555
พ่อแม่เฝ้าระวัง ! แสง UV ทำร้ายผิวและดวงตาลูก

พ่อแม่เฝ้าระวัง ! แสง UV ทำร้ายผิวและดวงตาลูก

โพสต์เมื่อวันที่ : April 6, 2023

นอกจาก "ฮีทสโตรก" ที่ต้องระวังในหน้าร้อนนี้แล้ว ยังมีค่า UV index ที่มีความรุนแรงระดับสูงสุดในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผิวหนังและดวงตาของเรา โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและกลุ่มที่มีผิวบอบบาง

 

UV index คือ ค่าดัชนีดัชนีรังสีอัลตราไวโอเลต หรือเรียกให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ความแรงของแดด เป็นการวัดปริมาณของความเข้มของแสงแดดที่ฉายลงมาบนพื้นผิวโลก โดยปกติแล้วความเข้มข้นของแดดของไทย มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 11-12 ซึ่งอยู่ในระดับความรุนแรงที่สูงจัด จึงควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF30 ขึ้นไป และค่า PA+++ ขึ้นไป เป็นประจำทุกวันทั้งใบหน้าและผิวกาย หลีกเลี่ยงจากการอยู่ในที่กลางแจ้งช่วง 10 โมงเช้าถึง 4 โมง เสี่ยงเกิดการไหม้ของผิวหนัง ในระยะยาวจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเกี่ยวกับดวงตาและมะเร็งผิวหนังด้วย

 

แสง UV กับผิวเด็ก

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่รู้กันดีว่าผิวของเด็ก ๆ นั้นยังบอบบาง ไวต่อแสงแดด การถูกแสงแดดเพียงไม่กี่นาทีก็อาจทำให้ผิวไหม้แดดได้ แม้วันที่เมฆเยอะก็มีรังสี UV ที่เรามองไม่เห็นสามารถทำอันตรายต่อผิวของเด็กได้

 

ความรุนแรงของผิวไหม้

  • ระดับ 1 ผิวไหม้แดดเล็กน้อย - แสบเล็กน้อยบริเวณผิวที่โดนแสงแดด จากนั้นเมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง บริเวณผิวไหม้แดด ลอกออกมาเพราะเกิดการผลัดเซลล์ผิวหนัง
  • ระดับ 2 ผิวไหม้แดดปานกลาง - มีอาการผิวไหม้แดด แสบ คัน ตามบริเวณต่าง ๆ ที่ถูกแสงแดด
  • ระดับ 3 ผิวไหม้แดดรุนแรง - คอไหม้แดด หรือผิวไหม้แดดรุนแรง จะทำให้ผิวมีอาการแดง ปวดแสบปวดร้อนอย่างหนัก คัน เกิดตุ่มน้ำขึ้นบริเวณที่มีอาการ หากมีอาการมากควรเข้าพบแพทย์

 

นอกจากผิวหนังจะได้รับผลกระทบจากค่า UV index ที่สูงแล้ว ดวงตาก็เป็นอวัยวะหนึ่งที่ได้รับผลเช่นกัน ดวงตาเป็นอวัยวะบอบบาง การป้องกันดวงตาจากรังสียูวีสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการหลีกเลี่ยงอย่าให้ดวงตารับแสงแดด หรือแสงจากหลอดไฟโดยตรง และควรใส่แว่นตาที่มีเลนส์ป้องกันรังสียูวีโดยเฉพาะ ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอ ซึ่งช่วยกระตุ้นการทำงานของต่อมที่สร้างสารเมือกและไขมันซึ่งจะไปช่วยให้ผิวกระจกตาและเยื่อบุตาขาวชุ่มฉ่ำ สดใส 

 

ป้องกันตัวเองจากค่า UV index สูง

  • อยู่ในที่พัก ในร่มโดยเฉพาะเด็กและผู้มีผิวบอบบาง
  • เลี่ยงจากรับแสงแดดช่วงตั้งแต่ช่วง 6 โมงเช้าถึงบ่ายสาม
  • หากจำเป็นต้องออกควรสวมหมวก กางร่ม สวมแว่นกันยูวี เสื้อผ้าปกคลุมร่างกาย และทาครีมกันแดดก่อนออกแดด 15 นาที และทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง ทั้งใบหน้าและลำตัว
  • เลี่ยงการอาบแดด

 

กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน อาจใช้แค่ร่มหรือเครื่องแต่งกายเพื่อป้องกันรังสียูวี แต่หากเลี่ยงไม่ได้ ควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF อย่างน้อย 15 บริเวณใบหน้าและหลังมือและเลือกชนิดที่มีไททาเนียมไดออกไซด์ (Titanium Oxide) และซิงก์ออกไซด์ (Zinc Oxide) เป็นส่วนผสมเพื่อลดโอกาสการเกิดการระคายเคืองของผิวหนัง

 

ขอบคุณข้อมูล

ศูนย์โอโซนและรังสี

สมิติเวช