860
ลูกของเราเลี้ยงยาก จริงหรือ ? (สำหรับพ่อแม่ลูกอ่อน) 

ลูกของเราเลี้ยงยาก จริงหรือ ? (สำหรับพ่อแม่ลูกอ่อน) 

โพสต์เมื่อวันที่ : June 24, 2022

มนุษย์แต่ละคนเกิดมาแตกต่างกันตั้งแต่แรกเกิด ทั้งน้ำหนัก ความยาว หน้าตา เสียงร้อง รวมถึง ‘พื้นอารมณ์’

 

ดังนั้นเราจึงไม่ควรเอาลูกของตัวเองไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น รวมถึงอย่าเอาพี่ไปเปรียบเทียบกับน้องด้วย ดังนั้นลูกของป้าข้างบ้านก็ไม่เหมือนกับลูกของบ้านเรานะครับ คุณป้า (คิดในใจ)

 

เด็กหลายคนเกิดมาเป็นเด็กง่าย ๆ กินง่าย นอนง่าย เลี้ยงง่าย กินและนอนเป็นเวลาสม่ำเสมอ ในขณะที่เด็กหลายคนก็เกิดมาเป็น ‘เด็กเลี้ยงยาก’ บางคนยากมาก นอนยาก กินยาก กินและนอนไม่เป็นเวลา หงุดหงิดง่าย ร้องไห้เยอะ เหมือนเกิดมาเพื่อเป็นโอกาสให้พ่อแม่ได้บำเพ็ญขันติ ขนาดพระพุทธเจ้ายังตรัสไว้ว่า "ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา" หมายถึง "ขันติ เป็นยอดแห่งตบะธรรม" แต่พ่อแม่จะบรรลุตบะ หรือตบะจะแตกก่อนก็ขึ้นกับลูกเป็นหลักเลย นอกจากนี้เด็กหลายคนก็เกิดมายากบางเรื่อง ง่ายบางเรื่องที่ไม่เหมือนกัน ทั้งหมดนี้ถูกอธิบายผ่าน ‘พื้นอารมณ์’ (Temperament) ทั้ง 9 ด้านของเด็กอัน

 

พื้นฐานอารมณ์ 9 ด้าน

 

  • ระดับการเคลื่อนไหว (Activity Level)
  • ความสม่ำเสมอ (Rhythmicity or Regularity)
  • การเข้าหาหรือถอยหนี (Approach or Withdrawal)
  • ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability)
  • ความไวต่อสิ่งกระตุ้น (Threshold of Responsiveness)
  • ความรุนแรงของการตอบสนอง (Intensity of Reaction)
  • คุณภาพอารมณ์ (Quality of Mood)
  • ความไขว้เขว วอกแวก (Distractibility)
  • สมาธิและความทนทาน (Attention Span and Persistence)

หากพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ลูกของเราก็เกิดมาเป็นแบบนี้แหละ แล้วสงสัยไหมครับว่า "ลูกของเราเป็นเด็กเลี้ยงยากหรือไม่ ?"

 

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่จะสามารถตอบคำถามนี้ได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากความยากหรือง่ายนั้นขึ้นกับความคาดหวังและความชิลของพ่อแม่แต่ละคนจริง ๆ บางคนหมอซักประวัติตรวจร่างกายก็ชัดแล้วว่าเป็น ‘เด็กเลี้ยงยาก’

 

แต่พ่อแม่อาจบอกว่า "ไม่มีอะไรนะคะ โอเคอยู่ค่ะ" ในขณะที่เด็กบางคนถามทุกอย่าง ราบรื่นมาก ทั้งร้อง กิน นอน ตื่น แต่หน้าพ่อแม่เหมือนผ่านศึกสงครามมา แล้วบอกว่า "ลูกเลี้ยงยากมากค่ะ หมอ" ความยากหรือง่ายจึงขึ้นกับ "ความรู้สึก" และ "จิต" ของแต่ละคนจริง ๆ 

ความหมายของคำว่า "ยาก" ของผู้เขียนในบริบทนี้ก็คือ เด็กเลี้ยงยากที่มีความต้องการสูง หรือ high-needed baby ในทุกเรื่อง ร้องไห้เก่ง ร้องเสียงดัง เล่นใหญ่ หิวนิดร้องหนัก ฉี่นิดร้องไห้ อึก็ร้อง บางคนผายลมยังร้องไห้เลย

 

