788
ลูกโวยวาย ตีคน (พ่อแม่ต้อวคาดหวังให้ตนเองสงบ แทนการคาดหวังให้ลูกสงบเร็ว ๆ )

ลูกโวยวาย ตีคน (พ่อแม่ต้อวคาดหวังให้ตนเองสงบ แทนการคาดหวังให้ลูกสงบเร็ว ๆ )

โพสต์เมื่อวันที่ : September 8, 2022

 

..."ทำอย่างไรดีคะคุณหมอ ลูกพออายุ 4ขวบ ชอบร้องไห้ กรี๊ด ตีทุกคนในบ้าน ล่าสุดตบหน้าแม่ 4-5ครั้ง แม่ควรทำตัวยังไง แม่ฟิวขาด จับมือมาตีไป 4-5 ทีค่ะ"...

 

คำถามลักษณะนี้มาบ่อยมากค่ะ หมอคิดว่าผู้ปกครองคงตกใจที่ลูกก้าวร้าวใส่พ่อแม่ และหลายคนอาจคิดไกลไปถึงขั้นลูกก้าวร้าวต่อเนื่องจนโต ซึ่งความจริงแล้ว สมองของเด็ก ๆ กำลังพัฒนาทักษะการควบคุมตนเองอยู่ การที่เขาสติแตกจึงไม่ใช่เรื่องแปลก จนเมื่ออายุมากขึ้น ประมาณอายุ 25 ปี สมองส่วนนี้ (ที่เรารู้จักกันว่าทักษะสมองEF) ถึงจะพัฒนาเต็มที่

 

 

คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งกังวลไปว่าลูกก้าวร้าวตอนเด็ก จะก้าวร้าวไปจนโต เพราะสมองลูกสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้แน่นอน แต่มีเงื่อนไขว่า พ่อแม่และผู้ใหญ่ใกล้ตัวเด็กจะต้องรับมือกับความก้าวร้าวให้เป็น และไม่เป็นตัวอย่างของความรุนแรงให้เด็กซึมซับทุกวันด้วย ถ้าทำได้ เราจะพบเองว่า ลูกก้าวร้าวลดลง และสามารถควบคุมตนเองได้ดีขึ้น ๆ ตามอายุที่มากขึ้นค่ะ (แต่จะมีพีคอีกที ตอนวัยรุ่นนะคะ) 

 

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่รับมืออารมณ์ลูกไม่ค่อยได้ก็คือ ความคาดหวังผิด ๆ พ่อแม่มักคาดหวังว่า ลูกจะต้องหยุดเสียง หยุดงอแงได้เร็วดั่งใจเรา หากลูกโวยวายนาน พ่อแม่จะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อหยุดเสียงนั้น บางคนตะคอกดังกว่าเด็กเพื่อให้ลูกกลัว แล้วเงียบ ถ้าลูกยังไม่หยุดอีก พ่อแม่ก็จะหวดให้ลูกเจ็บ เพื่อจะหยุดพฤติกรรมลูกให้ได้

 

ความคาดหวังที่จะหยุดเสียงโวยวายก้าวร้าวของเด็ก โดยไม่สนใจพัฒนาทักษะสมอง EF เป็นความคาดหวังที่ผิด

พ่อแม่ไม่สามารถใช้ความกลัวหยุดเด็กได้จนโต เด็กจะกลัวพ่อแม่จนถึงอายุหนึ่งเท่านั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นช่วงวัยรุ่น เมื่อลูกเลิกกลัวเรา จะมาพัฒนาทักษะสมองEF ก็อาจช้าไปแล้ว หรือ อาจยากมาก ๆ จนพ่อแม่ถอดใจ ขอให้พ่อแม่ท่องไว้ว่า ..."คนเป็นเจ้าของอารมณ์จะต้องเป็นคนคุมตนเอง"... แบบนี้จะมีความยั่งยืนกว่า ลูกควรควบคุมตัวเองได้ ไม่ใช่รอพ่อแม่โกรธถึงจะทำตัวดี นั่นก็แปลว่า พ่อแม่ต้องคาดหวังใหม่ อย่าคาดหวังไปที่ลูกให้เงียบเร็ว ๆ แต่หันมาคาดหวังกับตนเอง ให้สามารถพัฒนาทักษะสมองEF ลูกได้ ขอให้เก่งขึ้นวันละนิด ๆ ก็ยังดีกว่าอยู่ที่เดิมนะคะ 

 

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ เพื่อให้ลูกจัดการอารมณ์ตัวเองเป็น มีดังนี้

1. ตั้งสติให้ได้ ไม่ใช้อารมณ์เด็ดขาด

2. ให้เวลาตนเองและลูก ไม่เร่งรัดรีบจบงาน

3. ควบคุมสีหน้าและน้ำเสียงให้สงบนิ่ง จริง ๆ

4. โฟกัสไปที่สายตาลูก (เราต้องอยู่ระดับเดียวกับเด็ก)

5. หยุดเถียงลูก หยุดตะโกนใส่ลูก

6. พูดให้น้อยที่สุด เช่น “ตีแม่ไม่ได้” ถ้าพูดเยอะ คำพูดจะขาดน้ำหนัก

7. แสดงท่าทีเด็ดขาดให้มากที่สุด จับมือลูกข้างที่ตีไว้ จับให้แน่นในระดับที่สะบัดหลุดไม่ได้

8. ทำข้อ 5 และ 6 พร้อมกัน คือ พูดน้อยมีน้ำหนัก และท่าทางจับมือลูกเด็ดขาด

9. ปล่อยมือลูกหลังจากจับไว้ 5-10 วินาที อย่าจับค้างนานเกินไป เด็กโกรธไม่ชอบถูกจับ

10. กลับมาพูดน้อยอีกครั้งด้วยคำว่า “แม่จะรอลูกเงียบแล้วคุยกันนะ”

11. ใจเย็น ควบคุมสีหน้าและท่าทางให้สงบนิ่ง ไม่พูด และรอ (ไม่พูดอะไร)

 

กรณีบ้านที่ใช้ความรุนแรงบ่อย แนะนำให้รอแบบกอดลูกด้วยความอ่อนโยน
กรณีบ้านที่ชอบโอ๋ลูกบ่อย ๆ แนะนำให้รอแบบ ไม่กอดลูก และหนักแน่นให้มาก เราจะไปทำงานบ้านรอก็ได้ แต่อย่าให้ลูกรู้สึกถูกทิ้ง เช่น พูดว่า “แม่จะล้างจานรอลูกนะ"

 

12.กลับมาคุยกับลูก หลังจากลูกสงบแล้ว

 

 

พฤติกรรมไม่น่ารักของลูก ไม่ว่าจะดื้อ เถียง งอแง เอาแต่ใจ โกรธ เสียใจ ก้าวร้าว รุนแรง ฯ ขอให้พ่อแม่มองว่าเป็นโจทย์ชีวิตของลูก ที่ธรรมชาติให้มาพร้อมสมองส่วนหน้า เพื่อให้ลูกมีโอกาสฝึกฝนทักษะสมอง EF ทุก ๆ วัน เมื่อพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นโคช รับมือความรุนแรงของลูกด้วยสติและความเด็ดขาดแบบไม่คุกคาม สมองส่วนหน้าของลูกจะได้รับการพัฒนาทุก ๆ วันนะคะ ตรงนี้แหละ ที่ลูกต้องการ ลูกจะก้าวร้าวลดลง และรับมือกับอารมณ์ตนเองได้ดีขึ้นตามอายุที่มากขึ้น โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องตะวาด ตคอก ตี ขู่ให้เงียบเลย

 

อย่างไรก็ตาม ทักษะสมอง EF จะพัฒนาเต็มเมื่ออายุ 25 ปี ลูกจะมีวันรั่วบ้างก็ไม่แปลกนะคะ แต่โดยรวมทิศทางควรไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่เท่าเดิม หรือ แย่ลงค่ะ