1794
3 ข้อควรรู้เมื่อลูกร้องไห้ กรี้ด โวยวาย

3 ข้อควรรู้เมื่อลูกร้องไห้ กรี้ด โวยวาย

โพสต์เมื่อวันที่ : October 31, 2022

 

เมื่อลูกร้องไห้-กรี๊ด-โวยวาย

 

ข้อที่ 1 การร้องไห้และการกรี๊ดคือการสื่อสารของลูก ลูกต้องการให้ผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ช่วยค่ะ

พ่อแม่จะต้องเปลี่ยนความคิดจาก เด็กดื้อเป็นเด็กต้องการความช่วยเหลือ และพยายามอ่านให้ออกว่า ลูกอยากให้ช่วยอะไร หมอขอขยายความตรงนี้นิดนึง ถ้าประเด็นนั้น เราอ่านได้ว่าลูกอยากได้ แต่เราให้ไม่ได้ ก็แปลว่า เราต้องอ่านสถานการณ์แทน อ่านให้ออกว่า ตัวเองจะช่วยลูกเล็กยังไงให้สงบแบบไม่ตามใจ

 

 

ข้อที่ 2 คือ เด็กไม่สามารถควบคุมอารมณ์และหยุดพฤติกรรมได้ทันที

เราอย่าคาดหวังว่าเมื่อพูดดี ๆ อธิบายดี ๆ แล้วลูกจะหยุดเอาแต่ใจทันที สิ่งที่พ่อแม่ควรทำหลังจากอธิบายไปแล้ว คือ การให้เวลาลูกสงบเอง เราจะเดินออกจากร้านของเล่นมาเลยก็ได้ (แต่ต้องคอยแอบดูลูกด้วย) การไม่สนใจพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ คือ การให้เวลาลูกสงบเองค่ะ

 

 

ข้อที่ 3 คือ การขัดใจลูกบ่อย ๆ คือ การส่งเสริมให้ลูกถนัดร้องไห้เอาแต่ใจ

ฟังไม่ผิดค่ะ พ่อแม่อย่ารอให้เกิดประเด็นลูกเอาแต่ใจแล้วค่อยรับมือ เราต้องหาวิธีป้องกัน แต่ไม่ใช่ป้องกันด้วยการตามใจ สิ่งที่ควรทำคือ ให้สังเกตเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์ขัดใจลูก แล้วให้เปลี่ยนแปลงเหตุการณ์แรกซะ จะได้ไม่มีเหตุการณ์ขัดใจตามมา ดังนี้

 

1. พ่อแม่ต้องรู้จักเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เช่น จากเดิมมีขนมวางอยู่บนโต๊ะ พอลูกเห็นก็จะขอ พอเราไม่ให้ลูกก็ร้องไห้ พ่อแม่ก็ต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ เก็บขนมไปให้พ้นสายตาเด็ก หรือไม่ก็อย่าซื้อเข้าบ้านเลย ถ้าต้องซื้อกินเอง ก็ต้องเอาไปซ่อน และอย่าให้ลูกเห็นตอนเรากิน หรือกรณีเดินผ่านร้านสะดวกซื้อแล้วลูกงอแงจะเข้าให้ได้ ก็ให้ทำแบบเดียวกัน คือ เปลี่ยนแปลงตัวเอง พาตัวเองและลูกเดินอ้อมไปทางอื่น เพราะเด็กเล็ก ๆ ส่วนใหญ่ไม่เห็น จะไม่ร้องขอค่ะ

 

2. พ่อแม่ต้องรู้จักเปลี่ยนแปลงวิธีพูด วิธีทำใหม่ เช่น เดิมทีเรามักรับปากลูก แต่พอถึงเวลาจริง ก็ทำตามรับปากไม่ได้ ก็ขอให้เราเลิกรับปากเด็กค่ะ เราอาจบอกลูกว่า “แม่ยังไม่รู้ว่าจะตัดสินใจยังไง” หรือ “ขอเวลาคิดดูก่อน”

 

