9258
แม่มือใหม่ต้องอ่าน ! 9 สาเหตุที่เด็กร้องไห้หลังเข้าเต้า

แม่มือใหม่ต้องอ่าน ! 9 สาเหตุที่เด็กร้องไห้หลังเข้าเต้า

โพสต์เมื่อวันที่ : June 15, 2023

 

คุณแม่มือใหม่อาจเป็นกังวล เวลาที่ลูกเข้าเต้าดูดนมแม่แล้วลูกร้องไห้งอแงตลอด จนทำให้คุณแม่กังวลคิดไปต่าง ๆ นานา เกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ บทความนี้จะพาคุณแม่ไปค้นหาคำตอบ

 

1. ลูกหิวนมมากเกินไป เมื่อลูกแสดงสัญญาณหิว เช่น เอามือเข้าปาก ดูดปาก หันเข้าหาเต้านม ควรรีบเอาลูกเข้าเต้า และควรเอาลูกเข้าเต้าทุก 2-3 ชั่วโมง ดูดนมแม่รอบละ 20-30 นาที ไม่หลับคาเต้า และจัดมื้อนมของลูกให้เป็นเวลาเดิมของทุก ๆ วัน

 

 

2. น้ำนมแม่ไหลช้า อาจเกิดจากคุณแม่เพิ่งปั๊มนมไป แล้วลูกร้องไห้ขอกินนม จึงทำให้นมไหลช้า ลูกร้องไห้และหงุดหงิดเพราะนมในเต้านมไหลช้า แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวล นมในเต้ายังมีการไหลออกมา ลูกจะพยายามดูดกระตุ้นเต้านมให้มีกระบวนการนมไหลพุ่งออกมาจากเต้านม บางทีที่ลูกเข้าเต้าร้องไห้งอแงมากอาจเกิดจากการติดดูดขวดนม เพราะลูกติดความเร็วของการไหลของน้ำนมจากขวดนม

 

คุณแม่ช่วยลูกได้โดยการใช้ไซริงค์ดูดนมแม่แล้วหยดข้างเต้านมเพื่อหลอกหล่อให้ลูกดูดเต้า เพื่อกระตุ้นให้น้ำนมไหลเพิ่มมากขึ้น หรือวันนั้นคุณแม่มีสภาวะเครียด กังวล เจ็บปวด เจ็บเต้านม ส่งผลให้ฮอร์โมนที่ทำให้นมแม่ไหลออกจากเต้านม (ออกซิโตซิน : Oxytocin) ถูกยับยั้ง ส่งผลให้น้ำนมในเต้าไหลช้า หรือไม่ไหลออกมา ทำให้ลูกดูดเต้าแล้วร้องไห้งอแง

 

 

3. น้ำนมแม่ไหลแรงและเร็ว ส่งผลให้ลูกร้องไห้งอแง กลืนนมแม่ไม่ทัน สำลักนม เมินหน้าหนี แก้โดยการให้คุณแม่บีบหรือปั๊มน้ำนมออกก่อน 10-15 นาทีก่อนเอาลูกเข้าเต้า เพื่อลดปริมาณและความแรงของน้ำนมในเต้า หรือนอนให้นมลูกในท่าคุณแม่นอนหงายและให้ลูกดูดนมแม่ในท่านอนคว่ำ ท่านี้จะช่วยลดความแรงของน้ำนมที่ไหลพุ่งเข้าปากด้วย กรณีที่ให้นมลูกในท่านอนตะแคง ให้นมท่านี้น้ำนมแม่ยังคงไหลแรงแต่ลูกจะสามารถคายน้ำนมแม่ที่ไหลออกมาเยอะนั้นออกข้างมุมปากลูกได้

 

ถ้าคุณแม่ให้นมลูกในท่าปกติแล้วมีน้ำนมไหลพุ่งแรงและรู้สึกจี๊ด ๆ ที่เต้านม ให้คุณแม่ทำมือเป็นรูปตัว C กดที่บริเวณขอบนอกลานนม เพราะตรงนี้มีท่อน้ำนมเพื่อลดความแรงของน้ำนมแม่ที่ไหลเข้าปากลูก เมื่อนมแม่ไหลความเร็วตามปกติแล้ว ก็เอามือออกจากการกดที่ขอบนอกลานนมได้ค่ะ

