41
สัญญาณ(บ่ง)บอกว่า “ลูกเริ่มมีฟันน้ำนมซี่แรก”

สัญญาณ(บ่ง)บอกว่า “ลูกเริ่มมีฟันน้ำนมซี่แรก”

โพสต์เมื่อวันที่ : December 25, 2024

 

คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเริ่มสังเกตเห็นว่าลูกน้อยของตัวเองมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปเมื่ออายุได้ประมาณ 6 - 12 เดือน

 

หลานชายคนเล็กวัย 9 เดือนของหมอเช่นกันค่ะ (ฟันซี่แรกของทารกมักจะเริ่มงอกเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน แต่ช่วงเวลานี้อาจแตกต่างกันไปตามพัฒนาการของแต่ละคน แต่ถ้าฟันของลูกยังไม่งอกเมื่ออายุประมาณ 12-15 เดือน ก็ไปปรึกษาทันตแพทย์เพื่อประเมินเพิ่มเติมได้นะคะ)

 

หลานชายที่ฟันกำลังทยอยงอกออกมา ทำให้มีอาการหลากหลาย เช่น หงุดหงิด ติดแม่มากกว่าเดิม ร้องไห้กลางดึก โดยที่กลางวันก็เล่นได้ ไม่มีไข้ ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ช่วงเวลาที่ฟันซี่แรกกำลังงอก โดยกระบวนการนี้มักทำให้ลูกน้อยรู้สึกไม่สบายตัว และแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ ที่บางครั้งทำให้พ่อแม่กังวล

 

 

วันนี้หมอจะมาพูดถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้เมื่อลูกฟันกำลังงอก เพื่อช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจและรับมือกับช่วงเวลานี้ได้ดีขึ้นค่ะ

 

1. น้ำลายไหลมากขึ้น

ลูกน้อยอาจจะเริ่มมีน้ำลายไหลออกมามากกว่าปกติในช่วงที่ฟันกำลังจะงอก การที่ฟันดันตัวขึ้นมาจากเหงือกจะกระตุ้นการผลิตน้ำลายของร่างกาย ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมผ้าหรือผ้ากันเปื้อนเพื่อซับน้ำลายให้ลูกบ่อยขึ้น

 

เคล็ดลับ : ผ้ากันเปื้อนแบบนิ่มจะช่วยให้ลูกสบายตัวมากขึ้น และการใช้ครีมกันการระคายเคืองบริเวณคางและคอช่วยลดการเกิดผื่นน้ำลายได้ค่ะ

 

 

2. ชอบกัดทุกอย่าง

การกัดเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่พบได้บ่อย เพราะลูกน้อยต้องการลดความไม่สบายในเหงือกที่บวมและเจ็บ เขาจะพยายามกัดของเล่น ยางกัด หรือแม้กระทั่งนิ้วของตัวเอง

 

เคล็ดลับ : ของเล่นยางกัดที่มีพื้นผิวขรุขระหรือเอาผ้าอ้อมไปแช่เย็นจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บเหงือกได้ดีค่ะ

 

 

3. งอแง ร้องไห้ง่าย

ความไม่สบายตัวและความเจ็บปวดจากฟันที่กำลังดันขึ้นมาทำให้ลูกน้อยรู้สึกอารมณ์เสียและงอแงได้ง่ายมากขึ้น การร้องไห้บ่อยขึ้นหรือแสดงอาการหงุดหงิดเมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ อาจเป็นสัญญาณว่าฟันกำลังงอก

 

เคล็ดลับ : การกอดและปลอบใจ หรือเบี่ยงเบนความสนใจลูกด้วยการเล่นเกมเล็ก ๆ น้อย ๆ จะช่วยลดความเครียดของลูกน้อยได้ค่ะ

 

 

4. นอนหลับไม่สนิท

เด็กบางคนอาจตื่นขึ้นมาบ่อยในเวลากลางคืนเนื่องจากความเจ็บปวดจากการงอกของฟัน การนอนหลับที่ไม่สนิทนี้เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในช่วงฟันขึ้น แต่เดี๋ยวช่วงเวลานี้ก็จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดีค่ะ

 

 

5. ไม่ค่อยอยากกินอาหาร

การงอกของฟันอาจทำให้เหงือกบวมและอ่อนแอ ลูกน้อยอาจไม่ค่อยอยากกินอาหารหรือดูดนม เพราะรู้สึกเจ็บเมื่อเคี้ยวหรือกัด

 

เคล็ดลับ : ลองเปลี่ยนอาหารเป็นชนิดที่นิ่มลงหรือเย็น เช่น โยเกิร์ต หรือข้าวบดเนื้อนุ่ม เพื่อให้ลูกสามารถกินได้โดยไม่รู้สึกเจ็บค่ะ

 

 

6. ดึงหู หรือถูแก้ม

พ่อแม่บางคนอาจสังเกตเห็นว่าลูกชอบดึงหูหรือถูแก้มบ่อยขึ้น การกระทำเหล่านี้มักเป็นผลมาจากความเจ็บปวดที่แผ่ไปยังหูและแก้ม เนื่องจากเส้นประสาทบริเวณฟันและเหงือกเชื่อมโยงกับบริเวณเหล่านี้

 

เคล็ดลับ : การกอดและนวดเบา ๆ ที่บริเวณที่ลูกน้อยดึงหรือถู อาจช่วยให้ลูกผ่อนคลายได้ค่ะ

 

 

เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์ ?

แม้ว่าการงอกของฟันจะเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีไข้สูงขึ้น หรือมีอาการอื่น ๆ ที่รุนแรง เช่น ท้องเสีย อาเจียน ควรปรึกษาแพทย์ทันที เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจไม่ได้เกี่ยวกับการงอกของฟันโดยตรง

 

 

การงอกของฟันเป็นกระบวนการธรรมชาติที่ทุกคนต้องเผชิญ การรู้จักพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ลูกแสดงออกเมื่อฟันกำลังงอกจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกน้อยได้ดีขึ้นในช่วงเวลานี้ อย่าลืมใช้เทคนิคต่าง ๆ เพื่อบรรเทาอาการไม่สบายตัวของลูก และมอบความรักและความใส่ใจให้ลูกผ่านพ้นช่วงเวลานี้อย่างราบรื่นนะคะ

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง