833
หยุดทำร้ายลูกด้วยการเปรียบเทียบ !

หยุดทำร้ายลูกด้วยการเปรียบเทียบ !

โพสต์เมื่อวันที่ : July 16, 2022

คุณเป็นพ่อแม่ที่ชอบเปรียบเทียบลูกกับคนอื่นหรือไม่ หรือชอบเปรียบเทียบลูกระหว่างพี่น้องเสมอ ถ้าใช่ คุณรู้ไหมว่าลูกรู้สึกเจ็บปวดอย่างไร ?

 

พ่อแม่ที่ชอบเปรียบเทียบลูกกับคนอื่นตั้งแต่เล็ก มักจะมีเหตุผลว่า “หวังดี” อยากให้ลูกเห็นต้นแบบดี ๆ หรือไม่ก็คาดหวังอยากให้ลูกมีพฤติกรรมที่ดีเป็นแบบคนนั้นคนนี้ ขอให้ลองคิดถึงความรู้สึกของตัวเองด้วยว่าชอบไหม ถ้ามีใครนำคุณไปเปรียบเทียบกับคนอื่น !

ความรู้สึกเวลาที่เราถูกเปรียบเทียบ ไม่มีใครชอบใจหรอก ลูกของเราก็เช่นกัน เขาก็รู้สึกแย่กับคำพูดเปรียบเทียบของพ่อแม่เหมือนกัน ใครจะไปรู้ว่า จากเรื่องเล็ก ๆ ที่พ่อแม่เปรียบเทียบ เมื่อพูดซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ บ่อย ๆ อาจกลายเป็นปัญหาในภายหลัง และเชื่อเถอะค่ะว่าเด็กที่ถูกเปรียบเทียบตั้งแต่เล็ก เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น พวกเขาอาจเกิดปัญหาเป็นปมภายในใจก็ได้

 

ยิ่งโลกยุคปัจจุบันเป็นยุคดิจิทัล เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตท่องบนโลกออนไลน์ ยิ่งมีโอกาสได้เห็นผู้คนจำนวนมาก เมื่อถูกพ่อแม่มักเปรียบเทียบเขากับคนอื่น เวลาเขาอยู่บนโลกออนไลน์ก็มีแนวโน้มที่จะชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนในสังคม (Social Comparison) เช่นกัน

 

ผลกระทบที่ตามมา 

✚ 1. สุขน้อยเครียดมาก ✚

เด็กที่มักถูกเปรียบเทียบกับคนอื่นบ่อย ๆ มีแนวโน้มที่จะหาความสุขได้ยากกว่าเด็กที่ไม่โดนเปรียบเทียบกับใคร การเปรียบเทียบเป็นการกดดันอย่างหนึ่ง ในแง่ของการแข่งขันอาจมองว่าดี เพราะเป็นการกระตุ้นให้ลูกพยายามให้มากขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับคนอื่นตลอดเวลา ลูกก็จะสะสมความเครียด และกลายเป็นคนที่ไม่มีความสุข เพราะรู้สึกต้องพยายามให้ดีกว่าคนอื่นเสมอ และความเครียดเหล่านั้นก็จะทำลายสุขภาพจิต รวมทั้งความสุขในการดำเนินชีวิต

✚ 2. ด้อยค่าตัวเอง ✚

เมื่อลูกถูกเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วทำได้ไม่ดีเท่าจะส่งผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-Esteem) และเมื่อเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลงเรื่อย ๆ ก็มักเกิดเป็นปมด้อย เช่น ถูกเปรียบเทียบว่าไม่เก่งเท่าพี่ ไม่สวยเท่าน้อง เด็กข้างบ้านได้ดีกว่า ฯลฯ เด็กก็จะเกิดความรู้สึกด้อยค่าตัวเองไปเรื่อย ๆ ทั้งที่เรื่องการตระหนักถึงคุณค่าในตัวเองเป็นเรื่องสำคัญมากต่อความสำเร็จในชีวิตของเด็ก ถ้าเด็กที่ถูกเปรียบเทียบมาก ๆ จนรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ จะยิ่งทำให้รู้สึกตัวเองไม่มีค่า และไม่เคารพตัวเองด้วย

 

✚ 3. กลายเป็นเด็กขี้อิจฉา ✚

โปรดรู้ไว้ด้วยว่าเวลาพ่อแม่ชื่นชมคนอื่น ลูกก็อยากได้รับคำชมแบบนั้นบ้าง แต่หากสิ่งที่ลูกได้รับกลับตรงกันข้าม ลูกถูกพ่อแม่เปรียบเทียบบ่อย ๆ ถูกต่อว่าซ้ำ ๆ เขาจะถูกปลูกฝังนิสัยชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น และกลายเป็นเด็กขี้อิจฉาในที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่การพยายามเรียกร้องความสนใจในรูปแบบต่าง ๆ นานา

 

✚ 4. ขาดความพยายาม ✚

เด็กที่ตั้งใจทำเต็มที่ แต่พ่อแม่ไม่เคยมองเห็นหรือให้ความสำคัญ ถึงที่สุดเขาก็จะไม่อยากทำสิ่งใด ๆ หรือไม่มีความพยายามทำสิ่งใดให้สำเร็จ เพราะทำไปพ่อแม่ก็ไม่เห็น และมองข้ามข้อดีของเขาเสมอ หากเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ลูกมีโอกาสที่จะหมดกำลังใจในการพยายาม เพราะรู้สึกว่าทำดีแค่ไหนก็ไม่ได้ดี ไม่ได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ และอาจทำให้เขาเลือกทำในสิ่งตรงกันข้ามไปเลยก็ได้

อันที่จริงแล้วมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มักชอบการเปรียบเทียบ แต่สำหรับคนเป็นพ่อแม่เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะทุกการกระทำของพ่อแม่ส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกเสมอ หากไม่ระมัดระวัง ก็เท่ากับเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ให้กับลูกได้

 

พ่อแม่ต้องเข้าใจก่อนว่า เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน และไม่มีทางเหมือน ทุกคนมีลักษณะเฉพาะของตนเอง มีข้อดี ข้อเด่น และข้อด้อยแตกต่างกัน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเหมือนใคร หรือดีกว่าใคร ทุกคนมีความพิเศษเฉพาะของตน

 

...”ความแตกต่างคือความงดงามต่างหากค่ะ”...