1194
“9 รูปแบบการเล่น” ช่วยให้เด็ก ๆ เติบโตทั้งภายในและภายนอก

“9 รูปแบบการเล่น” ช่วยให้เด็ก ๆ เติบโตทั้งภายในและภายนอก

โพสต์เมื่อวันที่ : June 26, 2022

"การเรียนรู้ของเด็ก (โดยเฉพาะในเด็กเล็ก)" เท่ากับ “การเล่น” และ “การเล่น" เท่ากับ “การเรียนรู้” เพราะ "การเล่น" เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก ๆ

 

ที่สำคัญเด็ก ๆ ควรเล่นอย่างเพียงพอ โดยเฉลี่ยอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงต่อวัน (จะแบ่งเวลาเล่นเป็นครั้งละ 30 นาที-1 ชั่วโมง เช้า กลางวัน เย็น ก็ทำได้เช่นกัน) เมื่อใดที่เด็ก ๆ เล่น พวกเขาได้เรียนรู้ นอกจากนี้การเล่นยังเป็นการเตรียมร่างกายทั้งสมอง และกล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่ให้พร้อมสำหรับการใช้งานในการเรียนรู้ขั้นต่อไป เด็กที่ได้เล่นอย่างเพียงพอและเหมาะสมกับวัย ช่วยให้เด็ก ๆ สามารถพัฒนาการควบคุมร่างกายภายนอกของตัวเอง และนำไปสู่การควบคุมตัวเองจากภายใน ซึ่งช่วยให้พวกเขามีสมาธิที่เพียงพอต่อการจดจ่อเพื่อเรียนรู้ในขั้นต่อ ๆ ไป

แม้จะให้เด็ก ๆ เล่นอย่างอิสระ แต่อย่าลืมกำหนดขอบเขตและตั้งกติกาให้ชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่ม กติกาสำคัญที่ทุกบ้านควรมีก่อนปล่อยให้เด็ก ๆ ไปเล่น ได้แก่...

  • 1. กฎ 3 ข้อ ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น และไม่ทำลายข้าวของ
  • 2. เล่นแล้วเก็บให้เหมือนเดิม หรือ เล่นแล้วต้องช่วยกันทำความสะอาดด้วย
  • 3. บริเวณที่เล่นคือ ของเล่นที่เล่นได้จะอยู่ในบริเวณดังกล่าว

 

เพียงเท่านี้เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ที่จะสร้างสรรค์อย่างอิสระ แต่ไม่ลืมที่จะรับผิดชอบต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเขาด้วย

 

“9 รูปแบบการเล่น” ช่วยให้เด็ก ๆ เติบโตทั้งภายในและภายนอก

 

✚ 1) เล่นกับธรรมชาติ ✚

เล่นน้ำ เล่นทราย เล่นขุดดิน เล่นโคลน เล่นต่อก้อนหิน เล่นปีนต้นไม้ เล่นทำกับข้าวจากใบไม้ใบหญ้า เล่นสำรวจธรรมชาติ ฯลฯ การเล่นกับธรรมชาติส่งเสริมทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่ การปรับตัว จินตนาการ การทดลอง การเข้าใจสัญลักษณ์ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่การเข้าใจเหตุผลในวัยถัดมา

 

✚ 2) เล่นเคลื่อนไหวร่างกาย ✚

คลานไปใต้โต๊ะ ทำทีเป็นมุดเข้าไปในอุโมงค์ วิ่งสุดแรง เพื่อหนีจากจระเข้ เดินบนสะพาน เพื่อข้ามแม่น้ำ ปีนป่ายต้นไม้ และเครื่องเล่นในสนาม ขี่จักรยาน ไถสกุ๊ตเตอร์ โยนรับบอล โยนบอลลงตระกร้า เตะฟุตบอล การเคลื่อนไหวร่างกายนอกจากทำให้เด็ก ๆ ได้ระบายแรงที่มีอยู่ล้นเหลือของพวกเขาแล้ว ยังทำให้สมองของพวกเขาได้รับการพัฒนา ทำให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้อีกด้วย เมื่อถึงวัยที่เข้าใจกติกาอย่างง่าย ณ จุดนี้ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้และความพร้อมของเด็กแต่ละคน 

✚ 3) เล่นกับสี ✚

เล่นสีน้ำ สีเทียน สีไม้ สีจากธรรมชาติ และสีต่าง ๆ การเล่นกับสีเด็ก ๆ จะได้ขีดเขียนตามใจชอบ เขาได้นำถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก จินตนาการออกมาทางภาพ เราไม่ควรใช้ผลลัพธ์ คือ ภาพที่สวยงานเป็นตัวตั้ง เวลาเด็ก ๆ ขีดเขียน เราจะเห็นความคิดภายในและตัวตนของพวกเขา เด็ก ๆ เองก็เช่นกันเมื่อถึงวัยที่พวกเขาเข้าใจนามธรรมมากพอ พวกเขาจะได้มีโอกาสรู้จักกับตัวเองมากขึ้นผ่านสิ่งที่เขาขีดเขียนออกมา

 

✚ 4) เล่นของเล่นอิสระ (Free form) ✚

บล็อกไม้ ดินน้ำมันหรือแป้งโดว์ ตัวต่อหรือเลโก้ ไม้ไอศครีม กล่องลัง ขวดน้ำ และของเล่น หรือ อาจจะเป็นสิ่งต่าง ๆ ภายในบ้าน ทั้งอุปกรณ์และของเหลือใช้ใดก็ได้ที่ไม่ได้กำหนดมาตั้งแต่ต้นว่าต้องเป็นอะไร เพื่อให้เด็ก ๆ ได้สร้างสรรค์ผลงาน และใช้จินตนาการอย่างเต็มที่

 

ยกตัวอย่างเช่น

  • เด็ก ๆ อาจจะสมมติให้รีโมทเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องคิดเลขเป็นโทรศัพท์ของพวกเขา
  • เด็ก ๆ อาจจะใช้แกนกระดาษทำเป็นไมค์โครโฟนสำหรับร้องเพลง
  • เด็ก ๆ อาจจะใช้กล่องลังมาทำเป็นบ้านของพวกเขา
  • เด็ก ๆ อาจจะนำกระดาษมาพับเป็นรถเป่าแข่งกัน
  • เด็ก ๆ อาจจะนำหมอน ผ้าห่ม โต๊ะ และเก้าอี้ มาทำเป็นฐานทัพของพวกเขา

✚ 5) เล่นบทบาทสมมติ ✚

ก่อนวัยเล่นบทบาทสมมติ เราสามารถเล่น "จ๊ะเอ๋ (Peekaboo) กับเด็กเล็ก ๆ ได้ ส่วนในวัยที่เริ่มบทบาทสมมติได้ ได้แก่ ในเด็กวัย 2-3 ปีขึ้นไป เด็กจะเริ่มพูดกับตัวเอง (Self-talk) เพื่อบรรยายสิ่งที่เขาทำหรือเล่น บทบาทสมมติค่อย ๆ เริ่มขึ้น ณ เวลานั้น เด็ก ๆ จะเล่นเลียนแบบการการทำงานหรือทำกิจกรรมของผู้ใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น เล่นพ่อแม่ลูก เล่นทำกับข้าว เล่นเลี้ยงน้อง เล่นขับรถ เล่นเป็นคุณครู ฯลฯ การเล่นบทบาทสมมติทำให้เด็ก ๆ ได้ใช้จินตนาการ และการเลียนแบบ ซึ่งนำไปสู่พัฒนาการด้านการสื่อสารและการเข้าสังคมในเวลาต่อมา

 

✚ 6) เล่นทำงานบ้าน ✚

การเล่นทำงานบ้าน คือ การเล่นที่ได้เลียนแบบการทำงานของผู้ใหญ่ เราสามารถให้เด็ก ๆ เล่นทำงานบ้านคู่ขนานไปกับการทำงานบ้านจริง ๆ ของเราได้ เช่น เล่นล้างผักหั่นผัก ซาวข้าวหุงข้าว ขณะที่ช่วยแม่ทำกับข้าว เล่นน้ำ เล่นฟองสบู่ ขณะที่ช่วยพ่อล้างรถ เล่นนำ้ เล่นถอนหญ้า เรียงหิน ขณะที่ช่วยเรารดน้ำต้นไป เป็นต้น นอกจากเด็ก ๆ ได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่แล้ว เด็กยังได้เรียนรู้การทำงานบ้าน และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอีกด้วย

 

✚ 7) เล่นกับพ่อแม่ และเล่นกับเพื่อน ✚

เพื่อนเล่นที่ดีที่สุดที่บ้าน คือ พ่อแม่ของพวกเขา ลูกเล่นกับพ่อแม่เพื่อสร้างความสัมพันธ์ สร้างพ่อแม่ที่มีอยู่จริงและลูกที่มีอยู่จริง นอกจากนี้เมื่อเด็ก ๆ ถึงวัยเข้าโรงเรียน การเล่นกับเพื่อน ๆ หรือเด็กวัยใกล้เคียงกัน จะช่วยส่งเสริมทักษะการเข้าสังคมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการสื่อสาร รู้จักเจรจาต่อรอง ประนีประนอม

