122
คาถา “6 ใจ” ที่ให้ทำลูกไว้วางใจ 

คาถา “6 ใจ” ที่ให้ทำลูกไว้วางใจ 

โพสต์เมื่อวันที่ : June 23, 2022

ความไว้วางใจ (Trust) หมายถึง ความเชื่อมั่น ความเชื่อถือบุคคล ๆ หนึ่งที่มีต่อบุคคล หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าจะปฏิบัติกับบุคคลนั้นตามที่ได้คาดหวังหรือเชื่อมั่น ความไว้วางใจจะเพิ่มขึ้นเมื่อได้รับการสนองตอบหรือเป็นจริง และความไว้วางใจจะลดลงหรือหมดไป หากความคาดหวังนั้นไม่รับการตอบสนอง

 

มนุษย์ทุกคนล้วนแล้วต้องการได้รับความไว้วางใจ แต่ในสถาบันครอบครัวมักพบว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจลูก ! ทั้งที่เป็นเรื่องจำเป็นและลูกต้องการให้พ่อแม่ไว้วางใจ โดยพื้นฐานของคนเป็นพ่อแม่ส่วนใหญ่ห่วงใยลูกไปซะทุกเรื่อง มักจะคิดหรือลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ให้ลูก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลไม่อยากให้ลูกลำบาก หรือไม่ไว้วางใจลูกก็ตาม ผลที่ตามมาจึงมักทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ไม่ดีหรือไม่ลงรอยกันเสมอ 

บางครอบครัวถึงกลับกลายเป็นเรื่องทะเลาะหรือไม่พูดกันเลยก็มี เพราะโกรธที่พ่อแม่ไม่ไว้วางใจ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักเกิดกับลูกวัยรุ่นซะด้วย ไม่มีลูกคนไหนพอใจที่พ่อแม่ไม่ไว้วางใจ และด้วยความไม่ไว้วางใจมักกลายเป็นเหตุผลของการกระทำที่บานปลายนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งในเรื่องอื่น ๆ เสมอ แล้วพ่อแม่ควรทำอย่างไรเพื่อให้ลูกไว้วางใจ

 

✚ 1. เข้าใจ ✚

การเข้าใจพัฒนาการตามวัยและพื้นนิสัยของลูกเป็นเรื่องที่พ่อแม่ทุกคนควรมี ไม่ว่าลูกอยู่ในช่วงวัยไหนก็ปรารถนาให้พ่อแม่เข้าใจ ไม่อยากถูกพ่อแม่บ่น โดยเฉพาะเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น ส่วนใหญ่ไม่อยากปรึกษาปัญหาใดๆ กับพ่อแม่ เพราะอาจกังวลหรือเคยมีประสบการณ์ว่าเวลามีปัญหาอะไร พ่อแม่ก็มักจะตำหนิ หรือพ่อแม่เข้ามายุ่งมากจนเกินพอดี หรือบางครั้งก็ตัดสินใจแทนเขา ทำให้เขาไม่อยากเข้าหา

 

✚ 2. ฟังด้วยใจ ✚

การรับฟังลูกเสมอเป็นเรื่องสำคัญมาก ปัญหาโลกแตกของความสัมพันธ์พ่อแม่ลูก ที่ทำให้ลูกไม่อยากคุยหรือปรึกษาปัญหากับพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ฟังยังไม่จบก็ตัดสินแล้ว หรือจ้องจะสอน หรือตำหนิ หรือไม่ได้สนใจฟังแบบจริงจัง ทั้งที่การฟังให้จบจะได้เข้าใจลูกว่าคิดอะไรอยู่ ให้เขาได้อธิบายในสิ่งที่เขาอยากจะพูดให้จบเสียก่อน เพราะการรับฟังด้วยใจเป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่การไว้วางใจ 

✚ 3. เชื่อใจ ✚

เมื่อรับฟังด้วยใจและพูดคุยกับลูกเป็นประจำ จะทำให้เขาเชื่อใจพ่อแม่ สิ่งที่ควรทำต่อมาคือควรยอมรับ เคารพ ให้เกียรติ์ และให้โอกาสลูกตัดสินใจด้วยตัวเองในการทำสิ่งใดๆ เพื่อให้ลูกเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยพ่อแม่ทำหน้าที่เพียงชี้แนะและเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะเด็กหลายคนมีศักยภาพเพียงพอที่จะคิดแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง เมื่อเขามีความมั่นใจในการคิด ตัดสินใจ มีความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองมากพอ กล้าลองผิดลองถูก ก็ควรให้เขาเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตัวเอง

 

✚ 4.ใส่ใจ ✚

พ่อแม่สามารถใส่ใจลูกห่าง ๆ แบบห่วง ๆ ก็ได้ สังเกตความเป็นไปในเรื่องต่างๆ ของลูก หากลูกมาปรึกษาก็อย่าเอาความคิดเห็นของผู้ใหญ่มาตัดสินเรื่องต่าง ๆ ของลูก ที่สำคัญไม่ควรเปรียบเทียบลูกของตัวเองกับลูกคนอื่น รู้จักชมเชยลูกบ้าง หาจังหวะที่เหมาะสมชื่นชมเมื่อเห็นลูกทำดีและให้กำลังใจ 

 

✚ 5. จริงใจ ✚

อะไรที่ลูกขอให้พ่อแม่รักษาสัญญาก็ควรทำในสิ่งที่พูด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูก จริงใจ ไม่โกหก เพราะลูกก็ต้องการพื้นที่ส่วนตัว บางครั้งหากเขาพยายามเล่าสิ่งที่มีอยู่ในใจ หรือสิ่งที่ทำผิดพลาดไป และเรื่องนั้นลูกไม่อยากจะบอกให้ใครได้รับรู้นอกจากพ่อหรือแม่ เราก็ต้องเก็บเรื่องนั้นเป็นความลับด้วย ซึ่งพ่อแม่บางคนชอบเอาเรื่องที่ลูกเล่าไปเล่าหรือไปปรึกษาต่อคนอื่น และเมื่อเขารู้ คราวนี้ล่ะอย่าว่าแต่ปรึกษาเลย มีอะไรต่อไปเขาก็จะไม่บอกพ่อแม่อีกเลย 

✚ เปิดใจ ✚

ถ้าพ่อแม่รู้สึกว่าลูกไม่ยอมพูดคุยกับด้วย อาจลองเปิดใจและทำความเข้าใจในความคิดของเขา เปิดใจให้กว้างเพื่อทำความเข้าใจทั้งความคิด ความรู้สึก ข้อจำกัดของเขา โดยไม่เอาความเห็นของตัวเองเป็นใหญ่ เพื่อแนะนำแนวทางที่เหมาะสมกับลูกได้ เพราะบางครั้งเด็กอาจมองว่าพ่อแม่อ่อนไหว กลัวพ่อแม่เสียใจ ไม่อยากเห็นพ่อแม่เครียด เด็กจะคิดว่าการพูดคุยหรือปรึกษาเป็นการเพิ่มความเครียดให้พ่อแม่ หรืออาจมองว่าพ่อแม่มีศักยภาพน้อยเกินไป ทั้งด้านความรู้และการใช้ชีวิต คงไม่มีทางเข้าใจเขา จึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรเปิดใจและแสดงให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่พร้อมรับฟังและให้คำแนะนำได้

 

ด้วยคาถา “6 ใจ” ที่ว่ามานี้ พ่อแม่ย่อมจะได้ “ความไว้วางใจ” จากลูกแน่นอน