1315
วิถีที่จะนำไปสู่การเป็นพ่อแม่ที่ใจดีแต่ไม่ใจอ่อน (Kind but Firm)

วิถีที่จะนำไปสู่การเป็นพ่อแม่ที่ใจดีแต่ไม่ใจอ่อน (Kind but Firm)

โพสต์เมื่อวันที่ : June 14, 2022

ข้อที่ 1 “การใจดีกับลูก” ไม่เท่ากับ “การตามใจลูก”

การใจดี คือ การแสดงออกทางความรู้สึกว่า “เรารับรู้ความรู้สึกของลูก”แต่เราก็จะยืนหยัดที่จะสอนลูกในทางที่เหมาะสมต่อไป

 

“ความใจดี” จึงไม่ใช่การต้องทำให้ลูกรู้สึกดีตลอดเวลา แต่ในฐานะพ่อแม่ การใจดีมีเมตตาต่อลูกที่ดีที่สุดจึงเป็นการสอนให้เขาสามารถเติบโตขึ้นไปมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น ช่วยเหลือตัวเองได้ และรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้ โดยไม่ทำให้ใครหรือตัวเขาเดือดร้อนนั่นเอง พ่อแม่ต้องไม่กลัวว่าต้องขัดใจลูกบ้าง เพื่อสอนเขาว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม พ่อแม่ต้องไม่กลัวว่าการขัดใจลูก 

 

ข้อที่ 2 เมื่อลูกทำส่ิงที่ไม่เหมาะสม

“ความมั่นคง” ที่พ่อแม่แสดงออกไม่เท่ากับ “การลงโทษ (Punishment)” ที่รุนแรง แต่ คือ “การสอน (Teaching lessons)” ให้ลูกทำในสิ่งที่เหมาะสม

 

การไม่ใจอ่อนหรือความมั่นคง (Firm) ของพ่อแม่ ได้แก่ “การมั่นคงและไม่ใจอ่อน” ไม่ใช่ “การทำร้ายหรือลงโทษที่รุนแรง” จนทำให้เด็กเกิดความหวาดกลัว แต่ “การมั่นคงและไม่ใจอ่อน” คือ “การสอนและยืนหยัดในสิ่งที่เหมาะสม” แม้สิ่งที่เรายืนหยัดให้เขาทำจะไม่ถูกใจเด็ก แต่เป็นสิ่งที่ถูกต้องและทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

ข้อที่ 3 ปล่อยอิสระ แต่ไม่ปล่อยปละละเลย

สิ่งสำคัญของขั้นนี้ คือ "พ่อแม่ต้องคาดหวังลูกตามวัย” และ “ไม่ควรดูถูกศักยภาพของเด็ก” วางใจในตัวลูกให้เขาทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมและความใจถึงของพ่อแม่ พ่อแม่ควรสอนให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง และเชื่อใจให้ลูกทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองตามวัย ไม่ใช่ปกป้องเขาจนเกินเหตุ และไม่ยอมให้เขาทำในสิ่งที่เขาควรทำได้ตามวัย 

 

  • “อิสระ” ไม่ได้แปลว่า “ปล่อยให้ลูกทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ”
  • “อิสระ” แปลว่า “ปล่อยให้ลูกได้ทำสิ่งต่าง ๆ อย่างอิสระภายใต้ขอบเขตที่เราตกลงร่วมกัน หรือ ที่สังคมนั้นกำหนดไว้”

 

 

สรุป "การเลี้ยงดูเชิงบวกแบบใจดีแต่ไม่ใจอ่อน" คือ การที่พ่อแม่เลี้ยงดูลูกโดยคาดหวังให้เขาทำในสิ่งที่เหมาะสมกับวัย และสิ่งที่จำเป็นต่อคุณภาพชีวิตของลูก โดย พ่อแม่ได้กำหนดขอบเขตข้อจำกัดชัดเจน (Boundary setting) จากการตั้งกติกาของครอบครัวร่วมกัน ได้แก่ กฏ 3 ข้อ (ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำร้ายตนเอง ไม่ทำลายข้าวของ) และการกำหนดหน้าที่ที่ลูก(และทุกคนในบ้าน)ต้องรับผิดชอบให้ชัดเจน เช่น กิจวัตรประจำวัน งานบ้าน และการบ้าน เป็นต้น ขอบเขตนี้จะเป็นตัวกำหนดว่า เราจะไม่ปล่อยปละละเลยให้ลูกทำตามใจในทางที่ไม่เหมาะสมได้

แม้ว่าจะต้องขัดใจลูกบ้าง พ่อแม่จะไม่หลีกเลี่ยงการขัดใจนั้น และยืนหยัดที่จะสอนหรือให้ลูกทำในสิ่งที่เขาจำเป็นต้องทำ โดยไม่ใช้การลงโทษที่รุนแรง แต่ใช้ “ความสงบ ชัดเจน และการกระทำ” ในการบอกให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่อดทนเพียงพอที่จะสอนเขา ว่า “ให้ทำ” หรือ “ไม่ให้ทำ” สิ่งใด เราสามารถสอนเขาได้ทุกครั้งที่เขาทำผิด เรายืนหยัดเสมอ และไม่ปล่อยโอกาสที่จะสอนเขา ไม่ว่าเขาจะทำผิดครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ตาม

 

สุดท้าย การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ รากฐานที่สำคัญ คือ “ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับลูกผ่านการมีเวลาคุณภาพกับเขา" เมื่อความสัมพันธ์แน่นแฟ้น เรากับลูกผ่านทุกขั้นไปด้วยกันได้อย่างราบรื่น หากปราศจากซึ่งสายสัมพันธ์นี้ “พ่อแม่จะไม่มีอยู่จริง” เสียงของเราอาจจะเข้าไปไม่ถึงหัวใจของลูก