การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
พ่อแม่หลายท่านมาปรึกษาหมอ เพราะกังวลใจเมื่อเห็นลูกไม่ยอมเดินเหมือนเด็กคนอื่น ๆ เป็นห่วงว่าลูกอาจมีพัฒนาการที่ผิดปกติ วันนี้หมอขอเล่าพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่ควรมาตามลำดับ ดังนี้...
❤︎ ช่วงอายุ 3 - 4 เดือน ❤︎
ในท่านอนคว่ำ เด็กใช้แขนยันตัวเองหน้าอกพ้นพื้นได้เล็กน้อย เป็นการฝึกกล้ามเนื้อลำตัวให้แข็งแรงเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการนั่งและยืนต่อไป
❤︎ ช่วงอายุ 5 เดือน ❤︎
เด็กจะถีบตัวขึ้น - ลงบนพื้น เวลาที่คุณแม่ประคองลำตัวไว้ เป็นการฝึกกล้ามเนื้อขาให้แข็งแรง
❤︎ ช่วงอายุ 6 ถึง 10 เดือน ❤︎
เด็กเรียนรู้การนั่งเองโดยไม่ล้ม และคลานได้ เป็นการฝึกระบบการทรงตัวของร่างกายและฝึกการเคลื่อนไหวที่ต้องประสานกันทั้งซ้ายและขวาของแขนขา
❤︎ ช่วงอายุ 9 ถึง 15 เดือน ❤︎
เด็กจะเหนี่ยวตัวเองขึ้นยืน เกาะเดิน และเริ่มตั้งไข่ เป็นการฝึกสร้างสมดุลของลำตัว เมื่อต้องยืนและเคลื่อนที่ในแนวตั้ง
❤︎ ช่วงอายุ 14 ถึง 15 เดือน ❤︎
เด็กจะเดินปล่อยมือแม่เป็นช่วง ๆ จนในที่สุดก็เดินเองเลย ในช่วงนี้พ่อแม่ต้องมั่นใจในตัวลูก อย่าบังคับลูก อย่าเครียดด้วยค่ะ เพราะลูกอาจไม่ยอมเดินเพราะรู้สึกไม่สนุก ทั้ง ๆ ที่พัฒนาการปกติดี
เราจะเห็นว่า เด็กใช้เวลาขวบปีแรกในการฝึกฝนกล้ามเนื้อและระบบการทรงตัวของร่างกาย โดยพ่อแม่ทำหน้าที่จัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมคือ มีพื้นที่สำหรับให้ลูกคลาน ให้ลูกอยู่เล่นบนพื้นสลับกับยืนเล่นบ่อย ๆ ไม่อุ้มติดมือ เด็ก ๆ ก็จะพัฒนาไปได้เอง พ่อแม่แทบไม่ต้องกระตุ้นอะไรเลยค่ะ
แต่พอถึงช่วงหัดเดิน ประมาณ 1 ปี ช่วงนี้เด็กรู้เรื่องมากขึ้น เด็กเองก็กลัวล้มหากต้องก้าวขาแล้วปล่อยมือแม่นะคะ ดังนั้น พ่อแม่ควรทำบรรยากาศการหัดเดินให้สนุก จะร้องเพลงหรือปรบมือเชียร์ก็ได้ แต่อย่าบังคับเดินและอย่าเครียด เพราะบรรยากาศตึง ๆ ไม่ช่วยให้ลูกสบายใจขึ้นเลย เสียงและสีหน้าพ่อแม่ที่สนุกสนานต่างหาก จะช่วยเบี่ยงเบนความกลัวลูก ทำให้ลูกลืมกลัวและก้าวเท้าออกมาได้ในที่สุด
หมอแนะนำเทคนิคกระตุ้นลูกก้าวเดินง่าย ๆ แบบนี้นะคะให้คุณแม่ยืนเข่าอยู่ตรงข้ามลูก แล้วจับมือทั้งสองข้างลูกไว้ ค่อย ๆ ถอยหลังที (พอเราถอยลูกจะเขยิบตาม) สบตาและยิ้มกับลูกไว้นะคะ ลูกจะค่อย ๆ ก้าวเท้าออกมาข้างหน้าเองค่ะ
แต่หากลูกไม่ยอมขยับตัวเลย (เขากลัวล้มนะคะ) ให้พ่อแม่ร้องเพลงหรือคุยกับลูกอย่างสนุกสนานมากขึ้น (เล่นใหญ่เลยค่ะ) เพื่อให้ลูกจดจ่อสีหน้าคุณแม่แทน เมื่อลูกเชื่อมโยง (connect) กับแม่แล้ว ความเชื่อมั่น (Trust) ในตัวคุณแม่ จะช่วยให้ลูกค่อย ๆ ก้าวเท้าออกมาเองค่ะ เย้ ๆ สำเร็จแล้ว ลูกก้าวเท้าออกมาแล้ว หายกลัวแล้ว
ส่วนกรณีที่ลูกชอบยกขาขึ้น เวลาแม่จะฝึกเดิน ก็ทำตามที่แนะนำข้างต้นคืออยู่ตรงข้ามลูก แต่ครั้งนี้ให้เริ่มที่ท่านั่งก่อน และคุณแม่ก็สบตาร้องเพลงกับลูกได้เลย ทำจนลูกจดจ่อกับแม่ได้ดี (connected แล้ว) คุณแม่ก็ค่อย ๆ ยืดตัวขึ้นเป็นท่ายืนเข่าพร้อมทั้งยกตัวลูกขึ้นเป็นท่ายืน แล้วค่อย ๆ ถอยหลัง ความมั่นใจในตัวคุณแม่ (Trust) จะทำให้ลูกลืมกลัว ลืมการงอแง ไม่ยกขาขึ้น ลูกจะค่อย ๆ ก้าวเท้าออกมา เมื่อแม่ถอยหลังได้เองค่ะ เย้ ๆ ลืมงอแงแล้วมาโฟกัสการเดินได้แล้ว
โดยทั่วไปเด็กจะเดินได้เองที่อายุ 1 ปี แต่หากบ้านไหนที่ลูกยังไม่เดิน ลองสังเกตว่า เราจัดพื้นที่ให้ลูกได้เล่นกับพื้นสลับกับยืนเล่นบ้างมั้ย หรืออุ้มติดมือไปแล้ว.... และเราได้ฝึกลูกเดินด้วยวิธีสนุกสนาน มีการเชื่อมโยงกับลูกหรือไม่ ?
ที่หมอพบบ่อย ๆ คือ เด็กมีพัฒนาการปกติ แต่ที่บ้านไม่ได้จัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาลูก อุ้มเยอะและพ่อแม่เชื่อมโยงกับลูกน้อย มักเน้นวิธีฝึกที่ซีเรียสมากไป ลองปรับเปลี่ยนวิธีใหม่นะคะ
แต่หากลูกอายุ 15 เดือนขึ้นไปแล้วยังไม่ปล่อยมือเดินเอง ไม่ต้องรอปรับเปลี่ยนแล้วค่ะ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อประเมินพัฒนาการเลย รวมทั้งหากลูกมีพัฒนาการด้านอื่นช้าด้วย เช่น ไม่ค่อยเล่นเสียง ไม่ค่อยใช้มือหยิบจับ ไม่ค่อยสบตาคน แนะนำว่าพบแพทย์เลยเช่นกัน
ปล. อย่าใช้รถหัดเดินเด็ดขาด เพราะนอกจากไม่ช่วยให้เดินเร็วขึ้น (และอาจเดินช้าลงในบางราย) ยังทำให้เกิดอุบัติเหตุ อันตรายถึงชีวิตด้วย