ถ้าพ่อแม่ไม่รู้ใจ ไม่มาดูแลเขา เขาก็อาจจะร้องไห้หนักขึ้นกว่าเดิม กินก็ยาก กินบ่อย กินตลอด แป๊บ ๆ ร้องไห้ กินไปแป๊บหลับ สักพักตื่น กินไปเรื่อย ๆ บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจบอกว่าลูกกินเกือบทุกชั่วโมง และเป็นที่มาของการตื่นบ่อย ตื่นตลอดเวลา นอนหลับไม่ค่อยสนิท และทั้งหมดที่กล่าวมานั้นคาดเดาได้ยากว่าเสียงร้องไห้นั้นมาจากสาเหตุใด 

 

 

ปัญหาที่เป็นที่สุดของคุณพ่อคุณแม่ของเด็กเล็กก็คือ ‘การวางนอนไม่ได้’ วางแล้วร้องไห้ทันที ต้องอุ้มตลอดเวลาจนเริ่มก่อปัญหากับพ่อแม่ ไม่ว่าจะด้านสุขภาพ (กล้ามเนื้อมือและแขนอักเสบ) และชีวิตประจำวันซึ่งผ่านความพยายามในการกล่อมหลับทุกวิถีทางไม่ว่าจะทามหาหิงส์ เปิดเพลงกล่อมเด็ก ปิดไฟจนมืด จนไปถึงการสวดมนต์และการบนบานศาลกล่าว หากใครมีลูกที่ร้องไห้มากแบบนี้บอกเลยว่า ‘ยาก’ และ ‘เหนื่อยล้า’ มากจริง ๆ 

 

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทำความเข้าใจลักษณะของลูกในแบบของเขาให้ได้ ลดความคาดหวังลง และอย่าเพิ่งท้อ ในขณะเดียวกันนั้น ลูกเองก็กำลังเรียนรู้อยู่เช่นกัน เขากำลังเรียนรู้กับโลกใบใหม่และร่างกายของเขาอยู่ ดังนั้นทุกคนก็ต้องใช้ชีวิตของตนเองด้วย คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรหมกมุ่นกับลูกเพียงอย่างเดียว ใช้ชีวิตของตัวเองด้วย คุยกับเพื่อน ออกกำลังกาย เดินรอบบ้าน รอบหมู่บ้านเท่าที่ทำได้ 

จากนั้น 'สอน' ให้ลูกเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า 'กิจวัตร' และ 'จังหวะของชีวิต' ได้แก่ ความอิ่ม ความหิว ความง่วง และ การกล่อมตัวเอง ค่อย ๆ ปรับให้ลงสมดุลกับจังหวะชีวิตของเขาและครอบครัว สิ่งที่ช่วยได้มาก ๆ ในช่วงแรกคือ สอนให้ลูกเรียนรู้ ‘กลางวัน-กลางคืน’ เพื่อให้ตื่นกลางวันมากขึ้น นอนหลับกลางคืนนานขึ้น

 

และหาวิธีที่เหมาะสมในการกล่อมให้ลูกสงบลงได้ โดยหาจุดสมดุลให้ได้ว่า "อุ้มแค่ไหน พอดีสำหรับทุกคน" และฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับการเริ่มนอนด้วยตัวเองให้ได้ ส่วนเด็กที่กินถี่ กินไปเรื่อย ก็ต้องปรับให้เป็นมื้อเป็นเวลามากขึ้นเรื่อย ๆ 

 

“ลูกเลี้ยงยาก” ก็ไม่ใช่ปล่อยให้ยากไปแบบนั้นเรื่อย ๆ เพราะจะยากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้เขียนจึงกล่าวเสมอว่า ในช่วงเวลา 3 เดือนแรกนั้นหากรู้สึกว่า “ลูกเลี้ยงยาก” นั้นคือเรื่องปกติ แต่ถ้าหลังจาก 3 เดือนชีวิตพ่อแม่ยังสาหัส แสดงว่าระยะเวลาที่ผ่านมา การเรียนรู้และปรับตัวระหว่างกันน่าจะมีปัญหาไม่น้อย เพราะจังหวะชีวิตควรลงตัว เพื่อเปิดรับพฤติกรรมใหม่ ๆ ตามวัยอื่นตามมาให้เราปรับจูนกันต่อไปอีก 

 

...”จงเชื่อให้สนิทใจว่า ไม่มีเด็กคนใดที่ ‘ยาก’ ไปตลอด ความยากจะดีขึ้นหากเราเข้าใจ”...