115
ลูกติดเกมส์ช่วยอย่างไรดี

ลูกติดเกมส์ช่วยอย่างไรดี

โพสต์เมื่อวันที่ : September 9, 2022

..."ตอนนี้น้องอยู่ ป.6 ไม่ยอมไปโรงเรียน ติดโทรศัพท์หนักมาก มีอาการต่อต้าน อ่านในเพจคุณหมอแนะนำ ให้ยอมรับลูกและสร้างให้ลูกมีตัวตน แต่แม่ต้องทำอย่างไรคะ ?"... ชื่นชมคุณแม่ที่พยายามหาวิธีสร้างลูกให้มีตัวตน เพื่อลดการต่อต้าน หมอแนะนำแบบนี้ค่ะ

 

❤︎ 1. สังเกตว่าลูกถนัดทำอะไร แล้วชวนลูกทำสิ่งนั้น ❤︎

ซึ่งบางทีถามลูกเลยก็ได้ แต่หากลูกไม่สนใจตอบ ก็ต้องค่อย ๆ นึกเองว่าตั้งแต่เด็ก ๆ ลูกถนัดทำอะไร ซึ่งสิ่งนั้นทำได้ค่อนข้างดีกว่าอย่างอื่น ๆ

 

อย่างเช่น ลูกอาจถนัดพวกกิจกรรมที่มีการเคลื่นไหว อย่างพวกกีฬา ลูกได้วิ่งทีไร เขาก็ทำได้ดีและมีความสุข แบบนี้ เราก็ชวนลูกวิ่ง หรือถ้าไม่มีที่วิ่งก็ลองชวนตีแบดหน้าบ้าน เป็นต้น หรือถ้าลูกเป็นแนวชอบเอาของมาต่อ ๆ หรือเป็นพวกประดิษฐ์ ก็ชวนลูกประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ ถ้าพ่อแม่นึกไม่ออกว่าจะชวนทำอะไร ก็เปิดยูทูบหาความรู้เพิ่มเติม แล้วไปซื้ออุปกรณ์เตรียมไว้ หรือจะชวนไปซื้อด้วยกันก็ได้ เด็กหลายคนชอบตอนซื้อของ ก็จะสนใจมากขึ้น

 

ประเด็นคือ เราต้องรู้ว่าลูกถนัดอะไร ถึงจะมีแรงดึงดูดมากพอที่จะให้ลูกออกจากหน้าจอ และสิ่งที่ลูกทำได้ถนัดนั้น เมื่อเขาได้ลงมือทำ พ่อแม่ชื่นชม เขาจะภาคภูมิใจและอยากทำต่อไปได้เรื่อย ๆ ไม่ใช่ทำประเดี๋ยวประด๋าว แล้วเลิก หันไปเล่นเกมส์ต่อดีกว่า

 

❤︎ 2. ท่าทีของคุณพ่อคุณแม่เวลาชวนทำกิจกรรม ❤︎

เราต้องชวนให้สนุกหรือน่าสนใจ ไม่ใช่สั่งลูกให้ไปทำอย่างอื่นด้วยความโกรธ ไม่เช่นนั้น ลูกจะยิ่งต่อต้านถึงแม้จะชอบกิจกรรมนั้นมากแค่ไหนก็ตาม

 

ยกตัวอย่างคำพูดที่ไม่ควรใช้ “ไปทำอย่างอื่นบ้าง อยู่แต่หน้าจอทั้งวัน สายตาเสียหมดแล้ว ไป ๆ ๆ” หรือ “ต้องรอให้โมโหใช่ไหม ถึงจะหยุดเล่นเกมส์ อยากให้แม่เป็นยักษ์ไหม ? ไปทำอย่างอื่นเดี๋ยวนี้”

 