✚ 8) เล่นเกมตามกติกา ✚

เล่นบอร์ดเกม หรือ เกมกระดานต่าง ๆ เช่น บันไดงู เกมเศรษฐี หมากฮอส หมากเก็บ เป็นต้น

การเล่นที่มีกติกาที่ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น เล่นซ่อนแอบ เล่นแปะแข็ง เล่นตบแปะ เล่นโดดยาง เป็นต้น

การเล่นเกมตามกติกาทำให้เด็ก ๆ ได้ฝึกฝนการทำตามกติกาของสังคม การยอมรับผลแพ้-ชนะ การให้เคารพตัวเองและผู้อื่น และการสื่อสารอย่างเหมาะสม

 

✚ 9) เล่นกับดนตรี ✚

บางครั้งการเล่นดนตรี ทำให้เด็ก ๆ ได้รู้จักโลกอีกใบที่เต็มไปด้วยความอัศจรรย์ ทุกครั้งที่เด็ก ๆ ทำให้เสียงดนตรีดังออกมาจากเครื่องดนตรี หรือ เปล่งเสียงร้องออกมา พวกเขาจะรู้สึกราวกับว่า “ตัวเองมีเวทมนตร์” ดนตรี ไม่ได้เพียงพัฒนาทักษะทางด้านดนตรีของเด็ก ๆ เพียงอย่างเดียว เพราะดนตรีได้ช่วยพัฒนาทักษะที่สำคัญ ทั้งการฟัง การสังเกต การจำ และการสร้างสรรค์อีกด้วย

 

เมื่อเด็ก ๆ เล่นดนตรี พวกเขาได้เรียนรู้เรื่องวินัย และการฝึกฝน ทั้งนี้ ผู้ใหญ่ต้องไม่คาดหวังเกินวัย และไม่คาดหวังผลลัพธ์เป็นสำคัญ เพราะกระบวนการเรียนรู้ระหว่างทางที่เกิดขึ้นและความพยายามของเด็ก คือ สิ่งสำคัญที่สุดที่เราควรมองเห็น และให้การชื่นชมสนับสนุน

 

 

คำแนะนำสำหรับพ่อแม่ พ่อแม่และผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องกังวลว่า เด็กๆ ต้องเล่นให้ครบทุกรูปแบบที่นำเสนอในบทความนี้ในหนึ่งวัน หรือ เด็กต้องทำให้ครบทุกอย่าง เพราะบทความต้องการแค่เพียงนำเสนอรูปแบบการเล่นที่ช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ เกิดการเติบโตทั้งภายในและภายนอก

 

ดังนั้นไม่ว่าเด็ก ๆ จะเล่นในรูปแบบใด ขอเพียงพวกเขาริเริ่มอยากที่จะเล่นด้วยตัวพวกเขาเอง โดยในช่วงแรกผู้ใหญ่อย่างเราช่วยนำเสนอการเล่นรูปแบบต่าง ๆ ให้เด็ก ๆ ได้รู้จัก และชวนพวกเขามาเล่น เมื่อพวกเขารู้จักการเล่นในรูปแบบต่าง ๆ แล้ว เด็ก ๆ หลายคนสามารถพัฒนาการเล่นในแบบของตัวเองได้เอง

การเล่นหนึ่งครั้ง อาจจะมีการเล่นหลายรูปแบบรวมกันอยู่ และการเล่นบางรูปแบบทำให้พัฒนาไปสู่การเล่นขั้นสูง ซึ่งพัฒนาเป็นองค์ความรู้และประสบการณ์สะสมในตัวเด็ก ๆ ต่อไปได้

 

สุดท้าย การเล่นทำให้เด็ก ๆ ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้โลกภายนอก และในขณะเดียวกันการเล่นยังช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้โลกภายในตัวเองมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ทุกครั้งที่เด็ก ๆ เล่น หลายสิ่งหลายอย่างค่อย ๆ เติบโตขึ้นภายในตัวเขาอย่างเงียบ ๆ บ่อยครั้งเราจึงพบว่า บางสิ่งที่งดงามเกิดขึ้นเมื่อเด็ก ๆ เล่น