229
เรื่องเข้าใจผิดยอดฮิตเกี่ยวกับฟันน้ำนม

เรื่องเข้าใจผิดยอดฮิตเกี่ยวกับฟันน้ำนม

โพสต์เมื่อวันที่ : September 23, 2021

8 ข้อเข้าใจผิดยอดฮิตเกี่ยวกับฟันน้ำนม

 

✚ ลูกฟันเพิ่งขึ้นยังไม่ต้องแปรงฟัน ✚

ความจริง : ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ มีคำแนะนำปรับปรุงล่าสุดในปี 2560 ให้พ่อแม่เริ่มแปรงฟันให้ลูกด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ 1000 ppm ตั้งแต่ฟันน้ำนมขึ้นพ้นเหงือก เพราะฉะนั้น แปรงฟันซี่แรกของลูกได้เลย โดยใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์​ 1000 ppm ค่ะ

 

✚ รอให้ลูกบ้วนนำ้เป็นก่อนแล้วค่อยแปรงฟัน ✚

ความจริง : ไม่ต้องรอให้ลูกบ้วนน้ำเป็น ให้แปรงฟันซี่แรกของลูกด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์ 1000 ppm ได้เลย โดยเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ บีบยาสีฟันแค่พอแตะขนแปรงหรือเท่าเม็ดข้าวสาร เด็กกลืนได้ไปปริมาณเท่านี้ ไม่ต้องกังวลค่ะ

✚ การที่ลูกร้องไห้ตอนแปรงฟันจะทำให้ฝังใจ ✚

ความจริง : เด็กเล็กร้องไห้ตอนแปรงฟันเป็นเรื่องปกติ พ่อแม่เพียงใจเย็น และแปรงฟันลูกด้วยความสม่ำเสมอ สงบ มีเมตตา ไม่ดุ ไม่ขู่ สักวันลูกจะเรียนรู้และร่วมมือได้เองเมื่อโตขึ้น

 

✚ ฟันผุเป็นกรรมพันธุ์ ✚

ความจริง : ฟันผุไม่ใช่โรคทางพันธุกรรม พ่อแม่ที่มีฟันผุเยอะ ก็สามารถดูแลฟันลูกไม่ให้ผุได้ ถ้าดูแลแปรงฟันอย่างถูกวิธีตั้งแต่ซี่แรก พาไปพบหมอฟันได้รวดเร็วตั้งแต่ซี่แรก

 

✚ ถ้าดูแลฟันน้ำนมดีเกินไปจะทำให้ฟันไม่หลุด ฟันแท้ขึ้นซ้อน, ต้องปล่อยให้ฟันน้ำนมผุเพื่อให้หลุด, ต้องถอนฟันน้ำนมเพื่อให้ฟันแท้ขึ้น ✚

ความจริง : ฟันน้ำนมสามารถหลุดได้ตามธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องปล่อยให้ผุ หรือถอน เมื่อถึงเวลาที่ฟันแท้ใกล้ขึ้น จะค่อย ๆ ละลายรากฟันน้ำนมให้สั้น โยก และหลุดได้เองตามธรรมชาติ ยกเว้นบางกรณี ที่ฟันน้ำนมไม่หลุด ฟันแท้ขึ้นผิดตำแหน่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้ ให้ปรึกษาทันตแพทย์เพื่อวางแผนการดูแลต่อไป

✚ การเคลือบฟลูออไรด์จะทำให้ฟันน้ำนมไม่หลุด ✚

ความจริง : การเคลือบฟลูออไรด์จะช่วยทำให้ฟันน้ำนมแข็งแรง ป้องกันฟันผุ ไม่เกี่ยวกับการทำให้ฟันนน้ำนมไม่หลุด เพราะฟันน้ำนมหลุดได้ตามธรรมชาติเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ตามที่กล่าวไว้ในข้อ 4

 

✚ การถอนฟันเด็กทำให้ประสาทเสีย ✚

ความจริง : การถอนฟันเด็กเล็ก สามารถทำได้อย่างปลอดภัย ไม่เกี่ยวกับการทำให้ประสาทเสีย โดยทันตแพทย์จะพิจารณาการใช้ยาชาตามน้ำหนักตัว และวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมในเด็กแต่ละคน

 

✚ รอลูกปวดฟันก่อนแล้วค่อยพาไปพบหมอฟัน ✚

ความจริง : ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์ตั้งแต่ซี่แรกหรือลูกอายุไม่เกิน 1 ขวบ เพื่อดูแลป้องกันไม่ให้ฟันผุ และพบทันตแพทย์ต่อเนื่องเพื่อสร้างความคุ้นเคย หากพบฟันผุจะได้รักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่รอจนผุลุกลามจนปวดฟัน ติดเชื้อ เป็นหนอง ซึ่งจะทำให้ลูกทรมาน และเพิ่มความยุ่งยากในการรักษาอีกมากมายค่ะ