870
ทำไมลูกถึงเถียงเก่ง ?

ทำไมลูกถึงเถียงเก่ง ?

โพสต์เมื่อวันที่ : December 7, 2023

 

คุณพ่อคุณแม่เป็นอีกหนึ่งคนที่ประสบปัญหาเหล่านี้อยู่หรือไม่ แล้วคุณพ่อคุณแม่ยังจำความรู้สึกที่ลูกเริ่มพูดคำแรกได้หรือเปล่าครับ ?

 

วันนั้นเราต่างตื่นเต้นที่ได้ยินเจ้าตัวน้อยพูดคำแรก เราต่างดีใจที่ลูกสามารถบอกสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ แล้วเรื่องราวก็ดำเนินมาจนถึงวันนี้ วันที่คำพูดทั้งหลายกลายเป็นการถกเถียง ต่อรอง และแลดูจะเรื่องเยอะในสายตาของพ่อแม่ หากถามคำถามว่า “ทำไมลูกถึงเถียงพ่อแม่“ 

 

คำตอบตามหลักของพัฒนาการก็คือ ”เพราะเขาทำได้ เขาจึงทำ“ และ ”เพราะเขาเป็นเด็กที่ฉลาดไม่น้อย เขาจึงเรียนรู้ที่จะเรียกร้องต่อรองและปฏิเสธคุณพ่อคุณแม่ได้อย่างลื่นไหล“ นี่คือ พัฒนาการปกติของเด็กทุกคน มากบ้าง น้อยบ้าง แต่ทุกคนย่อมถกเถียงพ่อแม่ และสามารถเกิดได้ทุกช่วงอายุ มิใช่ลูกเป็นเด็กมีปัญหา

 

 

เราควรทำอย่างไรเมื่อลูกเถียงและต่อรอง ?

การเถียงและต่อรองอาจกระตุ้นทำให้พ่อแม่รู้สึกโกรธ และตอบสนองการถกเถียงของลูกด้วยอารมณ์ หลายครั้งอาจลงเอยด้วยความรุนแรงทางวาจา และ/หรือทางร่างกาย เพื่อหยุดไม่ให้ลูกเถียง จนนำไปสู่ปัญหาในความสัมพันธ์ได้ หากใช้ ‘อำนาจภายนอก’ อย่างการตี การดุด่า หรือการลงโทษที่รุนแรงเพื่อหยุดการเถียง เด็กอาจเริ่มเก็บกด ไม่พูด ไม่แสดงความเห็นของเขาออกมา

 

ในขณะเดียวกันหากเรายินยอมให้ลูกเถียงได้อย่างไร้ขอบเขต และได้มาในสิ่งที่เขาต้องการอย่างไม่สมเหตุสมผล ลูกจะดื้อและถกเถียงพ่อแม่มากขึ้น เพราะเถียงแล้วได้ เถียงแล้วไม่เกิดผลใด ๆ กับตนเองแม้ว่าการกระทำนั้นจะรุนแรงและทำตามอารมณ์อย่างไร้เหตุผลก็ตาม 

 

 

หน้าที่ของพ่อแม่ก็คือ ต้องสงบ รับฟัง และชัดเจน 

  • ‘สงบ’ และรู้เท่าทันความรู้สึกของตนเอง ไม่ใช่อารมณ์ตอบสนองกับลูก หากแต่ต้องนิ่งให้เป็น เย็นให้ได้ รับฟังลูก (ให้ได้ แม้เราจะไม่เห็นด้วยก็ตาม รับฟังไปก่อนเพื่อเข้าใจ) พูดและจัดการด้วยความมีเหตุมีผล

 

  • ‘รับฟัง’ เพื่อให้เข้าใจ มิใช่สั่งสอน จะได้เข้าใจมุมมองและทางเลือกของลูกที่อาจไม่ตรงกับสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ คุณพ่อคุณแม่เองต้องเคารพถึง ‘ตัวตน’ และ ‘ทางเลือก’ ของลูก โดยเฉพาะเรื่องของรสนิยม การแต่งกาย ความชื่นชอบ เรื่องเหล่านี้บังคับไม่ได้และไม่ควรบังคับ เพราะนั่นคือตัวตนของลูก ฟังสิ่งที่เขามองต่างจากเราให้พอ ในขณะเดียวกันก็อธิบายถึงมุมมองของเราในเรื่องเดียวกันด้วย เช่น กาลเทศะในการแต่งตัว (ชอบแต่งตัวอย่างหนึ่ง ก็อาจไม่ได้เหมาะสมกับสถานการณ์และสถานที่บางที่) เป็นต้น 

 

  • ‘ชัดเจน’ ในคำแนะนำ ข้อปฏิบัติและกฎของบ้าน โดยเฉพาะในเรื่องที่พ่อแม่ได้ทำข้อตกลงกับลูกแล้ว โดยเฉพาะกฎเหล็ก 3 ข้ออันได้แก่ ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายคนอื่น และไม่ทำลายข้าวของ กฎเหล็กนี้ต้องชัดเจน บังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ จับหยุดทันทีเมื่อเกิดไม่ว่าเหตุจะเป็นอะไรก็ตาม ไม่พอใจแค่ไหนก็ตามก็ห้ามใช้ความรุนแรง ส่วนกฎอื่น ๆ ก็แล้วแต่บ้าน โดยผู้เขียนอยากให้เพิ่มอีกสักข้อก็คือ เราไม่พูดคำหยาบกันกับพ่อแม่ (อันนี้แล้วแต่บ้าน) เถียงได้แต่เถียงให้เป็น ไม่ใช้การตะคอก ไม่ใช้ความรุนแรง ต่อรองได้แต่ก็ให้มีเหตุผลที่รองรับ มิใช่เถียงไปเรื่อยเปื่อยไร้ขอบเขต 

 

 

"ข้อตกลง" ต้องเป็นข้อตกลงที่ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อขอเล่นก่อนอาบน้ำอีก 10 นาที ถึงเวลาก็ควรไปอาบน้ำ เมื่อลูกดูหน้าจอหรือเล่นเกมครบตามเวลาที่้ตกลงกันไว้แล้วก็ต้องเป็นไปตามนั้น ชัดเจน หนักแน่น เด็ดขาด แต่ไม่ใช้ความรุนแรง ขีดเส้นให้ชัดเจนว่า อย่างไรพ่อแม่ก็ไม่ยอมหากเป็นเรื่องที่ควรทำและตกลงกันไว้แล้ว ไม่ยอมก็แค่ปิด ดึงปลั๊ก ไม่ต้องพูดให้มากความ ไม่ต้องใช้อารมณ์จากฝั่งพ่อแม่ และเมื่อลูกโกรธ เสียใจ ร้องไห้ ก็สามารถแสดงอารมณ์ออกมาได้อย่างเหมาะสม โดยมีพ่อแม่เป็นผู้ที่อยู่เคียงข้าง รับรู้อารมณ์ของลูกและสอนให้เขาจัดการกับอารมณ์ได้เหมาะสม 

 

“เสียใจร้องไห้ได้นะลูก” 
“โกรธได้ พ่อเข้าใจหนูว่าหนูอยากเล่นต่อ” 

 

 

แต่ทุกอย่างมีความชัดเจนของมันอยู่ ขีดเส้นให้ชัด คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ทางเลือกกับลูกได้ เพื่อหยิบยื่นโอกาสให้ลูกได้รู้สึกว่า เขามีทางเลือก และไม่ได้ถูกบังคับให้ทำตามพ่อแม่เท่านั้น เพราะเมื่อเกิดเหตุที่ลูกได้ยินคำบอกจากพ่อแม่ว่าอย่างนั้นดี อย่างนี้ไม่ดี มีกฎให้ทำตาม ต้องทำการบ้าน ต้องอาบน้ำแปรงฟัน ต้องหยุดเล่น

 

เด็กที่คิดเองได้ มีสมองไตร่ตรองสิ่งที่เกิดขึ้น เด็กจะเกิด ‘คำถาม’ เกิดขึ้นกับกฎ ระเบียบ วินัย หรือกระทั่งวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาว่า ก็แล้วมันยังไง ปรับเปลี่ยนได้ไหม ต่อรองได้ไหม ไม่ทำตามได้ไหมล่ะ นี่คือ สัญญาณว่าเด็กได้ใช้สมองและความฉลาดของเขาตั้งคำถามและกล้าพอที่จะพูดและต่อรองออกมา 

 

 

คุณพ่อคุณแม่ต้องการเด็กที่ไม่หือไม่อือ ไม่สงสัยอะไรเลยในชีวิต หรือสงสัยแล้วไม่กล้าพอที่จะพูดหรือต่อรองอะไรออกมาเลยหรือเปล่าครับ ?

การทำตามคำสั่งโดยไม่มีข้อสงสัย ดีจริงหรือ หรือเราก็แค่อยากได้คนที่หัวอ่อนทำตามสั่ง มีคุณสมบัติของคอมพิวเตอร์โบราณ ๆ ที่ทำตามคำสั่งเท่านั้น ไม่หือไม่อือ เดินต้อย ๆ ตามคำที่พ่อแม่บอก ผู้ใหญ่สอน คิดนอกกรอบไม่เป็น ก็คงไม่ใช่ใช่ไหมครับ 

 

การต่อรองนั้นว่าเป็นเรื่องที่ดีในด้านหนึ่ง ไม่ใช่มองแต่ว่า ลูกดื้อไม่เชื่อฟังพ่อแม่เพียงอย่างเดียว เมื่อเข้าใจแล้วก็ต้องบริหารจัดการความเยอะนั้นให้สมเหตุผลในแต่ละเรื่องให้ได้ การต่อรองที่ดีควรทำอย่างไร พูดจากันด้วยเหตุผล ต่อรองด้วยถ้อยคำที่ดี ไม่ก้าวร้าว เพื่อสอนให้เป็น ‘นักเจรจา’ ที่ดีในอนาคต

 

ในขณะเดียวกัน บางเรื่องไม่ทำก็ไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องวินัย กิจวัตรและความรับผิดชอบหลายอย่าง เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน (ไม่ทำได้ไหมนะ ?) การดูหน้าจอ การบ้าน และอื่น ๆ แล้วแต่จะพิจารณาตามความเหมาะสม แต่สิ่งที่ทำไม่ได้และไม่ให้ทำแน่ ๆ ก็คือ ความรุนแรง ทำร้ายคนอื่นตัวเองสิ่งของ อันนี้ไม่ได้ ยื่นคำขาด ไม่ให้ทำ มีมาตรการรองรับให้ชัดว่าทำแล้วพ่อแม่จะจัดการอย่างไร 

 

 

..."การเชื่อฟัง 100% มิใช่สัญญาณที่ดีนัก แต่เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ตั้งคำถามในสิ่งที่สังสัย และกล้าต่อรองในเรื่องที่เขาเห็นว่ามันถูกต้อง มันน่าจะดีในระยะยาวของชีวิตลูก จริงไหมครับ สิ่งเหล่านี้เริ่มที่บ้าน"...