 

 

4. ลูกปวดท้องแน่นท้อง อึดอัดท้อง มีลมในท้อง จะมีอาการร้องไห้งอแงขณะดูดเต้า ท้องแข็งตึง มือต่อย ๆ เท้าถีบ ๆ มีลักษณะอึดอัด ให้คุณแม่จับลูกเรอ 10-15 นาทีเพื่อไล่ลม โดยการนวดท้องให้ลูกเป็นวงกลมจากท้องล่างขวาวนเป็นวงกลมตามเข็มนาฬิกา จากนั้นนวดท้องเป็นรูปตัว U คว่ำจากท้องล่างขวาขึ้นไปท้องบนขวา ตามด้วยโค้งตามสะดือเหมือนรูปตัว U นวดลงมาจากท้องบนซ้ายลงมาที่ท้องล่างซ้ายเพื่อไล่ลม ทามหาหิงค์ที่หน้าท้องลูก ป้อนยาขับลมก็สามารถช่วยทุเลาอาการลูกได้

 

 

5. มีสภาวะกรดไหลย้อน ขณะดูดนมลูกก็มีอาการไม่สุขสบาย ร้องไห้งอแง กินนมไป อาเจียนหรือแหวะนมไปด้วย น้ำหนักตัวน้อยหรือลดลง กรณีนี้จะต้องพาลูกไปหาหมอ

 

 

6. ลูกมีการเจริญเติบโตแบบพุ่งพรวด (Growth spurt) มีพัฒนาการบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ยิ้ม ชันคอ ใช้มือดันอกพ้นพื้น กลิ้งไปมา พลิกคว่ำหรือพลิกหงาย นั่งได้ เกาะยืน เดินได้ ลูกตัวโตหรือตัวยาวมากขึ้น แต่น้ำหนักตัวไม่เปลี่ยนแปลง เข้าเต้าแต่แต่ดูดนมในเวลาสั้น ๆ ปัสสาวะและอุจจาระบ่อย จากการที่ลูกขอกินนมบ่อยช่วงนี้ ติดแม่มากอยากให้อุ้มตลอด มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ตื่นบ่อยตอนกลางคืนเพื่อเช็คว่าแม่ไม่ได้หายไปไหน ส่งผลให้การนอนเปลี่ยนแปลง สามารถเจอได้กับลูกแทบทุกช่วงวัย คือ...

 

  • อายุ 1-3 สัปดาห์หลังคลอด
  • อายุ 1 เดือนครึ่งถึง 2 เดือน
  • อายุ 3-4 เดือน
  • อายุ 6 เดือน 
  • อายุ 9 เดือน

 

และลูกจะเป็นสภาวะแบบนี้เป็นอยู่นาน 7-14วัน หรืออาจนานกว่านั้น เมื่อลูกสามารถทำพฤติกรรมนั้นได้อาการเหล่านี้ก็จะหายไป แต่ก็จะสามารถกลับมาวนซ้ำได้อีกครั้งเมื่อลูกมีการเจริญเติบโตแบบพุ่งพรวด (Growth spurt) รอบถัดไป เมื่อพบว่าลูกอยู่ในช่วงการเจริญเติบโตแบบพุ่งพรวด (Growth spurt) คุณพ่อคุณแม่ดูแลลูกดังนี้

 

  • ▶︎ ลูกขอกินนมบ่อย ให้เอาลูกดูดนมแม่บ่อย ๆ ทุก 1-2 ชั่วโมงได้เลยในเวลากลางวัน แต่หากลูกกินนมเยอะมากจนเกินไปจนเกิดสภาวะ Overfeeding สามารถให้ลูกดูดจุกหลอกได้ แต่หากลูกอยู่ในวัยที่เริ่มกินอาหารเสริมตามวัยแล้วเช่น 6 เดือน ลูกหิวบ่อยสามารถป้อนข้าวลูกบ่อยครั้ง 1-2 มื้อได้ ส่วนในตอนกลางคืนให้ลูกดูดนมแม่ให้อิ่มก่อนนอนและให้ลูกกินนมทุก 3-4 ชั่วโมง 

