ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
...“เวลาลูกโมโห โกรธ หรือไม่ได้ดั่งใจ เขาจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว หยุดไม่ได้”...
...“ทุกครั้งที่ลูกโกรธจะควบคุมตัวเองไม่ได้ มักจะอาละวาดขว้างปาข้าวของ”...
ลูกของคุณเข้าข่ายปัญหาเหล่านี้หรือเปล่า ถ้าใช่ คงต้องรีบหาทางช่วยเหลือ
วัยรุ่นกับอารมณ์แปรปรวน (Mood Swings) คืออาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่รวดเร็ว โดยการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์นี้อาจเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ หรือมีปัจจัยอื่น ๆ เป็นตัวกระตุ้น หรือเกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วยทางจิต
ปัญหาทางจิตส่งผลให้ผู้ป่วยมีอารมณ์แปรปรวนได้เช่นกัน พบได้ในโรคทางจิตเวช เช่น โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา แต่ถ้าตัดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งก็มาจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม
ก่อนอื่นคนเป็นพ่อแม่ต้องตรวจสอบตัวเองก่อนว่า คุณเป็นพ่อแม่ที่ชอบตามใจลูก หรือตอบสนองลูกทุกครั้งที่ลูกต้องการสิ่งใด ๆ โดยไม่สนใจว่าเหมาะสมหรือไม่ หรือเวลาที่ลูกอยากได้สิ่งใด พ่อแม่ก็ไม่เคยขัดใจ เพราะกลัวลูกไม่รัก หรือกลัวลูกเสียใจ ยิ่งถ้าปฏิบัติกับลูกมาแบบนี้ตั้งแต่เล็ก พอลูกเข้าสู่วัยรุ่น ปัญหายิ่งมากขึ้นตามวัยที่เติบโตด้วย
แต่ถ้าลูกเข้าข่ายมีพฤติกรรมเหล่านี้ไปแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าวด้วย เพราะลูกต้องเข้าไปอยู่ในสังคม ถ้าไม่ปรับตัว สุดท้ายลูกก็จะเกิดปัญหาในภายหลัง ในเมื่อพ่อแม่มีส่วนทำให้ลูกต้องมีพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา ก็ต้องหาทางแก้ไขและช่วยเหลือลูกด้วย
✦ 1. เปิดอกคุยกัน ✦
พ่อแม่อาจเริ่มเปิดฉากด้วยการขอโทษที่มีส่วนทำให้ลูกมีพฤติกรรมอย่างนี้ และขอให้ลูกให้ความร่วมมือ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งบางคนอาจรับฟังและพยายามแก้ไข แต่บางคนอาจไม่ยอมรับแล้วกลายเป็นปัญหา ซึ่งพ่อแม่ก็ต้องหาทางแก้ไขด้วยวิธีอื่นต่อไป
✦ 2. ไม่ตามใจลูกพร่ำเพรื่อ ✦
เมื่อเปิดอกคุยกันแล้วก็ควรมีข้อตกลงร่วมกัน ว่าจะไม่ตามใจพร่ำเพรื่อ ต้องมีขอบเขต บางเรื่องที่ไม่เหมาะสมก็ต้องขัดใจบ้าง แต่เวลาขัดใจต้องบอกเหตุผลและอธิบายให้ลูกฟังด้วยว่าเพราะอะไร
✦ 3. รู้จักสังเกตอารมณ์ตัวเอง ✦
การให้ลูกสังเกตอารมณ์ของตัวเองมีความสำคัญมาก ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า สัญญาณเริ่มต้นของอารมณ์โกรธของตัวเองมีอะไรบ้าง เช่น หน้าแดง หายใจแรง มือเย็น เหงื่อแตก ฯลฯ และเมื่อพบว่ามีอาการเหล่านี้ ก็ต้องบอกให้เข้าใจว่า ถ้าหากมีพฤติกรรมเหล่านี้แสดงว่ากำลังโกรธอยู่ ก่อนจะสอนให้ลูกรู้จักจัดการความรู้สึกโกรธของตัวเองให้เหมาะสม
✦ 4. ฝึกจัดการอารมณ์ตัวเอง ✦
การจัดการอารมณ์ตัวเองสำคัญมาก เพราะเป็นขั้นของการที่ต้องพยายามควบคุมตัวเอง พ่อแม่จะรู้ดีว่าพื้นฐานอารมณ์ของลูกแต่ละคนเป็นอย่างไร ก็ควรจะช่วยให้เหมาะกับพื้นนิสัยและสถานการณ์ด้วย เช่น ให้พยายามหายใจเข้าลึก ๆ และฝึกให้ผ่อนอารมณ์ หรือพาลูกออกไปจากบรรยากาศที่ทำให้เขาเกิดสภาวะอารมณ์โกรธเพื่อเบี่ยงเบนสถานการณ์ หรือชวนไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าจะช่วยให้ลูกผ่อนคลายได้ เพื่อให้คลื่นลมพายุในใจลูกสงบซะก่อน
✦ 5. ระบายความรู้สึกได้ ✦
เมื่อลูกสามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ก็พยายามฝึกให้ระบายความรู้สึกออกมาด้วย เช่น เล่าเรื่องราวให้พ่อแม่ เพื่อน หรือคนใกล้ชิดฟัง ซึ่งถ้าเป็นพ่อแม่ก็หมายความว่า พ่อแม่ต้องพร้อมทุกเมื่อที่จะรับฟังลูก จากนั้นก็ค่อยให้คำแนะนำ และชี้แนะหนทางแก้ไขปัญหาด้วยสติปัญญา
✦ 6. สอนให้อภัยตนเอง ✦
ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้กับทุกคน อาจจะทำให้เกิดเป็นอารมณ์ได้ บอกลูกว่าคนเรามีอารมณ์โกรธ หรือโมโหได้ แต่ต้องควบคุมอารมณ์และจัดการกับความรู้สึกของตัวเองให้ได้ด้วย บางเรื่องอาจจะเป็นความผิดของตัวเองหรือของผู้อื่น ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอภัยตัวเอง เริ่มต้นใหม่ไม่กลับไปทำผิดพลาดอีก วิธีนี้จะช่วยให้ลูกรู้จักให้อภัยในความผิดพลาดและไม่เก็บมาเป็นอารมณ์อีก
สุดท้าย เมื่อคลื่นลมมรสุมสงบ พ่อแม่ก็ควรสอบถามลูกด้วยว่า เมื่อเขาเกิดอารมณ์โกรธแล้วเป็นอย่างไร ยิ่งถ้าหากอาละวาดขว้างปาข้าวของเสียหาย หรือทำให้ผู้อื่นหรือตัวเองเจ็บตัว ผลที่ตามมาเป็นอย่างไร เพื่อให้เขาได้ลำดับความคิด และไตร่ตรองถึงผลเสียที่ตามมาหากไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ ที่สำคัญพ่อแม่ต้องไม่เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีซะเอง !