212
ลูกไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำเสมอไป

ลูกไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำเสมอไป

โพสต์เมื่อวันที่ : July 23, 2022

คนเป็นพ่อแม่ล้วนอยากให้ลูกเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้า เป็นผู้บริหาร ฯลฯ เพราะเหมือนเป็นมาตรวัดความรู้สึกว่าลูกประสบความสำเร็จ แต่ที่จริงแล้วการเป็นผู้ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ประสบความสำเร็จเสมอไป

 

การเป็นผู้ตาม (Followers) และมีภาวะผู้ตาม (Followship) ก็เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่เป็นตัวบ่งชี้ได้เหมือนกันว่าคนเราประสบความสำเร็จ เพราะการเป็นผู้ตามที่ดี ก็ต้องมีคุณสมบัติที่มีทักษะชีวิตที่สำคัญ ที่คนเป็นพ่อแม่ก็ควรต้องปลูกฝังลูกเช่นกัน เพราะลักษณะของผู้ตามที่ประสบความสำเร็จมักจะมีสิ่งเหล่านี้

 

✚ มีความสามารถในการบริหารจัดการตนเองได้ดี

✚ มีความสามารถในการสื่อสารและปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ดี

✚ มีความสามารถในการรับมือกับการแก้ไขปัญหาได้ดี

✚ มีความสามารถที่จะทำให้ได้รับความไว้วางใจ 

✚ มีความอดทน ซื่อสัตย์ และน่าเชื่อถือ 

แต่ทักษะเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองในทันที แต่ควรได้รับการส่งเสริม และปลูกฝังตั้งแต่เล็ก ซึ่งก็หนีไม่พ้นคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องตระหนักในเรื่องนี้ด้วยว่า การที่จะฝึกให้ลูกเป็นผู้ตามที่ดีตั้งแต่เล็ก ก็ทำให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิตเมื่อเขาเติบโตขึ้นได้เช่นกัน

 

และทักษะการเป็นผู้ตามที่ดี ก็สามารถพัฒนาไปสู่รูปแบบการใช้ชีวิตในรูปแบบอื่นๆได้ ที่สำคัญคนที่เป็นผู้ตามที่ดี เมื่อถึงวันที่ได้เป็นผู้นำ จะสามารถทำบทบาทหน้าที่ของผู้นำได้ดี มีภาวะผู้นำ และจะเข้าใจลูกน้องหรือผู้ตามเป็นอย่างดี

 

อย่าลืมว่าความสำคัญของการเป็นผู้นำก็เรื่องหนึ่ง แต่การเป็นผู้ตามก็มีความสำคัญไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ซึ่งจะว่าไปแล้วคนเราก็ควรมีบทบาททั้ง “ผู้นำ” และ “ผู้ตาม”

 

แล้วจะฝึกให้ลูกเป็นผู้ตามที่ดีได้อย่างไร

❤︎ 1. ฝึกความรับผิดชอบให้ลูกตั้งแต่เล็ก ❤︎

โดยเริ่มจากรับผิดชอบตัวเอง จากนั้นก็มอบหมายให้รับผิดชอบเรื่องอื่นๆ โดยดูวัยของลูกเป็นหลัก ลูกโตขึ้นความรับผิดชอบก็มากขึ้น เพื่อให้เขาเรียนรู้ถึงภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น จะได้เตรียมความพร้อมเมื่อเขาต้องออกไปสู่โลกกว้าง เขาจะได้รับมอบหมายหรือมีหน้าที่ความรับผิดชอบที่มากขึ้น

 

❤︎ 2. ฝึกให้แสดงความคิดเห็น ❤︎

เวลาลูกทำงานหรือได้รับมอบหมายสิ่งใด ควรให้ลูกได้ประเมินการทำงานของตัวเอง และแสดงความคิดเห็นถึงข้อดีข้อเสีย ซึ่งเขาอาจมีข้อเสนอแนะอื่นๆ ก็ได้ อย่างน้อยก็เป็นการกระตุ้นให้ลูกฝึกคิด

 

❤︎ 3. ฝึกให้วางแผนชีวิต ❤︎

เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น พ่อแม่ควรให้ลูกได้มีโอกาสวางแผนหรือวางเป้าหมายชีวิต โดยอาจจะเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว เช่น วางแผนการเรียน วางแผนช่วยงานพ่อแม่ วางแผนไปเที่ยว ฯลฯ โดยให้เขาได้ลองคิดทั้งกระบวนการ และนำมาพูดคุยกับพ่อแม่ หรือกับคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ เพื่อที่จะได้ฝึกให้เขาได้มองเห็นกระบวนการและขั้นตอนของแผนงานนั้นๆ

❤︎ 4. ฝึกให้ล้มแล้วลุก ❤︎

ทุกการทำงานของคนเรามีโอกาสผิดพลาดได้ทั้งนั้น แต่เมื่อพลาดแล้ว ยอมรับและพร้อมจะแก้ไขต่างหากที่จำเป็น ฉะนั้น เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องฝึกให้ลูกมีทักษะในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

 

❤︎ 5. พ่อแม่ต้องเป็นผู้ตามที่ดีด้วย ❤︎

ในเมื่อจะสอนลูกให้มีภาวะผู้ตามที่ดี พ่อแม่ก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี อาจจะลองแบ่งบทบาทกับลูก ผลัดกันเป็นผู้นำและผู้ตาม ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆ ก็จะทำให้เขาได้เรียนรู้ เพราะการกระทำของพ่อแม่คือการสอนให้ลูกได้เรียนรู้ทางตรง

 

แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือทัศนคติของคนเป็นพ่อแม่ ที่มักอยากให้ลูกเป็นผู้นำมากกว่าผู้ตาม แท้จริงแล้วไม่จำเป็นที่ต้องให้ลูกเป็นผู้นำเสมอไป เพราะเด็กบางคนเขาก็เรียนรู้จากการเป็นผู้ตามที่ดี และเมื่อได้รับการหล่อหลอม บ่มเพาะ สะสมประสบการณ์ ก็พร้อมเป็นผู้นำที่ดีได้เมื่อโอกาสมาถึง