76
ข้อควรระวัง ! เมื่อต้องเลี้ยงลูกท่ามกลางเทคโนโลยี

ข้อควรระวัง ! เมื่อต้องเลี้ยงลูกท่ามกลางเทคโนโลยี

โพสต์เมื่อวันที่ : January 15, 2025

 

เมื่อ ‘หน้าจอ’ ‘คอมพิวเตอร์’ ‘สื่อสังคมออนไลน์’ เป็นสิ่งที่อาจใช้คำว่า “หลีกเลี่ยงไม่ได้” 

 

ในยุคปัจจุบันนี้ เพราะสิ่งแวดล้อม สังคม การเรียน การใช้ชีวิตในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก ณ จุดหนึ่ง มนุษย์ทุกคนต้องใช้งานเทคโนโลยีอยู่ดี

 

ในขณะเดียวกันข้อเสียของเทคโนโลยีเหล่านี้ต่อสมองที่ยังต้องเติบโตของเด็กนั้นมีมากจนน่ากังวลเช่นกัน ดังนั้นพ่อแม่ในยุคดิจิทัลควรสร้างสิ่งแวดล้อมทางเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับลูก เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และลดผลกระทบที่ไม่ดีต่อลูกให้น้อยที่สุด

 

● บทความที่เกี่ยวข้อง : ฝึกลูกมีจริยธรรมในยุคดิจิทัล

 

 

หน้าที่ ‘แรก’ ของพ่อแม่ในยุคดิจิทัล คือ เป็นแบบอย่างที่ดี

มีกฎกติกาในการใช้หน้าจออย่างสมเหตุสมผล มิใช่ใช้ตลอดเวลา หรือใช้จนกระทบเวลาที่ใช้ร่วมกันระหว่างกัน (ในกรณีที่ทำงานผ่านหน้าจอ ก็ให้ชัดเจนว่าช่วงเป็นเวลาทำงาน) แนะนำให้งดหน้าจอทุกชนิดในช่วงเวลารับประทานอาหาร เพื่อให้เป็นเวลาที่ทุกคนในครอบครัวใช้ร่วมกัน เปิดโอกาสให้เราได้พูดและฟังซึ่งกันและกัน

 

จัดสมดุลของเวลาออนไลน์ (ใช้หน้าจอ) และออฟไลน์ (กิจกรรมที่ไม่ใช้หน้าจอ) ให้เหมาะสมโดยเฉพาะเวลาคุณภาพที่ใช้ร่วมกัน เพราะความสัมพันธ์ที่ดีเกิดจากการใช้เวลาที่ดีร่วมกัน ในอดีต เคยมีคนกล่าวไว้ว่า เทคโนโลยีทำให้เราใกล้กันมากขึ้น ติดต่อกันได้ง่ายขึ้น แต่ในปัจจุบันนั้นเทคโนโลยีอาจทำให้เราห่างไกลกันมากขึ้น สื่อสารกันน้อยลง หลายครั้งที่พ่อแม่และลูก นั่งอยู่ข้าง ๆ กันในบ้าน แต่แต่ละคนกลับก้มมองหน้าจอในมือของตัวเอง ไม่พูดคุยกัน ไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน อยู่ใกล้แต่ก็เหมือนห่างไกลกันเหลือเกิน

 

● บทความที่เกี่ยวข้อง : เทคโนโลยีไม่ใช่ผู้ร้ายที่แท้จริง

 

 

ลำดับที่ ‘สอง’ คือ ความปลอดภัยสำคัญที่สุด

เพราะเทคโนโลยีทำให้ ‘มิจฉาชีพ’ เข้าถึงเราและลูกได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ในขณะเดียวกันก็ทำให้เราและลูกเข้าถึงข้อมูลที่มีเนื้อหาที่อาจมีภาพ เสียง หรือเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมด้านพฤติกรรม ความรุนแรง เพศ และการใช้ภาษาซึ่งต้องใช้วิจารณญาณในการรับชม รับฟัง (คำกล่าวที่คุ้นเคยจากการตัดเรตติ้งเนื้อหารายการในโทรทัศน์) หลายชิ้นเด็กไม่ควรดู หลายชิ้นเด็กอาจดูได้เมื่อมีผู้ปกครองให้คำแนะนำที่เหมาะสมระหว่างชม ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องเป็นผู้ที่ดูแลความเสี่ยงในการใช้เทคโนโลยีให้ดี

 

อนุญาตให้ลูกใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้ช้าที่สุด (เท่าที่ทำได้) ในวัยที่เด็กสามารถรับผิดชอบตัวเองได้แล้ว โดยทั่วไปแต่ละแอพลิเคชั่นจะกำหนดอายุขั้นต่ำในการสมัครเปิดใช้บัญชีอยู่ที่ 13 ปีขึ้นไป (อันนี้เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่พ่อแม่ควรยึดใช้ก่อน) ไม่ควรเปิดบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ให้ลูกก่อนวัยอันควร เพราะอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็ก บั่นทอนความมั่นใจในตัวเอง และเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งออนไลน์ได้ เพราะสื่อสังคมออนไลน์อาจทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับตัวเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปร่างหน้าตา เงินทอง การใช้ชีวิตซึ่งอาจทำให้ลูกอาจยึดติดกับค่านิยมที่ไม่เหมาะสมทั้งกับวัยและสิ่งที่ควรจะเป็น

 

