248
เมื่อลูกกลัวการเข้าสังคม

เมื่อลูกกลัวการเข้าสังคม

โพสต์เมื่อวันที่ : June 25, 2022

...“ลูกเป็นเด็กขี้กังวล ขี้กลัว กลัวเพื่อนว่า กลัวครูว่า ฯลฯ”...

...“ลูกมักทนไม่ได้กับคำพูดคำวิจารณ์ต่าง ๆ กลัวขายหน้า ไม่เป็นที่ยอมรับจากผู้อื่น”...

...“เก็บตัว แยกตัวจากเพื่อน ไม่ชอบเป็นจุดสนใจของใคร”...

 

โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder หรือ Social Phobia) เป็นความผิดปกติทางจิตใจรูปแบบหนึ่งที่ส่งผลให้รู้สึกวิตกกังวลหรือกลัว หากต้องเข้าสังคมหรือต้องพบปะผู้คนที่ไม่คุ้นเคย ก็จะเกิดความวิตกกังวล  

 

ความกังวลในบางสถานการณ์เป็นความรู้สึกโดยธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน อย่างความรู้สึกตื่นเต้นหรือประหม่าเมื่อต้องนำเสนองานหน้าชั้นเรียนหรือในที่ประชุม แต่โรคกลัวการเข้าสังคมจะแตกต่างจากความกังวลทั่วไป เนื่องจากจะรู้สึกกลัวหรือกังวลทุกครั้งที่ต้องทำกิจกรรมหรือเข้าสังคม ทำให้ความวิตกกังวลเกิดขึ้นในระยะยาวจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับผู้อื่น 

โรคนี้มักพบได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่น บางคนเป็นเด็กขี้อายจนกระทั่งกลายเป็นความกลัวก็มี บางคนเป็นมากมีอาการกลัวอย่างรุนแรงเมื่อต้องเผชิญสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคย เช่น เปิดเรียนใหม่ ๆ ทำงาน หรือทำความรู้จักคนใหม่ ๆ โดยอาการจะเป็นต่อเนื่องในระยะยาว บางรายอาการอาจค่อย ๆ ดีขึ้นได้เองเมื่อเวลาผ่านไป แต่จำนวนไม่น้อยที่ต้องเข้ารับการรักษาเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ปกติ

 

 

สาเหตุของโรคกลัวสังคมคล้ายกับภาวะความผิดปกติทางจิตใจอื่น ๆ โดยสาเหตุเกิดจากปัจจัยภายในของแต่ละบุคคล ผนวกกับปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม เช่น ความผิดปกติของโครงสร้างของสมองส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) ซึ่งทำหน้าที่ตอบสนองต่อความกลัว เมื่อสมองถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวผิดปกติ อาจทำให้บุคคลนั้นตอบสนองต่อความกลัวสังคมด้วยความเครียดและวิตกกังวลเพิ่มขึ้น

 

หรืออาจเกิดจากสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู ซึ่งเด็กอาจเคยเผชิญเหตุการณ์ที่น่าอาย หรือเคยถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจอย่างรุนแรง เช่น ถูกดุด่า ถูกทำร้ายร่างกาย มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือถูกเพื่อนรังแก ฯลฯ อาจทำให้รู้สึกหวาดกลัวเมื่อต้องเข้าสังคม

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรคกลัวสังคม ได้แก่ ความกดดันจากการทำงานหรือการเข้าสังคมใหม่ เด็กที่มีลักษณะนิสัยขี้อาย เก็บตัวหรือแยกตัวออกจากผู้อื่น รวมถึงความผิดปกติทางร่างกาย ก็อาจเกิดความรู้สึกกังวลและกลัวที่จะเข้าสังคมได้

 

วิธีการรักษาอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยวิธีที่มักนำมาใช้รักษา ได้แก่ การดูแลตนเองด้วยการปรับพฤติกรรม จิตบำบัด (Psychotherapy) และการใช้ยารักษาโรค ซึ่งอาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีร่วมกัน แต่วิธีป้องกันที่ดีที่สุด ก็คือ "พ่อแม่ผู้ปกครอง"

 

เริ่มจากถ้ารู้ว่าลูกวิตกกังวลเรื่องใด ก็ควรหลีกเลี่ยงสถานการณ์นั้น ๆ และพยายามปลูกฝังทักษะที่จำเป็นให้กับลูก

 

✚ 1. สร้างความเชื่อมั่น ✚

เมื่อลูกเริ่มทำกิจกรรมด้วยตนเองได้ ควรชื่นชม ให้กำลังใจ เพื่อสร้างความมั่นใจ และเป็นแรงเสริมให้ลูกคลายกังวล และมีความกล้ามากขึ้น

 

✚ 2. เป็นแบบอย่างที่ดี ✚

การทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี เช่น เผชิญสถานการณ์ทางสังคมต่าง ๆ ว่าควรวางตัวอย่างไร หรือการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน การแสดงออกต่อที่สาธารณะฯลฯ

 

✚ 3. ชวนทำกิจกรรม ✚

ควรหาโอกาสให้ลูกได้ลองเข้าสังคมที่หลากหลาย หากิจกรรมที่ลูกชอบและต้องทำร่วมกับคนอื่น แต่ไม่ควรกดดันหรือเคี่ยวเข็ญให้ลูกทำกิจกรรมที่ต้องรับมือกับความคาดหวังและเคร่งเครียดมากเกินไป เน้นเพื่อสร้างทักษะชีวิตมากกว่าการแข่งขัน 


✚ 4. เสริมทัศนคติด้านบวก ✚

สอนให้ลูกคิดบวก และเรียนรู้วิธีการปรับมุมมองความคิดแง่ลบเกี่ยวกับตัวเอง มาเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางสังคม 

 

✚ 5. ออกกำลังกายช่วยได้ ✚

การทำกิจกรรมที่ได้ออกแรงเป็นประจำจะช่วยทำให้จิตใจแจ่มใส ช่วยให้นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ เพราะการอดนอนอาจกระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวลได้

 

ขณะเดียวกันถ้าลูกเป็นเด็กที่กลัวการเข้าสังคมแล้วปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา โรคกลัวการเข้าสังคมอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และความสุขในชีวิต ทำให้ขาดความมั่นใจ มีปัญหาในการแสดงออก หรือไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ชอบตำหนิติเตียนหรือดูถูกตนเอง ขาดทักษะการเข้าสังคม แปลกแยกและไม่มีความสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น สุดท้ายอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า หรือความผิดปกติทางจิตใจอื่น ๆ ได้เช่นกัน

 

“กันไว้ดีกว่าแก้” ยังเป็นคาถาจำเป็นสำหรับคนเป็นพ่อแม่เสมอ