เมื่อลูกไม่คาดหวัง ลูกก็จะไม่ผิดหวัง จะไม่โกรธจนต้องร้องไห้กรี้ดกร้าดค่ะ หรือจากเดิม เรามักบังคับให้ลูกแบ่งของเล่น พอลูกโดนบ่อย ๆ ก็จะไม่อยากแบ่ง ถ้าแม่ฝืนก็จะกรี้ดเลย ลองเปลี่ยนมาคิดและพูดแบบนี้นะคะ “เพื่อนเขาอยากเล่นของหนู ถ้าเขาขอดี ๆ แม่อยากให้หนูแบ่งเพื่อนเล่นนะ หนูจะให้หรือไม่ให้ก็ได้ แต่ถ้าหนูให้ เพื่อนจะมีความสุขเหมือนที่หนูเล่น แล้วมีความสุข”

 

 

กรณี "ลูกโดนเพื่อนแย่งของเล่นจากมือ" คุณแม่บางท่านบอกลูกตัวเองว่าให้แบ่งเพื่อนไป ลูกก็จะร้องไห้โกรธแม่และกรี้ดได้เหมือนกัน หมอขอแนะนำอย่างนี้

 

  1. ก่อนอื่นจับของเล่นไว้แล้วชูขึ้นสูง ๆ เพื่อให้เด็กสองคนโฟกัสมาที่เรา สอนคนแย่งให้พูดขอ ซึ่งเด็กคนนั้นจะพูดหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น ประเด็นอยู่ตรงที่ลูกเราจะได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากเราค่ะ ลูกจะรับรู้ว่า พ่อแม่ปกป้องสิทธิเขา และเขาจะได้ปกป้องตนเองเป็นในอนาคต อีกหน่อยลูกจะรู้จักพูดเองว่า “ขอก่อนซิ” เป็นต้น
  2. สอนลูกว่าเมื่อโดนแย่งให้บอกเพื่อนว่า “อย่าแย่ง ขอก่อน” เพื่อให้ลูกรู้ว่า “เราปกป้องสิทธิตัวเองได้” (be assertive)
  3. รอเพื่อนพูด “ขอ” หากฝ่ายนั้นพูดแล้ว ให้ชื่นชมเด็กคนนั้น แล้วหันมาคุยกับลูกว่า จะแบ่งหรือไม่แบ่งก็ได้ เพราะเป็นสิทธิของลูก พ่อแม่ควรสงบรอลูกคิด ไม่กดดันและไม่เข้าข้าง ลูกจะได้เรียนรู้ว่าพ่อแม่เคารพตัวตนลูก ให้อำนาจการตัดสินใจเขา ซึ่งจะทำให้ลูกเคารพตนเองด้วย

 

 

เมื่อไม่มีการบังคับให้แบ่ง ไม่มีการบอกให้ยอม ลูกจะไม่โกรธจนต้องร้องไห้หรือร้องกรี้ด ๆ ดังนั้นพ่อแม่ต้องรู้จักวิเคราะห์เหตุการณ์ เรียนรู้วิธีเลี้ยงลูกเพื่อป้องกันการขัดใจลูกโดยไม่จำเป็น โดยสรุป 3 ข้อหลักที่คุณต้องรู้

 

  1. การร้องไห้และการกรี๊ดคือการสื่อสารของลูก
  2. เด็กไม่สามารถควบคุมอารมณ์และหยุดพฤติกรรมได้ทันที
  3. การขัดใจลูกบ่อย ๆ คือ การส่งเสริมให้ลูกถนัดร้องไห้เอาแต่ใจ พ่อแม่ต้องหาวิธีป้องกันด้วยการสังเกตและเปลี่ยนแปลง อย่าปล่อยให้เหตุการณ์ซ้ำรอยเดิม

 

ช่วยเหลือเด็กร้องไห้เอาแต่ใจ คุณต้องแก้ไขหน้างานให้เป็น มองหาสาเหตุให้พบ ทำให้ครบ 3 ข้อ ลูกจะดีขึ้นได้จริง ๆ เป็นกำลังใจให้ค่ะ