ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
ช่วงที่ผ่านมาทั่วโลกเผชิญสถานการณ์ภัยพิบัติและภัยธรรมชาติอย่างหนัก รวมถึงประเทศไทยที่เผชิญทั้งภัยธรรมชาติและภัยจากน้ำมือมนุษย์ที่รุกรานธรรมชาติ ทำให้เราต้องประสบปัญหาหนักบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำท่วม พายุ ไฟป่า ฝุ่นพิษ PM2.5 ฯลฯ
และทุกครั้งที่เผชิญกับสถานการณ์เหล่านี้ เคยตั้งคำถามว่าเราเรียนรู้อะไรที่นอกเหนือจากการทำอย่างไรเพื่อให้ตัวเองและครอบครัวปลอดภัยจากภัยนั้น ๆ หรือไม่ หรือเราได้หยิบยกกรณีเหล่านั้นมาเป็นบทเรียนฝึกทักษะชีวิตร่วมกับลูกหรือไม่ ?
เริ่มจากคำถามถึงภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัตินั้น ๆ ว่าลูกรู้หรือไม่ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เราต้องปฏิบัติตัวอย่างไรให้ปลอดภัย และจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ไหม อย่างไร เพื่อกระตุ้นให้ลูกเห็นภาพและคิดตาม
แต่นอกเหนือจากนั้น ควรตั้งคำถามเพิ่มว่าลูกรู้สึกอย่างไรจากภาพความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยต่าง ๆ เป็นการเรียนรู้ให้เขารู้จักอารมณ์ของตนเอง เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และให้เขาจินตนาการว่าถ้าเขาต้องประสบเหตุการณ์เช่นนี้บ้างจะทำอย่างไร
จากนั้นถ้าตัวเองไม่ได้ประสบความเดือดร้อนโดยตรง พ่อแม่ก็ฝึกเรื่องจิตอาสาให้ลูกได้ว่า เราจะช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนเหล่านี้ได้บ้างไหม ได้อย่างไร ปล่อยให้ลูกได้ฝึกคิด แสดงความคิดเห็นให้ลูกคิดหาทางช่วยเหลือไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยพ่อแม่อาจช่วยแนะนำว่าถ้าไม่ได้แบบนี้เป็นอีกแบบได้ไหมโดยชวนลูกปฏิบัติจริงผ่านช่องทางช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนมากมาย เช่น แบ่งปันเงินออมร่วมบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน หรือช่วยเหลือตามช่องทางที่สามารถทำได้และเหมาะสมกับวัย
แล้วอย่าลืมถามว่า ลูกรู้สึกอย่างไร เพื่อสอนให้เขาได้เรียนรู้ถึงความสุขจากการ “ให้” เป็นการปลูกฝังเรื่องความมีน้ำใจและแบ่งปันให้กับผู้อื่น
พอทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ ควรสอนให้ลูกเชื่อมโยงความคิดด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนำไปสู่อะไร เพื่อให้เขาได้มองเห็นว่าในปัญหาหนึ่งปัญหา มันส่งผลกระทบไปสู่เรื่องอื่น ๆ ด้วย เป็นการฝึกให้เด็กมองปัญหาอย่างรอบด้าน และเรียนรู้ถึงสาเหตุของปัญหา เช่น กรณีน้ำท่วม หรือน้ำป่าไหลหลาก เกิดจากอะไรบ้าง ต้นไม้เกี่ยวข้องไหม การรุกล้ำพื้นที่ป่าเกี่ยวข้องไหม หมั่นตั้งคำถาม และให้ลูกมีส่วนร่วมด้วย เป็นการฝึกให้เขาได้เรียนรู้ว่าทุกเหตุการณ์มันมีที่มาที่ไป และคนก็เป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้เกิดภัยธรรมชาติในหลายๆ เรื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การสอนให้ลูกรักธรรมชาติ และช่วยกันปกป้องภัยธรรมชาติได้อย่างไรบ้าง
การนำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมาเป็นบทเรียนร่วมกันในครอบครัว จะช่วยให้ลูกเกิดการเรียนรู้และต่อยอดความคิดได้มากมาย ที่สำคัญพ่อแม่สามารถสอดแทรกเรื่องที่ต้องการปลูกฝังลูกในเรื่องอื่น ๆ ได้ด้วยโดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “จิตอาสา” ที่เป็นการฝึกให้ลูกได้ซึมซับตั้งแต่เล็ก
พอลูกเข้าสู่วัยรุ่นจะทำให้เขาใช้พลังในทางสร้างสรรค์ ทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่อง Empathy ทักษะความสามารถในการเข้าใจคนอื่นถึงความคิด อารมณ์ หรือความรู้สึกของอีกฝ่ายโดยไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เป็นการเรียนรู้ใจเขาใจเรา ซึ่งเป็นการฝึกทักษะขั้นพื้นฐานในการนำไปสู่การคิดสิ่งดี ๆ หรือมี “จิตสาธารณะ” ที่คิดถึงการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
❤︎ 1. ฝึกตัวเองก่อน ❤︎
เริ่มจากฝึกให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเอง ถ้าเป็นเด็กเล็กก็ฝึกให้เขารับประทานอาหารเอง แต่งตัวเอง หรือสอนให้รู้จักทำความสะอาดร่างกายของตัวเอง ถ้าเป็นเด็กโตก็เพิ่มภารกิจให้เหมาะกับวัยที่เพิ่มมากขึ้น ให้รับผิดชอบตัวเองมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เขาพึ่งพาตัวเองได้ เกิดความภาคภูมิใจ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและรู้สึกดีกับตัวเอง
❤︎ 2. มอบหมายงานในบ้าน ❤︎
การที่ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเองจะเป็นพื้นฐานนำไปสู่การช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป การมอบหมายให้ลูกช่วยเหลืองานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยดูวัยของลูกเป็นหลัก เพื่อทำให้เขาเรียนรู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง และผู้อื่น ประเด็นสำคัญต้องทำให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ และพ่อแม่ก็ควรจะพูดให้เขาได้รับรู้ว่าเมื่อลูกมาช่วยเหลือแล้วทำให้พ่อแม่เบาแรงและรู้สึกดีได้แค่ไหน
❤︎ 3. ขยายไปสู่ชุมชน ❤︎
พ่อแม่ควรสอนให้เขารู้จักแบ่งปันตั้งแต่ในบ้าน และไม่ดูดายต่อสิ่งรอบข้าง เช่น เมื่อเห็นขยะอยู่หน้าบ้านหรือที่โรงเรียนก็ชวนลูกเก็บให้เป็นที่เป็นทาง รักษาสมบัติสาธารณะ ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
❤︎ 4. สร้างจิตอาสาสู่สังคม ❤︎
การพัฒนาจิตใจที่จะแบ่งปันไปสู่ผู้อื่นสามารถทำได้ ถ้าได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เล็กอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นการพัฒนาจิตใจของตัวเองด้วย พ่อแม่ควรชี้ให้ลูกเห็นว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นแค่ไหน คนที่ได้รับการช่วยเหลือจะมีความสุขอย่างไร เพื่อให้เขาได้เห็นเป็นรูปธรรมว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเกิดผลดีต่อผู้อื่นอย่างไร
สังคมไทยโดยรวมในอนาคตจะมีความเอื้ออาทรต่อกัน หากสมาชิกรุ่นเยาว์ของสังคมจะได้เรียนรู้การมองให้พ้นตนเองด้วยเสียตั้งแต่วันนี้ ต่อให้ต้องเผชิญปัญหาใหญ่แค่ไหน ก็จะยังมีด้านที่งดงามคงอยู่