม่ควรทำอย่างไร ?

❤︎ 1. ให้ความสนใจ ❤︎

เมื่อสังเกตแล้วพบว่าลูกอาจถูกทำร้ายร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายจากครู เพื่อน หรือแม้แต่รุ่นพี่ ฯลฯ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือการสอบถามโดยไม่ตัดสิน อย่ารีบตำหนิหรือกล่าวโทษลูกหรือสันนิษฐานว่าลูกอาจไปทำอะไรให้อีกฝ่ายหนึ่งก่อนที่เป็นการยั่วยุให้เขามาทำร้ายเอา แต่ควรฟังรายละเอียดจากลูกว่า การทำร้ายนั้นเกิดขึ้นอย่างไร จากนั้นให้เก็บรายละเอียดจากสิ่งที่ลูกเล่า ใครเป็นผู้กระทำ กระทำอย่างไร ที่ไหน กี่ครั้งแล้ว หากเด็กกลัว หรือตกใจมากจนไม่สามารถเล่าเหตุการณ์ได้ อาจต้องให้เวลา หรืออาจใช้ตัวช่วย เช่น ผู้ใกล้ชิดเด็ก จิตแพทย์ ฯลฯ

 

❤︎ 2. แสดงความห่วงใย ❤︎

การพูดคุยด้วยความเห็นอกเห็นใจ ห่วงใย มีความจำเป็นที่จะทำให้ลูกไว้วางใจและเล่าให้พ่อแม่ฟัง จากนั้นจึงควรแนะนำว่าเขาควรทำอย่างไร เช่น พาไปทำบาดแผล การพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ฯลฯ  

❤︎ 3. อย่าเอาคืน ❤︎

ประเภทแรงมาแรงไป เขาทำร้ายลูกแบบนี้ยอมได้อย่างไร แล้วบอกให้ลูกไปเอาคืน หรือพ่อแม่จะไปเอาคืนเอง ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้ลูกเรียนรู้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ยอมไม่ได้ แต่ควรเปลี่ยนมาพูดคุยอย่างมีเหตุผล หาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร และจะมีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร วิธีหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกควรทำอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว แต่ถ้าสนับสนุนการตอบโต้ด้วยการเอาคืนก็จะไม่ทำให้ปัญหายุติลงและอาจส่งผลกระทบทำให้เรื่องบานปลาย

 

❤︎ 4. สอนวิธีรับมือ ❤︎

สอนวิธีการสร้างความปลอดภัยให้ลูก ให้เขารู้วิธีขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่เมื่อเขารู้สึกว่าถูกคุกคามหรือทำร้าย พูดคุยกับลูกถึงบุคคลที่เขาสามารถขอความช่วยเหลือได้ 

 

การตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในวัยเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องเล็ก ยิ่งถ้าเป็นวัยรุ่นสำหรับเขาเป็นเรื่องใหญ่ ผู้ใหญ่อย่าคิดว่าเดี๋ยวเขาก็คงลืมได้ แต่แท้จริงแล้วความรุนแรงนั้นจะแฝงอยู่ในตัวเขา และถ้าไม่ได้รับการแก้ไข พวกเขาอาจจะเลือกใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาอื่น ๆ ต่อไป