 

  • ▶︎ ลูกติดแม่มากร้องไห้ให้อุ้ม คุณแม่อุ้มลูกบ่อย ๆ ได้เลย โดยเฉพาะในช่วงวัยอายุ 8-9 เดือน ที่กลัวการพรากจากมักพบว่าตื่นบ่อยร้องไห้ตอนกลางคืน เพื่อเช็คว่าแม่อยู่กับเขาหรือไม่ หากคุณแม่กับลูกนอนแยกเตียงกัน ให้คุณแม่นำตุ๊กตาใส่เสื้อผ้าของคุณแม่เพราะจะมีกลิ่นตัวของคุณแม่ติดอยู่ที่เสื้อผ้า แล้วให้ลูกนอนกอดตุ๊กตาเพื่อให้ลูกรู้สึกว่ามีแม่นอนอยู่ข้าง ๆ ตลอดเวลา หรือหากลูกร้องไห้ตอนกลางคืน อย่าเพิ่งรีบวิ่งเข้าไปอุ้มลูกในทันที สังเกตการดู 2-3 นาที ดูว่าลูกจะหลับไปเองไหม แต่หากลูกยิ่งร้องไห้มากขึ้นคุณแม่เดินเข้าไปตบก้นเบา ๆ กระซิบว่าแม่อยู่นี่ หรืออุ้ม ปลอบ โอ๋ลูกให้สงบลง

 

  • ▶︎ ทำกิจวัตรรูปแบบเดิม ๆ เช่น เข้านอนเวลาเดิม อ่านหนังสือนิทานก่อนนอน ไม่เล่นโลดโผนกับลูกก่อนนอน เพราะจะกระตุ้นฮอร์โมนอะดรีนาลีนให้หลั่ง จะทำให้ลูกนอนหลับไม่สนิทหรือฝันร้ายได้ ร้องไห้งอแงตอนกลางคืน 

 

 

7. อาหารที่คุณแม่รับประทาน เช่น เครื่องเทศ กระเทียม อาจทำให้รสชาติและกลิ่นของนมแม่ไม่เหมือนเดิม ทำให้ลูกร้องไห้งอแง เมินหน้าหันหนีหรือไม่ยอมดูดเต้านมได้ หากคุณแม่กินอาหารอะไรเข้าไป แล้วลูกมีอาการแบบนี้ก็ควรเลี่ยงไม่กินอาหารชนิดนั้น ๆ

 

 

8. ลูกมีเชื้อราในช่องปาก ทำให้ขณะที่ลูกดูดเต้านมของคุณแม่มีอาการเจ็บภายช่องปาก สามารถสังเกตได้ในช่องปาก คือ มีจุดหรือรอยสีขาวบริเวณริมฝีปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม เหงือก หรือเพดานปาก ซึ่งไม่สามารถถูออกได้ ทำให้ลูกเจ็บและแสบในช่องปากขณะดูดนม เชื้อราจากช่องปากลูกสามารถติดที่เต้านมของคุณแม่ได้ ควรพบแพทย์เพื่อรักษา

 

 

9. สาเหตุอื่น เช่น ลูกติดแม่มากอยากให้อุ้ม ลูกป่วยหรือไม่สบายหรือลูกเพิ่งฉีดวัคซีนมาแล้วเจ็บปวดตรงบริเวณตำแหน่งที่ฉีด ลูกง่วงมาก 

 

ทั้งหมดนี้ก็เป็นสาเหตุลูกเข้าเต้าร้องไห้งอแงตลอดเพราะอะไร เมื่อคุณแม่รู้สาเหตุแล้วจะได้ดูแลลูกได้นะคะ