125
เมื่อลูกมีพัฒนาการช้า

เมื่อลูกมีพัฒนาการช้า

โพสต์เมื่อวันที่ : June 20, 2022

"เวลาแห่งการเป็นเด็ก" เป็นเวลาอัน “แสนสั้น” ที่เด็ก ๆ จะเรียนรู้และพัฒนาคุณลักษณะสำคัญ ต่อการเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข

 

เวลาแห่งความเป็นเด็ก…

  • ...เป็นเวลาแห่งการ “ก่อร่างสร้างตัวตน” ผ่านการมีสายสัมพันธ์อันมั่นคง
  • ...เป็นเวลาแห่งการพัฒนา excutive function ของสมอง (EF) ได้แก่ ความจำใช้งาน การควบคุมตนเอง ความคิดยืดหยุ่น 
  • ...เป็นเวลาแห่งการพัฒนาความนับถือตนเอง ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิต

มันไม่ใช่เวลาแห่งการจะแข่งว่าใครอ่านได้เร็ว เขียนได้เก่ง นับเลขได้ก่อน แต่เป็นเวลา ที่เด็ก ๆ จะเรียนรู้ที่จะพัฒนา “ตามจังหวะ” ของตัวเอง ทำได้ก่อน...ไม่ได้แปลว่าดีกว่า ทำได้ช้า…ไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นปัญหาหรือพัฒนาไม่ได้

 

เด็กทุกคนมีจังหวะในการก้าวและจังหวะการพัฒนาในแบบของตัวเอง ดังนั้นแนวคิดสำคัญของการเป็นพ่อแม่ที่มีลูกพัฒนาการที่อาจจะช้ากว่าวัย

 

✚ 1. มีความคาดหวังที่เหมาะสม ✚

อย่าคาดหวังว่าลูกต้องทำอะไรได้เร็วกว่าพัฒนาการตามวัย ไม่เร่งให้รีบมีพัฒนาการที่ก้าวหน้า การทำได้ก่อน ไม่ได้แปลว่าดีกว่า เก่งกว่า หรือชีวิตจะมีความสุขมากกว่า ในขณะเดียวกันถ้าลูกมีพัฒนาการช้ากว่าวัย สิ่งที่ต้องทำคือการมองหาสาเหตุ ไม่สิ้นหวัง ไม่ถอดใจ

✚ 2. โอบรับกับความแตกต่างหลากหลาย ✚

การประเมินพัฒนาการเป็นการประเมินความสามารถและทักษะบางอย่าง ไม่ใช่ทั้งหมด และเป็นการประเมินอ้างอิงค่าเฉลี่ยตามวัย เด็กแต่ละคนอาจจะมีสิ่งที่ถนัด หรือสิ่งที่ทำได้ดี ในอายุที่ไม่เท่ากัน หรือทำได้ในเวลาเร็วช้าต่างกัน บางความถนัดอาจจะไม่ได้ถูกนำมาวัดเป็น ดังนั้นการเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย ทำให้เราเป็นพ่อแม่ที่สงบได้มากขึ้น

 

✚ 3. การช้าในบางเรื่อง ไม่ได้แปลว่าชีวิตจะไม่ได้เรื่อง ✚

เด็กบางคนอาจจะเกิดมากับการมีความบกพร่องหรือมีความล่าช้าของพัฒนาการบางอย่างจริง ๆ การเข้าใจและยอมรับด้วยความเชื่อมั่น ว่าชีวิตไม่จำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้ในทุกรูปแบบ อาจจะมีทักษะบางอย่างที่ลูกของเราล่าช้า แต่ก็อาจจะมีทักษะบางอย่างที่ลูกของเราทำได้ดีและพัฒนาได้ มองหาทักษะเหล่านั้นและพัฒนามันให้ดีมากขึ้น

 

✚ 4. ไม่ลดทอนคุณค่าของลูก ✚

เด็กหลายคนที่มีพัฒนาการล่าช้ามักจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง กลุ้มใจ รวมไปถึงรู้สึกว่าทำให้พ่อแม่ขาดความภาคภูมิใจ เด็กหลายคนรู้สึกเหมือนตัวเองไม่มีคุณค่า เติบโตมากับความนับถือตัวเองที่ต่ำ รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอการที่พ่อแม่มีความเข้าใจและชื่นชมในสิ่งที่ลูกทำได้ดีไม่ลดทอนคุณค่าและตัวตนของลูก จะช่วยให้รู้พัฒนาความนับถือตัวเองที่ดี

 

✚ 5. หาสาเหตุเพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ถูกต้อง ✚

เช่น เด็กหลายคนมีพัฒนาการทางภาษาที่ล่าช้า เพราะถูกปล่อยไว้กับจอทีวีในระยะเวลานาน เด็กหลายคนกล้ามเนื้อมัดใหญ่ไม่แข็งแรงเพราะพ่อแม่ค่อยอุ้มอยู่เสมอ การมองหาที่มาจะได้ช่วยให้เราแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น

✚ 6. ทำซ้ำ ๆ ฝึกสม่ำเสมอ ✚

การลงมือทำซ้ำ ๆ จะช่วยพัฒนาทักษะของสมอง และทำให้พัฒนาการบางอย่างที่ล่าช้า สามารถพัฒนาได้ดีขึ้น

 

✚ 7. ปรึกษาแพทย์ในเวลาที่เหมาะสม ✚

อย่าลังเลใจที่จะรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ปัญหาบางอย่างถ้าแก้ไขได้เร็ว จะช่วยทำให้พัฒนาการดีขึ้น มากกว่าการปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน