283
ปัญหาการนอนในเด็ก

ปัญหาการนอนในเด็ก

โพสต์เมื่อวันที่ : November 3, 2022

การนอนหลับ เป็นช่วงเวลาที่มีความจำเป็นต่อร่างกายทำให้ร่างกายได้พัก ปรับสมดุลและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

 

ในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่มีการหลั่งของฮอร์โมนเจริญเติบโต หรือ Growth Hormone ในช่วงหลับลึกมีส่วนกระตุ้นให้ร่างกายเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพอีกด้วย แม้ว่าในทางคลินิกยังไม่พบว่าการนอนไม่เพียงส่งผลต่อความสูงสุดท้ายเมื่อเติบโตเต็มที่ (Final Adult Height) ของเด็กอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม เนื่องจากมีหลายปัจจัยมากที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและความสูงของเด็กโดยเฉพาะโภชนาการและพันธุกรรม ถึงอย่างนั้น เราก็ควรให้ความสำคัญต่อการนอนของลูกเสมอ 

โดยทั่วไป เด็กเล็กอายุ 1-3 ปีควรได้รับการนอนหลับ 10-16 ชั่วโมงต่อวัน (รวมนอนกลางวัน 1 ครั้ง/วัน) เด็กอายุ 3-5 ปีควรนอนหลับ 11-15 ชั่วโมงต่อวัน (เด็กกว่าครึ่งไม่จำเป็นต้องนอนกลางวันแล้ว) อายุ 5-14 ปีควรนอนหลับ 9-13 ชั่วโมงต่อวัน และอายุ 14-18 ปี ควรนอนหลับ 7-10 ชั่วโมงต่อวัน

 

ประโยชน์ของการนอนหลับที่เพียงพอ

ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิต ดีต่อสุขภาพ ดีต่ออารมณ์และการควบคุมอารมณ์ รวมถึงลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนอีกด้วย ในแง่ของพัฒนาการการเรียนรู้ การนอนหลับที่ดีจะส่งผลดีต่อการเรียน การจดจำ การแก้ไขปัญหา การตัดสินใจ การเรียนรู้ภาษาและพฤติกรรมของเด็กอีกด้วย ดังนั้นเด็กทุกคนควรได้รับการนอนหลับพักผ่อนที่มีคุณภาพอย่างเหมาะสมตามวัย

✳️ การนอนหลับที่ไม่เพียงพอ : จึงส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ป่วยบ่อยขึ้นได้ กระทบต่ออารมณ์โดยอาจทำให้หงุดหงิดง่าย ง่วงเหงาหาวนอนตอนช่วงกลางวัน ไม่มีสมาธิในการเรียนและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ส่งผลต่อการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์แยกแยะ การตัดสินใจและปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและครู รวมถึงการเล่นในช่วงกลางวันซึ่งมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตตามวัยของเด็ก

 

สัญญาณที่บอกว่าลูกของคุณพ่อคุณแม่อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการนอน

 

🌟 การปฏิเสธการเข้านอน ไม่ยอมเข้านอนด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลง การติดหน้าจอ การเรียกร้องขอหนังสือ ตุ๊กตา หรือการเข้าห้องน้ำเพื่อยื้อเวลาให้เข้านอนช้าที่สุด การนอนหลับไม่สนิท ตื่นบ่อยเกินกว่าที่ควรจะเป็นตามอายุ โดยเฉพาะเด็กที่ไม่สามารถนอนหลับได้ยาวกว่า 1.5-2 ชั่วโมงในช่วงกลางคืน เป็นต้น

 

🌟 การนอนถูกรบกวนด้วยอาการทางร่างกาย ที่พบบ่อยก็คือช่วงที่ฟันน้ำนม (หลังอายุ 6 เดือนเป็นต้นไป) หรือฟันแท้ขึ้น (หลังอายุ 6 ขวบเป็นต้นไป) เด็กหลายคนอาจตื่นช่วงกลางดึกบ่อยขึ้นได้ โดยมักเป็นชั่วคราว ไม่รุนแรงและ (มัก) ไม่ต้องการการรักษา

 

นอกจากนี้ยังพบโรคหลายโรคที่รบกวนการนอนได้เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (มีอาการคันตามผิวหนัง) และโรคภูมิแพ้จมูก (มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หายใจไม่สะดวก และคันจมูก) เป็นต้น หากพบว่าสาเหตุที่ทำให้เด็กนอนหลับไม่สนิทและตื่นบ่อยเกิดจากอาการทางร่างกายก็ควรได้รับการตรวจรักษาและดูแลอย่างเหมาะสม

🌟 การนอนกรนเสียงดัง อาจเกิดจากสาเหตุหลายอย่างตั้งแต่การกรนทั่วไป (Habitual Snoring) ที่พบได้สูงถึง 1 ใน 4 ของเด็กทั่วไป จนไปถึงการอุดตันของทางเดินหายใจส่วนบน (Obstructive Sleep Apnea; OSA) จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ต่อมอะดีนอยด์ และต่อมทอนซิลโตที่พบบ่อยมากในช่วงอายุราว 2-8 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ต่อมอะดีนอยด์และทอนซิลมีขนาดโตขึ้นมากที่สุด โรคอ้วนก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการอุดตันของทางเดินหายใจได้จากการที่มีชั้นไขมันใต้ผิวหนังและเนื้อเยื่อมากดกับทางเดินหายใจ เป็นต้น

 

โดยการอุดกั้นของทางเดินหายใจ จนอาจมีช่วงที่หยุดหายใจทำให้เกิดการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเลือดจนทำให้เกิดอันตรายต่อระบบหลอดเลือดหัวใจ ปอดและสมอง และนำมาสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่อันตรายอีกมากมาย โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น

 

ควรพบแพทย์ทันทีเมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้ยินเสียงกรนของลูก ร่วมกับการหยุดหายใจช่วงกลางคืนอย่างชัดเจน หรือหากไม่เห็นการหยุดหายใจชัดเจน แต่ลูกตื่นบ่อยกลางดึก หรือมีอาการของการนอนหลับไม่เพียงพอในช่วงกลางวัน ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกาย และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น ฟิล์มเอ็กซเรย์ดูต่อมรอะดีนอยด์และทอนซิล หรือการตรวจการนอนหลับ (Sleep Lab หรือ Polysomnography) เป็นต้น