ส่วนใหญ่ลูกยอมไปให้ค่ะ แต่สักพักก็จะแอบมาเล่นเกมส์อีก แต่หากโตเป็นวัยรุ่น ส่วนใหญ่ไม่ยอมแล้วนะคะ ลูกจะต่อต้านความโกรธของพ่อแม่ อาจปิดประตูล็อคห้อง, ไม่กลับบ้าน, ค้างบ้านเพื่อน, ฯ ปัญหาอื่น ๆ ตามมาเป็นพรวน

 

หมอขอแนะนำคำพูดที่ควรใช้ “แม่ไปเจอยูทูบสอนประดิษฐ์ของเหลือใช้ให้เป็นตู้เก็บของ น่าสนใจดีมาก เรามาลองทำกันไหม เอาแบบที่ลูกชอบเลย ไม่ต้องสนใจว่าทำเหมือนไม่เหมือน เอาตามจินตนาการเลยลูก ไป ไปซื้อของกัน แม่เห็นกล่องตัวอย่างแบบนี้ที่ห้าง ฯ ไปซื้อวันนี้หรือพรุ่งนี้ดี แล้วมาช่วยกันทำ” เมื่อเราต้องการสร้างลูกให้มีตัวตนในเชิงบวก เราก็ต้องใจเย็น ๆ ในการชักชวนนะคะ

 

❤︎ 3. ช่วงทำกิจกรรมกับลูก ❤︎

พ่อแม่ควรหาเวลาที่ว่างจริง ๆ เพราะลูกต้องการพ่อแม่ที่ใส่ใจลูกแบบมีความสุข ไม่ตึงเครียด ยิ่งกระตือรือร้นด้วยยิ่งดี ไม่เนือย ๆ เบื่อ ๆ เหมือนทำตามหน้าที่ค่ะ

 

พ่อแม่ควรอยู่ร่วมทำกิจกรรมกับลูกจนเสร็จ หรืออยู่ให้นานมากพอนะคะ ช่วงที่ทำกิจกรรมก็ต้องคอยจับถูกและชื่นชมลูก แสดงภาษากายที่อบอุ่น ปลอดภัย เช่น มีสีหน้ายิ้มแย้ม ผ่อนคลาย หรือตื่นเต้นไปตามกิจกรรมที่ทำ ลูกจะรู้สึกต่อตนเอง และรู้สึกดีต่อพ่อแม่ เป็นเวลาคุณภาพที่สามารถสร้างตัวตนลูกในเชิงสร้างสรรค์ และยังช่วยให้สัมพันธภาพต่อกันดียิ่งขึ้น เมื่อเด็กมีตัวตนบนโลกแห่งความจริง และพ่อแม่แสดงออกว่ายอมรับ ลูกก็ไม่ต้องพยายามสร้างตัวตนในโลกออนไลน์อีกต่อไป

 

สำหรับคุณแม่ที่ถามมา ลูกป.6 หมอยังลุ้นว่าวิธีที่หมอแนะนำจะดึงลูกกลับมาได้อยู่นะคะ อย่ารอให้ขึ้นมัธยมแล้วมาแก้ โดยเฉพาะช่วง ม.2 หรือ ม.3 เด็กจะเปลี่ยนเยอะมาก พ่อแม่มักปรับใจไม่ทัน วิธีที่หมอบอกมักไม่ได้ผล ส่วนใหญ่ต้องให้แพทย์ช่วย ถึงจะพอได้ผลอยู่ค่ะ

ขอให้บอกตัวเองไว้ล่วงหน้าเลยว่า ไม่ง่าย บอกเพื่อให้เราคาดหวังตามจริง อย่าใจร้อนเด็ดขาด เมื่อลูก และเรามีสัมพันธภาพต่อกันดีขึ้น เรายอมอุทิศตัวสร้างเวลาคุณภาพกับลูก สร้างตัวตนลูก เมื่อนั้นลูกจะยอมรับพ่อแม่ และสนใจฟังพ่อแม่ เราถึงจะชวนลูกกลับไปสู่การเรียนอย่างเต็มใจได้ค่ะ เป็นกำลังใจให้นะคะ