ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า ทั่วโลกมีอัตราการหย่าร้างสูงขึ้นอย่างชัดเจน
รวมถึงประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2560 อัตราการหย่าร้างเพิ่มขึ้น มีผู้จดทะเบียนสมรส 297,501 คู่ หย่า 121,617 คู่ เฉลี่ยหย่าวันละ 333 คู่ โดยจังหวัดกรุงเทพมหานครฯ ครองสถิติจำนวนการหย่าร้างสูงที่สุด 16,187 คู่ อันดับที่ 2 และ 3 คือ ชลบุรี 6,476 คู่ และนครราชสีมา 4,572 คู่ ตามลำดับ [ข้อมูลสถิติของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย] โดยช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา พบการหย่าร้างลดลงร้อยละ 6 (การแต่งงานลดลงร้อยละ 17)
ซึ่งอาจไม่ได้เกิดจากชีวิตคู่ไม่มีปัญหา แต่อาจเกิดจากผลกระทบในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการเงินบีบบังคับให้หลายครอบครัวเลือกที่จะ ‘อดทน’ อยู่กันต่อไปก่อน อดทนอยู่ต่อไปก่อน ... โดยเฉพาะคำว่า “อดทนเพื่อลูก”
ในปัจจุบันทั่วโลก พบสถิติของเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่เป็นผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เนื่องจากสภาพสังคมในปัจจุบันที่เปิดรับการหย่าร้างมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต และคุณแม่มีศักยภาพในการดูแลตัวเองและลูกได้มากขึ้นทั้งในแง่ของระดับการศึกษาและการเงิน ดังนั้นแล้วเด็กที่เติบโตมากับผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยวนั้นมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ?
จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า ครอบครัวที่เป็นผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยวจะมีรายได้รายปีต่ำกว่า ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดเกี่ยวกับโอกาสทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน อุปกรณ์การเรียน หนังสือนอกบทเรียน และกิจกรรมนอกหลักสูตรที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันเพื่อเข้าศึกษาต่อในอนาคตได้ ในขณะเดียวกัน เมื่อเป็นผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยวซึ่งต้องรับผิดชอบทั้งครอบครัว ส่วนใหญ่ผู้ปกครองจำเป็นต้องทำงานเต็มเวลา รวมถึงการทำอาชีพเสริมนอกเวลางาน ทำให้ผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยวมี ‘เวลา’ ที่ใช้ร่วมกับลูกลดลง นอกจากนั้นยังต้องเผชิญกับความเครียดจากการทำงานและสถานะทางการเงิน จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของตนเองจนอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพและวิธีในการเลี้ยงลูกได้
แต่ใช่ว่าการเป็นผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยวจะเป็นอย่างที่กล่าวมาข้างต้นเสียทั้งหมดนะครับ เพราะในปัจจุบันก็พบว่ารายได้ของผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยวก็เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต และหลายการศึกษาก็ยืนยันว่า การเป็นผู้ปกครองเลี้ยงเดียวอาจไม่ได้ส่งผลลบต่อพฤติกรรมและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กแต่อย่างใด หากแต่สิ่งที่สำคัญก็คือ ระดับการศึกษา ระดับรายได้ และลักษณะของผู้ปกครองที่เอื้อต่อการเลี้ยงดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งแวดล้อมในครอบครัว
ยิ่งเป็นคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ก็ยิ่งง่ายที่จะสร้างสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับลูก เพราะเรามีกันอยู่เท่านี้ และคนเพียงคนเดียวที่คอยอยู่ตรงนั้นเพื่อลูก เพื่อสร้างสายสัมพันธ์อันดี เพื่อให้ความปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อเป็น “แม่ที่มีอยู่จริง” ให้กับลูก เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นหลักยึดให้ลูกเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ
นอกจากนี้ การได้อาศัยและเติบโตในครอบครัวที่พ่อแม่หมดรักกันแล้วและมีปฏิสัมพันธ์ที่เลวร้ายระหว่างกัน ยิ่งมีการใช้ความรุนแรงต่อกัน ไม่ว่าจะด้วยทางวาจา และ/หรือร่างกาย ก็ส่งผลเสียต่อทุกคนในความสัมพันธ์นี้ แล้วสุดท้ายบาดแผลของความสัมพันธ์ที่เลวร้ายนี้จะกลับมาบั่นทอนจิตใจและอารมณ์ที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมและพัฒนาการของลูกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะพ่อแม่ที่มีสุขภาพจิตไม่ดี ย่อมเลี้ยงลูกได้ไม่ดี
ดังนั้นหากพิจารณาให้ดี ข้อจำกัดหลัก ๆ ของการเป็นผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยวจึงเป็นเพียงเรื่อง “การเงิน” และหากเราเข้าใจข้อจำกัดที่เกิดขึ้นนี้ในวันที่เราต้องกลายเป็นคุณพ่อ/คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว และหาจุดสมดุลระหว่างการทำงานหารายได้กับการเลี้ยงลูกให้สอดคล้องกับบริบทของครอบครัว กิจวัตร ที่ทำงานและลักษณะงานของพ่อแม่ รวมถึงอายุของลูกในแต่ละช่วงวัย เราจะสามารถปรับวิถีการเลี้ยงลูกให้เหมาะสมกับพ่อแม่และลูกได้