การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
...”ก็แค่อยู่บ้านเลี้ยงลูก”... คำจำกัดความที่ผู้คนหลายคนอาจด่วนสรุปเกินไปเกี่ยวข้องกับ “แม่ฟูลไทม์”
เมื่อคำพูดนี้ได้ยินถึงหูของคุณแม่ที่อยู่บ้านเลี้ยงลูกครั้งใด คุณแม่จะรู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งไป เพราะการอยู่บ้านเลี้ยงลูกมันไม่ใช่เพียง “การอยู่บ้านเลี้ยงลูก” เพียงเท่านั้น หลายคนอาจไม่เคยทราบเลยด้วยซ้ำว่าตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าจนถึงหลังกล่อมลูกเข้านอนแล้ว ในแต่ละวันคุณแม่ต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบอะไรบ้าง
ส่วนคุณพ่อที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ก็เพื่อสร้างรายได้กลับมาให้ครอบครัวได้อยู่ ได้ใช้ชีวิต สร้างโอกาสทางการศึกษาและประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับลูก เพราะกิจกรรม-โอกาสและข้าวของส่วนใหญ่ต้องใช้เงิน คุณพ่อเองก็ต้องเผชิญกับ ความเครียดจากการทำงาน การเดินทาง และความรับผิดชอบต่าง ๆ เช่นกัน กลับมาบ้านก็ (ควรต้อง) มาทำหน้าที่ ‘พ่อ’ เช่นกัน
ทุกคนย่อมมีหน้าที่-ความรับผิดชอบของตนเอง
ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งต้องทำงานหาเงินนอกบ้าน และกลับมาเลี้ยงลูก อีกฝ่ายคือฝ่ายที่ต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูกและดูแลบ้านอย่างเต็มเวลา ด้วยเหตุผลสนับสนุนการอยู่บ้านเลี้ยงลูกเต็มเวลาได้ หรือหลายครอบครัวทั้งคุณพ่อคุณแม่ต้องทำงานนอกบ้านแล้วฝากลูกให้ญาติผู้ใหญ่หรือส่งเนอร์สเซอรี่ช่วยดูแลลูกในช่วงกลางวัน
ไม่ว่าเราจะเป็น “พ่อแม่” แบบใด ไม่ควรมีแม่หรือพ่อคนใดสมควรควรถูกเปรียบเทียบว่าใครเลี้ยงลูกดีกว่าใคร ใครเข้าใจลึกซึ้งในการเลี้ยงลูกกว่าใคร เพียงเพราะเขาเป็นหรือไม่เป็นพ่อ/แม่ฟูลไทม์ เพราะทุกคนกำลังทำเพื่อลูก เพื่อครอบครัว (บนพื้นฐานที่ว่า พ่อแม่ที่ไม่เลี้ยงลูก ไม่คิดถึงลูกเลยก็มีจริงเช่นกัน)
แต่หากต้องการถามว่า “เป็นแม่ฟูลไทม์ดีหรือไม่” คำถามนี้มีคำตอบในแง่ของการศึกษาวิจัยที่น่าสนใจอยู่หลายแง่มุม
ในแง่ของ ‘ข้อดี’ พบว่าการมีผู้ปกครองคนใดคนหนึ่งอยู่ดูแลเด็กอย่างเต็มที่นั้นส่ง ‘ผลดี’ ต่อเด็กในทุกช่วงอายุในแง่ของพฤติกรรมและพัฒนาการการเรียนรู้ ส่งผลดีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่โรงเรียนโดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ที่ทำโฮมสคูลให้ลูก หรือเป็นแบบพ่อแม่อยู่บ้านและส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียน ก็ตาม ในแง่ของความประพฤติ ก็พบว่า เด็กจะมีความเครียดน้อยกว่า และก้าวร้าวน้อยกว่า ดีต่อลูกจริง ๆ
ส่วนในแง่ของ ‘ข้อเสีย’ ส่วนใหญ่พบผลเสียต่อ ‘ผู้เลี้ยง’ (ในกรณีนี้คือ ‘แม่ฟูลไทม์’) โดยพบว่าคุณแม่ที่อยู่บ้านเพิ่มโอกาสปัญหาเกี่ยวกับอารมณ์ระหว่างวันไม่ว่าจะเป็น อารมณ์เศร้า เสียใจ และโกรธมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ คุณแม่อยู่บ้านมากกว่าครึ่งรู้สึกเครียด หนึ่งในห้ารู้สึกเศร้า-เสียใจในแต่ละวัน
ที่สำคัญคือ ความรู้สึกโดดเดี่ยว (Social Isolation) เนื่องจากวิถีชีวิตของการเป็น ‘พ่อแม่’ จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมากโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ ‘ลูก’ และสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่นั้นต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับลูกในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย การกิน-การนอน-การขับถ่าย และพัฒนาการตามวัยในด้านต่าง ๆ รวมถึงการรับมือกับพฤติกรรมที่พบได้ตามวัยอีกด้วย ทำให้ ‘เวลา’ ของพ่อแม่นั้นถูกใช้ไปกับลูกอย่างมาก หากไม่สามารถจัดการเวลาและรับมือกับเด็กแต่ละช่วงวัยได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพแล้ว คุณพ่อคุณแม่จำนวนไม่น้อยที่แทบไม่มีเวลากระทั่งกินข้าว ขับถ่ายและนอนเสียด้วยซ้ำ
ดังนั้นแม่ฟูลไทม์จึงต้องการการดูแลตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจด้วยเสมอ เพราะความเครียดที่เกิดขึ้นในการเลี้ยงลูกจะทำให้ "เวลาคุณภาพ" ที่จะได้ใช้จริง ๆ กับลูกนั้นลดลง แม้แม่จะอยู่ตรงนั้นกับลูกที่บ้านก็ตาม
แม้การเป็นพ่อแม่เต็มเวลาจะ ‘ดี’ ต่อลูก แต่ในความเป็นจริงนั้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นพ่อแม่ฟูลไทม์ได้ และไม่ใช่ทุกคนอยากเป็นพ่อแม่ฟูลไทม์ หากแต่ทางเลือกนั้นเกิดขึ้นทำขึ้นบนพื้นฐานว่า ดีต่อ "ลูก" โดยมีเวลาที่ดี มีคุณภาพเมื่ออยู่ด้วยกัน ได้ใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน ได้สอน ได้พูดคุยสื่อสาร และเลี้ยงลูกอย่างเต็มที่เท่าที่พ่อแม่คนหนึ่งจะสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่เต็มเวลา
พ่อแม่นอกเวลาราชการ หรือ พ่อแม่วันหยุด ทุกคนสามารถเป็น "พ่อแม่ที่ดีพอและพอดี" สำหรับลูกได้เสมอโดยที่ไม่อดตายไปพร้อมกัน การเลี้ยงลูกไม่ใช่เรื่องง่าย และวิธีการเลี้ยงลูกก็ไม่มีถูกไม่มีผิด แต่มันก็ถูกยึดโยงด้วยสิ่งที่เรียกว่า "ทฤษฎี" ที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าดีหรือไม่ดีกับลูกอย่างการตีลูก การใช้หน้าจอที่ไม่เหมาะสม อันตรายของรถหัดเดิน การตามใจจนเกินพอดี ฯลฯ
...”ขอแค่มีใครสักคนที่สร้างสายสัมพันธ์อันดีกับเด็ก อยู่ตรงนั้นในวันที่เขาต้องการ เป็นพ่อแม่ที่มีอยู่จริงสำหรับลูก โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีและ 10 ปีแรกของชีวิต”...