 

ในขณะเดียวกัน ผู้ปกครองต้องใช้วิจารณญาณในการโพสต์ด้วย ไม่ควรบอก ‘ตำแหน่ง’ (location tagging) แบบทันที ตอนนี้อยู่ตรงนี้ แม่อยู่ตรงนี้ ลูกอยู่โรงเรียนไหน รับลูกตอนกี่โมง บางคนบอกหมด หากผู้ไม่หวังดีรู้ก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ ส่วนการโพสต์ภาพของลูก ควรทำด้วยความระมัดระวัง ภาพของลูกที่พ่อแม่ลงสื่อสังคมออนไลน์เพื่อบันทึกเป็นความทรงจำ

 

บางครั้งเมื่อเวลาผ่านไปก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้ ยกตัวอย่างเช่น รูปที่ลูกห่มผ้าน้อยชิ้นในวัยเด็ก เห็นก้น เห็นอวัยวะต่าง ๆ ตอนเด็ก ๆ อาจดูน่ารัก หรือกระทั่งภาพลูกในอิริยาบถต่าง ๆ เมื่อเขาโตแล้วคุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องขออนุญาตเขาก่อนหากต้องเอารูปออกสู่สาธารณะ เป็นการสอนเรื่องกระบวนการขอความยินยอม (Informed consent) ให้กับลูก เพื่อรู้สิทธิบนร่างกายของตัวเอง การมีสิทธิ์ที่จะยินยอมหรือปฏิเสธตามความเห็นของตนเองได้

 

 

ข้อ ‘สาม’ เมื่อต้องใช้หน้าจอ ต้องมีกรอบและพ่อแม่ต้องสำรวจเสมอ

กรอบในที่นี้คือ เวลาที่ใช้เพื่อความบันเทิงไม่ควรมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการดูยูทูป การ์ตูน อะนิเมชั่น หรือการเล่นเกม พ่อแม่ควรต้องตรวจสองเนื้อหาของหน้าจอที่ลูกใช้เสมอว่าเหมาะสมตามวัยหรือไม่ (ตามที่กล่าวมา) ถึงเวลาเลิกก็ควรเลิก เลิกไม่ได้ก็ต้องเลิกได้ เสียใจที่เลิกดูก็ต้องเสียใจนั่นแหละ ชีวิตมันก็เป็นเช่นนี้

 

ไม่ควรให้มีหน้าจอในห้องนอน ไม่ควรอนุญาตให้ลูกนำมือถือ หน้าจอเข้าห้องนอน (โดยเฉพาะห้องนอนส่วนตัว) เพราะเขาอาจควบคุมตัวเองไม่ได้ที่จะไม่ดู ส่งผลให้เข้านอนดึก รบกวนคุณภาพการนอน ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ง่วง อาจกระทบต่อการเรียนในห้องเรียนได้

 

● บทความที่เกี่ยวข้อง : หยุดยื่นหน้าจอให้ลูกได้แล้ว !

 

 

สุดท้ายข้อที่ ‘สี่’ จำกัดการใช้หน้าจออย่างเหมาะสม

พ่อแม่ควรหากิจกรรมที่ลูกจะได้ลงมือทำอย่างเหมาะสมกับวัย บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่หยิบยื่นหน้าจอให้กับเด็กก็เพราะไม่รู้จะให้ลูกทำอะไร ดังนั้นการมองหากิจกรรมให้ลูกทำ ดีกว่านั้น คือ ทำร่วมกันไปกับลูกได้ เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันในยุคสมัยนี้ เพราะหากไม่มีการวางแผนมองหาไว้ก่อน เรื่องราวมักจบลงที่หน้าจอ หรือไม่ก็พาลูกไปเดินห้างสรรพสินค้านั่นเอง

 

กิจกรรมที่สามารถทำได้มีตั้งแต่กีฬา อ่านหนังสือ เล่นดนตรี เต้น (ในวัยที่เต้นไปด้วยกันได้อย่างไม่กระอักกระอ่วนใจ) ฟังเพลง ขีดเขียน เข้าครัวทำขนมหรืออาหารร่วมกัน ทำงานบ้าน ล้างรถ ซ่อมของใช้ในบ้าน ทำสวน รดน้ำต้นไป เดินเล่นรอบบ้าน นั่งใต้ต้นไม้ ไปสวนสาธารณะ ไปซื้อของด้วยกัน ไปท่องเที่ยวใกล้บ้าง ไกลบ้าง หรือบางทีก็แค่นั่งอยู่ข้าง ๆ กัน เล่าเรื่องให้อีกคนฟัง ได้ฟังเรื่องราวของอีกคน

 

 

จริง ๆ แล้ว การให้โอกาสให้ลูกเบื่อบ้าง พักบ้าง ว่างบ้างแบบไม่มีอะไรทำก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะเด็กมักไม่บ่อยให้ตัวเองเบื่อจนเกินไป เดี๋ยวพวกเขาก็จะหยิบคว้าเอาสิ่งของรอบตัวที่เขารู้สึกว่าทำแล้วมีความสุขมาลงมือทำเอง และนี่คือโอกาสที่พ่อแม่จะได้รู้ว่าลูกของเราชอบทำอะไร มีความสามารถอะไร มีดีอะไรนั่นเอง

 

“นี่คือแนวทางในการเลี้ยงลูกในยุคดิจิทัลในแบบของผู้เขียน”

 

 

ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง