ข้อควรระวัง ! เมื่อต้องเลี้ยงลูกท่ามกลางเทคโนโลยี
เมื่อ ‘หน้าจอ’ ‘คอมพิวเตอร์’ ‘สื่อสังคมออนไลน์’ เป็นสิ่งที่อาจใช้คำว่า “หลีกเลี่ยงไม่ได้”
“ม่ายยยยยยยย” เด็กชายวัยอนุบาลกระทืบเท้าพร้อมกับคำรามเต็มเสียงจนหน้าแดงก่ำ แม้จะตัวจะเล็ก แต่อารมณ์ของเด็กชายไม่ได้เล็กตามตัวของเขาเลย
“แม่บอกแล้วใช่ไหมว่าหมดเวลาแล้ว เก็บของเล่น ไปกินข้าวครับ” แม่ใช้ความอดทนเฮือกสุดท้ายพูดเตือนเด็กชายด้วยความใจเย็น
“ไม่ไป ไม่กิน ไม่หิว ขอเล่นอีกแป็ปนึงนะ นะแม่นะ” เด็กชายต่อรองด้วยการปฏิเสธแบบดื้อดึง ผสมผสานกับการต่อรองปนคำสั่ง
“หมดเวลาคือหมดเวลา เก็บครับ” แม่บอกชัดเจน
“แม่ใจร้าย !” เด็กชายปรี๊ดขั้นสุดจนกลายร่างเป็นสัตว์ประหลาดความโกรธส่งเสียงคำรามก้อง พร้อมกับกระทืบเท้าโครมครามและโยนของเล่นทิ้ง แม่เห็นท่าไม่ดี จึง(หิ้วบวกอุ้ม)พาเด็กชายไปเข้ามุมสงบ เด็กชายแม้จะต้านสุดฤทธิ์ แต่ก็แพ้แรงของแม่ที่สั่งสมประสบการณ์มาตลอด ขณะนั่งสงบกับแม่ที่มุมห้อง เด็กชายเริ่มพูดพึมพำในความเงียบ
เด็กชาย : “จะให้ไดโนเสาร์มากินแม่ทั้งตัวเลย เพราะแม่ใจร้าย”
แม้แม่จะได้ยินแต่ก็ไม่โต้ตอบแต่อย่างใด เพราะเข้าใจดีว่าเด็กชายโกรธสุดฤทธิ์ และพยายามหาทางยั่วโมโหเธอ สักพักเด็กชายเริ่มพูดดังขึ้นมาอีกนิด “คอยดูนะ จะแอบไปเอากุญแจรถพ่อมาขับรถออกไปเลย จะไปที่ฮาเบอร์แลนด์ ไม่บอกใครเลย” แม่ยังคงสงบเงียบ และอยู่ข้าง ๆ เขา
● บทความที่เกี่ยวข้อง : สอนลูกให้โกรธเป็น และจัดการอารมณ์ตัวเองได้
หลังผ่านไปหลายสิบนาที ก่อนที่เด็กชายจะสงบลงเขาพูดขึ้นมาอีกครั้งว่า “ขนาดแมวร้องยังมีคนกอด ตัวเขาน่าสงสารไม่มีใครรักเลย” พอแม่ได้ยินแบบนั้นจึงพูดขึ้นว่า “อยากให้แม่กอดมั้ย” เด็กชายพยักหน้า แม่ดึงเขาไปกอดแน่น เด็กชายสงบลงในที่สุด
ก่อนจะปล่อยเด็กชายออกจากมุมสงบไป แม่ย้ำเตือนเขาเรื่องที่ทำผิด และบอกให้เด็กชายขอโทษในสิ่งที่เขาทำลงไป พร้อมกับพาเขาไปเก็บของเล่นก่อนไปกินข้าว
แม่ : “แม่รู้ว่าลูกอยากเล่นต่อ แต่เราตกลงกันไว้แล้วว่าหมดเวลาต้องเก็บจริงไหมครับ”
เด็กชาย : “แต่แม่ไม่เตือนก่อนเลยวันนี้”
แม่ : “แม่เตือนแล้วครับ แต่เราไม่ฟังแม่เลย แล้วคราวหน้าต้องทำยังไงดี”
เด็กชาย : “ให้แม่เตือนอีก”
แม่ : “งั้นแม่จะเตือนก่อนหมดเวลา 5 นาที แล้วตั้งเวลาเอาไว้ หมดเวลา นาฬิกาดัง เราต้องเก็บของนะ ตกลงไหมครับ”
เด็กชาย : “ครับ”
● บทความที่เกี่ยวข้อง : “ลูกโกรธแล้วตีคนอื่น” รับมืออย่างไร ?
แม่ : “แต่วันนี้เราโกรธ แล้วทำลายข้าวของ โยนของเล่นทิ้ง แบบนี้ไม่ดีเลยนะครับ ถ้าโกรธ ให้คุยกัน ไม่ทำร้ายกัน ไม่ทำลายของ จำได้ไหม”
เด็กชาย : “ครับ”
แม่ : “ทำผิดต้องทำยังไง”
เด็กชาย : “ขอโทษครับ”
แม่ : “ขอโทษที่เราทำอะไรครับ”
เด็กชาย : “ขอโทษที่โยนของครับ”
แม่ : “แล้วเราต้องไปเก็บของที่เราโยนด้วยนะครับ”
เด็กชาย : “ครับ”
แม่ : “ขอบคุณครับที่เข้าใจ ครั้งหน้า ถ้าไม่พอใจหรือโกรธ คุยกันดี ๆ นะครับ”
เด็กชาย : “ครับ แม่หายโกรธยัง”
แม่ : “แม่ไม่โกรธเราหรอก มากอดกันมา”
“ความโกรธกลายเป็นสัตว์ประหลาดตัวโตกว่าเด็ก ๆ พวกเขาจึงระบายออกด้วยจินตนาการเกินจริง”
บ่อยครั้งเด็ก ๆ วัย 3 - 5 ปีมีแนวโน้มจะสร้างโลกแห่งจินตนาการขึ้นมาได้อย่างแนบเนียน เพื่อช่วยให้เขาได้ทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นเวลาที่เด็กโกรธหรือไม่พอใจ อาจจะใช้จินตนาการเพื่อระบายความโกรธของพวกเขาออกมา เช่น เด็กชายที่จินตนาการว่าจะให้ไดโนเสาร์กินแม่ของเขา หรือ จะขับรถของพ่อหนีไปฮาเบอร์แลนด์
แม้จินตนาการจะเกิดขี้นจริงไม่ได้ แต่จินตนาการช่วยให้เขาได้ระบายความโกรธออกไป บางครั้งจินตนาการของเด็ก ๆ อาจจะดูรุนแรง หรือ เกินความจริงไปมาก ขอผู้ใหญ่อย่าตกใจหรือโกรธเด็ก ๆ ให้รับฟัง และไม่โต้ตอบทันที เมื่อเด็ก ๆ ค่อย ๆ สงบลงแล้ว คุยกับเขาด้วยเหตุผล และบอกเขาว่าเราโกรธได้ แต่เราจะไม่ทำร้ายกันและกัน ไม่ทำร้ายตัวเอง และไม่ทำลายข้าวของ ที่สำคัญผู้ใหญ่ไม่ต้องกังวลไปจิตนาการจะค่อย ๆ คลายลงเมื่อเด็กอายุมากขึ้นเอง
● บทความที่เกี่ยวข้อง : รับมือความโกรธด้วยความรัก
“โอบกอดสัตว์ประหลาดความโกรธด้วยการเป็นพื้นที่ปลอดภัย”
พ่อแม่ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นบ้านที่อบอุ่นจะทำให้เด็ก ๆ พูดความจริงและยอมรับผิดง่ายขึ้น พ่อแม่ที่ให้ความรัก การรับฟัง การสอน และการให้อภัย คือยอมรับเด็ก ๆ อย่างที่เขาเป็นและทำให้เขากล้าที่จะเปิดเผยกับเรา
บางครั้งเวลาที่เด็ก ๆ ทำผิดพลาดไป พวกเขากลัวว่า ‘พ่อแม่ของเขาจะโกรธแล้วผิดหวังในตัวเขา’ แต่ถ้าพ่อแม่ “ให้อภัยในสิ่งที่เด็กทำผิดพลาดไป” และ “ให้การสอนว่าที่ควรทำคืออะไร” แทนการลงโทษที่รุนแรง เด็ก ๆ จะไม่หวาดกลัวต่อการยอมรับผิด และเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง
สุดท้ายในวันที่เด็ก ๆ กลายร่างเป็นภูเขาไฟ ขอให้เรา(ใจ)เย็นพอ เราจะช่วยดับภูเขาไฟลูกนั้นได้ แต่ถ้าไม่ไหว แล้วตัวเรากลายร่างเป็นสัตว์ประหลาดความโกรธอีกคน ขออย่าระเบิดใกล้กัน ขอเวลานอกออกมาระบายความโกรธสักพักแล้วค่อยกลับไปเคียงข้างกันใหม่ หากไม่มีตัวช่วย ไม่ต้องรีบสอนกันตอนนั้น ลูกเล็กให้นั่งลงเคียงข้างกันไป แต่งดโต้ตอบ ลูกโตขอออกมาก่อน แยกมุมกัน พร้อมค่อยหันมาคุยกัน