3189
ผลเสียของหน้าจอต่อเด็ก 

ผลเสียของหน้าจอต่อเด็ก 

โพสต์เมื่อวันที่ : May 11, 2022

“หน้าจอ” ไม่ว่าจะเป็นทีวี สมาร์ทโฟน แทปเล็ต เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตของคนในปัจจุบันอย่างมาก 

 

ส่วนหนึ่งก็เพื่อการติดต่อสื่อสาร การรับข่าวสารข้อมูล ความบันเทิง การเข้าถึงความรู้และค้นหาคำตอบเมื่อเกิดคำถาม รวมถึงใช้ในการเรียนทางไกล (เรียนออนไลน์) ที่จำเป็นมากในยุคปัจจุบัน เด็กจึงสามารถเข้าถึง ‘หน้าจอ’ ของเด็กได้ง่ายขึ้น ทำให้ในปัจจุบันอายุของคนที่เริ่มใช้หน้าจอลดลงอย่างมีนัยสำคัญ บางครอบครัวเริ่มให้เด็กทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือนเริ่มดูหน้าจอกันแล้ว โดยมักเริ่มที่การฟังและดูเพลงเด็ก รวมไปถึงการ์ตูนทั่วไป การ์ตูนเพื่อการศึกษา (?)

รวมถึงรายการที่มีเนื้อหาที่มิได้ถูกออกแบบมาเพื่อผู้ชมที่มีอายุน้อยด้วย แต่สำหรับเด็กเล็ก โดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 2 ขวบลงไป หน้าจอจะส่งผลเสียต่อเด็กอย่างชัดเจนไม่ว่าลักษณะของรายการที่ดูนั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม วันนี้มาทำความเข้าใจถึง ‘ผลเสีย’ ของหน้าจอกับเด็กกัน 

 

ผลเสียของหน้าจอกับเด็ก

1. การเกิดอาการคล้ายออทิสติก (Autistic-like symptoms) หรือหลายครั้งอาจถูกเรียกว่า “ออทิสติกเทียม” หรือ Virtual Autism โดยเฉพาะหาก ‘หน้าจอ’ พรากเวลาที่เด็กจะมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่และคนในครอบครัว โดยงานวิจัยหนึ่งพบว่าในเด็กเล็กที่ดูทีวี และ/หรือวีดีโอ และการไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ผู้เลี้ยงกับเด็กที่อายุ 12 เดือนสัมพันธ์กับการเกิด 'อาการคล้ายออทิสติก' ของเด็กที่อายุ 2 ขวบ อันได้แก่ ความบกพร่องทางการสื่อสาร พูดช้า สื่อสารกับผู้อื่นไม่ได้ รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับการแสดงออกทางอารมณ์และรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น

2. พัฒนาการที่ล่าช้า โดยเฉพาะพัฒนาการทางภาษา เนื่องจากหน้าจอที่มีการเคลื่อนไหวของภาพและเสียงที่น่าสนใจสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้ดี และเป็น “การสื่อสารทางเดียว” ที่ทำให้เด็กดำดิ่งสู่หน้าจอได้ไม่ยาก แต่ความสนใจนั้นไม่ใช่ ‘สมาธิ’ อย่างที่หลายคนเข้าใจ และเนื่องจากเป็นการสื่อสารเพียงทางเดียวที่มีปริมาณข้อมูลมหาศาลที่เด็กได้รับทั้งภาพและเสียงทำให้สมองได้รับ ‘สิ่งเร้า’ อย่างมากโดยไม่มีอากาสได้เรียนรู้สิ่งเร้าอย่างนั้นโดยสมองอย่างแท้จริง ต่างจาก ‘การอ่านหนังสือ’ ที่ได้รับข้อมูลอย่างเหมาะสมร่วมกับปฏิสัมพันธ์กับคนมากกว่า โดยเมื่อเปรียบเทียบเด็กในช่วงปฐมวัยด้วยแบบทดสอบทางสติปัญญาระหว่างกลุ่มที่ดูหน้าจอมากกว่า 1 ชม.ต่อวัน กับเด็กที่พ่อแม่ผู้เลี้ยงอ่านหนังสือให้ฟังเป็นประจำ พบว่าเด็กที่ใช้หน้าจอจะมีทักษะทางภาษาทั้งด้านความเข้าใจ การสื่อสาร และคำศัพท์น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ 

 

นอกจากพัฒนาการทางภาษาแล้ว การใช้หน้าจอยังสร้างผลเสียต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ ของเด็กอีกด้วย เนื่องจากการใช้หน้าจอทำให้เด็กเสียเวลา เสียโอกาสที่จะได้เล่นและเรียนรู้ตามวัยไป ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ การเล่นสมมติ การเล่นโดยใช้จินตนาการ การมีปฏิสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น นอกจากนี้ยังทำให้มีสมาธิความอดทนรอคอยต่ำลงอีกด้วย เพราะหน้าจอส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กเล็กในทุกทาง

 

 

3. พฤติกรรมเลียนแบบ และพฤติกรรมรุนแรง หากผู้ปกครองไม่คัดกรองเนื้อหาของรายการที่เด็กดูให้ดี อาจทำให้เด็กเห็นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับอายุไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษา ความรุนแรง เพศสัมพันธ์ และอื่น ๆ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดียที่ทำให้เด็กสามารถสื่อสารติดต่อกับคนแปลกหน้าที่อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงในการถูกล่อลวงและการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กโตได้ 

 

4. ผลกระทบต่อการนอน พบว่าแสงสีฟ้าจากหน้าจอรบกวนการหลั่งของฮอร์โมนเมลาโทนินที่เกี่ยวข้องกับการนอนของมนุษย์ การใช้หน้าจออย่างการดูทีวี ยูทูป รวมถึงการเล่นเกมส่งผลให้สมองถูกกระตุ้นอย่างมาก ดังนั้นการใช้หน้าจอในห้องนอน (ช่วงก่อนนอน) จะส่งผลให้เกิดความล่าช้าของการเข้านอนและประสิทธิภาพของการนอนได้ชัดเจน 

 

ไม่เฉพาะการใช้หน้าจอโดยตรงเท่านั้น การศึกษาพบว่าการใช้หน้าจอทางอ้อมโดยการเปิดหน้าจออย่างโทรทัศน์เป็นฉากหลัง (Background Media) ก็ส่งผลเสียกับลูกไม่น้อยไปกว่าการให้ลูกดูทีวีตรง ๆ เลยครับ พบว่าทำให้เด็กมีสมาธิสั้นลงขณะเล่น ลดคุณภาพของปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก และลดสมรรถภาพของเด็กทางสมอง (reduced performance on cognitive tasks) อีกด้วย ดังนั้นการใช้หน้าจออย่างเหมาะสม การปิดหน้าจอและลงไปเล่นกับลูกจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพัฒนาการของลูกนั่นเอง 

 

อย่าให้ 'หน้าจอ' แย่งลูกไปจากพ่อแม่และอย่าให้ ‘หน้าจอ’ แย่งพ่อแม่ไปจากลูกนะครับ เมื่อถึงยามที่ต้องใช้ ก็ควรใช้อย่างเหมาะสมตามวัย

 

 

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง