ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
คนเป็นพ่อแม่แทบทุกคนที่มีลูกกำลังเข้าสู่วัยรุ่นมักจะเกิดปัญหาหงุดหงิดใจเรื่องที่ลูกชอบเถียง หรือดื้อ หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตาม แต่มักจะลงท้ายด้วยการทะเลาะกันระหว่างพ่อแม่ลูก หรือเกิดความไม่พอใจระหว่างกัน
ความจริงเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่นแล้วยังเชื่อฟังหรือทำตามที่พ่อแม่บอกทุกอย่างนั้น น่าจะเป็นไปได้ยาก !
ช่วงวัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งฮอร์โมน ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ฉะนั้นพวกเขาก็อาจมีอารมณ์แปรปรวน อยากมีโลกส่วนตัว ขี้หงุดหงิดไปบ้าง ในขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองอาจไม่ทันสังเกตช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่พอรู้สึกว่าลูกไม่เหมือนเดิมก็อาจกลายเป็นปัญหาและข้อขัดแย้งระหว่างกันได้
ประมาณว่าเวลาที่ลูกเถียง พ่อแม่ก็จะโกรธ โมโห และคิดว่าลูกเริ่มก้าวร้าว ลูกเปลี่ยนไป ทั้งที่จริงแล้ว พฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นสัญญานที่ควรทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง “หยุดคิด” และ “ตั้งคำถาม” ว่านี่คือสัญญานของการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นหรือไม่ !
ถ้าใช่...สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรทำคือต้องใจเย็น อย่าใช้อารมณ์นำทางเด็ดขาด ในเมื่อเราเป็นผู้ใหญ่กว่า ก็ต้องมีสติและควบคุมอารมณ์ ต้องเปิดใจและรับฟัง ถ้าลูกพูดด้วยอารมณ์และเสียงดัง หรือเถียงคำไม่ตกฟาก พ่อแม่ก็พยายามเอาน้ำเย็นเข้าลูบ อาจใช้ภาษากาย เช่น จับมือหรือตบบ่าเบา ๆ บอกให้ลูกใจเย็นลงก่อนแล้วค่อย ๆ คุยกัน อย่าใช้วิธีแรงมาแรงไป เถียงมาเถียงไป เพราะสุดท้ายเรื่องจะ
บานปลาย
ปรับจากการ “เถียง” เป็น “ถก” อย่างสร้างสรรค์
✚ 1. เป็นแบบอย่างที่ดี ✚
ต้องเริ่มจากพ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีก่อน เช่น เวลาที่พ่อแม่พูดคุยกันเองก็ต้องคุยด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ เพราะถ้าพ่อแม่ชอบใช้อารมณ์ และเถียงกันบ่อย ๆ จะไปบอกไม่ให้ลูกเถียงคงเป็นไปไม่ได้
✚ 2. คำพูดทำร้ายคนได้ ✚
สิ่งที่พ่อแม่ต้องสะท้อนให้ลูกได้รับรู้ก็คือ การใช้คำพูดหรือการสื่อสารของเรามีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนที่ได้รับฟังเสมอ สิ่งที่พูดออกไปโดยไม่ได้ผ่านการคิดหรือไตร่ตรอง ใช้แต่อารมณ์เป็นที่ตั้ง จะสร้างความเจ็บปวดภายในจิตใจของคนฟังอย่างไร ถ้ามีใครมาพูดมาเถียงกับลูกแบบไม่มีเหตุผลลูกจะรู้สึกอย่างไร ฉะนั้นการเลือกใช้คำพูดจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสามารถทำร้ายคนได้
✚ 3. เถียงกันทำให้ยิ่งใส่ใจกัน ✚
มองในแง่ดี การเถียงกันบ้างก็มีข้อดีอยู่บ้าง ถ้าทำให้การเถียงกันนั้นนำไปสู่การหาข้อสรุปร่วมกัน และพยายามหาทางสร้างข้อตกลงร่วมกัน หากคราวหน้าเจอปัญหาแบบนี้อีกควรจะทำอย่างไร แล้วจะทำให้ต่างฝ่ายต่างใส่ใจกันและกันมากขึ้น และคราวต่อไปจะรู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ
✚ 4. รู้จักและเข้าใจกันมากขึ้น ✚
การที่ลูกเถียงพ่อแม่อาจมีความไม่พอใจบางประการเกิดขึ้น ถ้าพ่อแม่สังเกต รับฟัง และเปิดใจ โดยไม่ใช้อารมณ์ แต่พยายามทำความเข้าใจว่าลูกต้องการสื่อสารอะไร โดยดูพื้นนิสัยเดิมของลูกด้วย บางทีเขาอาจต้องการเถียงจริง ๆ หรือเป็นการประชดประชัน หรือต้องการเรียกร้องอะไรบางอย่างจากพ่อแม่ เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ควรเฝ้ามองและสังเกตความเป็นไป เพื่อหาทางช่วยให้ลูกได้สงบอารมณ์ และชวนพูดคุยในภายหลัง
✚ 5. ชวนพูดคุยหาทางออกร่วมกัน ✚
การโมโห หรือความเงียบยิ่งทำให้สถานการณ์บานปลาย การพูดคุยสื่อสารกันจึงจำเป็นมาก ๆ ต่างฝ่ายต่างต้องเปิดใจเข้าหากัน และรับฟังซึ่งกันและกัน ความขัดแย้งเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือการเถียงกันบ้าง ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้กันมากขึ้นตามวัยของลูกที่เติบโตขึ้น ถ้ามีวิธีการรับมือและพยายามหาทางออกร่วมกัน จะยิ่งทำให้เกิดความใกล้ชิด ได้เรียนรู้การประนีประนอม และกระชับความสัมพันธ์ที่ดีด้วย
ที่สำคัญพ่อแม่อย่าคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกเสมอ และก็ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ต้องตอบสนองลูกทุกอย่าง ถ้าสิ่งไหนไม่ถูกต้อง หรือลูกเข้าใจอะไรผิด ก็ต้องว่ากันด้วยเหตุผล และชี้ให้ลูกเห็นในตอนที่อารมณ์ปกติ และชวนพูดคุยโดยการตั้งประเด็นเพื่อชี้ให้เห็นว่า การพูดคุยแบบสร้างสรรค์สามารถทำได้
...”ชวนมาเปลี่ยนจากเถียงเป็นถกอย่างสร้างสรรค์ดีกว่า !”...