176
ใช้หน้าจอมากไป ไม่ดีนะ

ใช้หน้าจอมากไป ไม่ดีนะ

โพสต์เมื่อวันที่ : December 7, 2024

 

จากสถิติทั่วโลกพบว่า ประชากรโลกทั้งหมดใช้เวลาเฉลี่ยดูหน้าจออยู่ที่ 6 ชั่วโมง 35 นาทีต่อวัน (ชีวิตจริงอาจมากกว่านั้น) โดยหากเจาะลึกไปที่ประชากรเด็ก

 

ข้อมูลจาก CDC สหรัฐอเมริกา พบว่า เด็กวัยประถมศึกษา (8 - 12 ปี) ใช้หน้าจอนาน 4 - 6 ชั่วโมงต่อวัน และวัยรุ่นอาจใช้หน้าจอสูงถึงวันละ 9 ชั่วโมงเลย ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและจิตของคนในทุกช่วงอายุอย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง

 

คำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบไม่ควรดูหน้าจอทุกชนิด อายุ 2 - 6 ปี ไม่ควรใช้หน้าจอเกินวันละ 1 ชั่วโมง และอายุ 6 ปีขึ้นไปไม่ควรใช้หน้าจอเกินวันละ 2 ชั่วโมง โดยเนื้อหาในหน้าจอควรมีความเหมาะสมตามวัย (ไม่นับรวมการวิดีโอคอลและการใช้สื่อเพื่อการเรียนการสอนในชั้นเรียน)

 

สำหรับสื่อสังคมออนไลน์ ควรปฏิบัติตามข้อกำหนดพื้นฐานของแพลตฟอร์มนั้น ๆ กล่าวคือ ผู้ที่สามารถลงทะเบียนเข้าใช้งานได้ต้องมีอายุ 13 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติกลับพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปียังคงปรากฏตัวบนสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก บางคนถึงขั้นมีหน้าเพจเป็นของตนเอง

 

 

ผลเสียโดยตรงของหน้าจอ คือ การจำกัดเด็กให้นั่งนิ่งอยู่กับที่ สูญเสียโอกาสในการเคลื่อนไหวร่างกาย การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัว ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยตรง อีกทั้งยังส่งผลต่อทักษะทางภาษา ทักษะการเข้าสังคม และความสามารถในการปรับตัวของเด็ก ๆ ต่อสถานการณ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ การใช้หน้าจอมากเกินไปยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วนในเด็ก เพราะนอกจากจะขาดการเคลื่อนไหวแล้ว เด็กบางคนยังรับประทานขนมและน้ำอัดลมระหว่างดูหน้าจออีกด้วย

 

นอกจากนี้ ยังส่งผลเสียต่อการนอน โดยเฉพาะเมื่อมีหน้าจออยู่ในห้องนอน ซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงขึ้น ความเพลิดเพลินจากการดูหน้าจอทำให้เข้านอนช้าและยากขึ้น ส่งผลให้ระยะเวลาการนอนลดลง รวมถึงคุณภาพการนอนที่แย่ลง ยิ่งไปกว่านั้น การแจ้งเตือนและเสียงรบกวนระหว่างนอนยิ่งทำให้นอนไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการทำกิจกรรมในช่วงกลางวัน โดยเฉพาะการเรียนในห้องเรียน

 

ผลเสียต่อสายตาก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ การใช้หน้าจอเป็นเวลานานทำให้ตาแห้ง (เนื่องจากการเพ่งทำให้กะพริบตาน้อยลง) ปวดศีรษะ และรบกวนการมองเห็น มีข้อมูลพบว่าการใช้หน้าจอมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสายตาสั้นในเด็ก นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อสรีระของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณศีรษะและคอ ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อคอ บ่า และไหล่

 

 

สุดท้าย ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อการเรียนและการทำงาน เพราะการใช้หน้าจอมากเกินไปดึงดูดความสนใจ ทำให้ไม่มีสมาธิ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการเรียนลดลง ทั้งด้านการคำนวณ ภาษา และการคิดวิเคราะห์ก็ถดถอย ไม่สามารถทำงานตามความรับผิดชอบได้เสร็จสมบูรณ์ และอาจส่งผลให้ผลการเรียนตกต่ำได้

 

ในขณะเดียวกัน ผลกระทบต่อสมองและพฤติกรรมในทางลบก็ชัดเจน งานวิจัยพบว่า การใช้หน้าจอมากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การพูดคำหยาบคาย พฤติกรรมก้าวร้าว การควบคุมตนเองที่ลดลง โดยเฉพาะการควบคุมอารมณ์ สมาธิสั้นลง และส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างอีกด้วย

 

เมื่อเด็กมีปฏิสัมพันธ์และใช้เวลาคุณภาพกับพ่อแม่ลดลง อาจนำมาซึ่งปัญหาพฤติกรรมต่าง ๆ ตามมา ยิ่งไปกว่านั้น หากพ่อแม่ไม่ได้ควบคุมเนื้อหาที่ลูกดู ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กจะได้รับสื่อที่ไม่เหมาะสมกับวัย เช่น ความรุนแรง ประเด็นทางเพศ หรือการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจนำไปสู่การเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

 

..."เหรียญมีสองด้าน หน้าจอก็เช่นกัน"...

 

 

ข้อดีก็มี ข้อเสียก็เยอะ ดังนั้นการหาจุดสมดุลในการใช้หน้าจอจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหน้าจอสามารถเปิดโลกและมอบประสบการณ์ที่มีประโยชน์ให้กับเด็กได้ รายการเพื่อการศึกษาที่ดีมีอยู่มากมาย ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมที่ดีได้ ดังนั้น การใช้หน้าจออย่างเหมาะสม ไม่นานเกินไป และมีกฎกติกาที่ชัดเจน เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญเพื่อประโยชน์สูงสุดของลูก

 

ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง