
6 ทักษะที่เด็กควรมีในศตวรรษที่ 21
ในยุคที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงแทบทุกวัน
“ลูกชายอายุ 2.9 ขวบค่ะ น้องเป็นเด็กร่าเริง คุยเล่นกับทุกคน ไม่กลัวคน แต่พักหลัง ๆ น้องจะทักทุกคนที่เดินผ่าน ไม่ว่าจะรู้จักหรือไม่รู้จัก แต่ที่แม่หนักใจคือ น้องจะทักทุกคน แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเล่นกับน้อง เด็กบางคนผลักน้องบ้าง ไล่น้องบ้าง ทั้ง ๆ ที่อยู่หมู่บ้านเดียวกัน เขาขี่จักรยานผ่านหน้าบ้าน น้องก็ไปทัก เขาก็ไล่น้อง น้องก็จะทำหน้างง ๆ หน้าเสีย ๆ แล้วเดินมาหาแม่ แม่อยากจะสอนเขา แต่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหนดี แม่เลี้ยงน้องเองตลอด 24 ชั่วโมงค่ะ พ่อก็ทำงานอยู่บ้าน ทุกคนเล่นกับน้องตลอด แต่เหมือนน้องอยากจะหาเพื่อนรุ่นเดียวกัน แม่ไม่รู้จะสอนน้องยังไงเมื่อน้องเจอสถานการณ์แบบนี้ หรือในอนาคตถ้าน้องต้องเจอแบบนี้อีก แม่ควรจะทำยังไงดีคะ ?”
กรณีนี้ เด็กกำลังเรียนรู้ ทักษะทางสังคม ซึ่งบางครั้งก็ได้รับการตอบสนองที่ดี แต่บางครั้งก็อาจโดนปฏิเสธ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติค่ะ และอย่าลืมว่า เด็กคนอื่น ๆ ที่มีปฏิกิริยาเหล่านั้นก็ยังเป็นเด็กเช่นกัน
คุณแม่อย่าเพิ่งกังวลไปไกล เพราะนี่คือ โอกาสที่ดี ที่จะช่วยให้ลูกได้ฝึกเข้าใจ “มุมมองของคนอื่น” ซึ่งกำลังพัฒนาอย่างเข้มข้นในช่วงวัยประมาณ 3 ขวบ (ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกกำลังจะเข้าอนุบาล มีเพื่อนมากขึ้น และจะได้ไม่ "หน้างง" ตลอดเวลา)
ที่คุณแม่บอกว่าลูกทำหน้างง ๆ นั้น ลูกเขาก็กำลังพยายามเข้าใจว่า “เพื่อนที่ผลัก คิดอะไรอยู่ ?” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากในการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมค่ะ
❶. อธิบายความคิดและความรู้สึกของลูก เพื่อให้ลูกเข้าใจตนเอง
ตั้งคำถาม : “ตอนที่เพื่อนผลักหรือไล่ลูกออกไป แม่คิดว่าลูกรู้สึกยังไง ?” ให้ลูกตอบเป็น “ความรู้สึก” ไม่ใช่ “ความคิด” เช่น ถ้าลูกตอบว่า “อยากให้เพื่อนเล่นด้วย” — นั่นคือความคิด ไม่ใช่ความรู้สึก
ความรู้สึกที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น งง ตกใจ ผิดหวัง เศร้า กังวล ฯลฯ เมื่อได้ชื่อของความรู้สึกแล้ว ให้คุณแม่ย่อตัวลง สบตาลูก ในช่วงที่ลูกยังเหวอ ๆ แล้วพูดอย่างเข้าใจ
🗨️ “แม่เห็นนะ ลูกรู้สึกตกใจที่เพื่อนไล่หนูออกมา”
จากนั้นสังเกตสายตาลูกว่าเขากำลังพยายามเข้าใจที่แม่พูดอยู่หรือเปล่า
🗨️ “จริง ๆ แล้วหนูอยากให้เพื่อนมาเล่นด้วย ใช่ไหมคะ ?”
รอการตอบสนองจากลูก — ถ้าพยักหน้า ก็ตอบกลับอย่างอ่อนโยนว่า
🗨️ “จ้ะลูก”
❷. ยืนยันกับลูกว่า “ลูกไม่ได้ทำผิด”
ตัวอย่าง
🗨️ “ที่ลูกเดินเข้าไปชวนเพื่อนเล่น ลูกไม่ได้ทำผิดนะคะ เพื่อนอาจกำลังยุ่งอยู่ ลูกเห็นไหมว่าเพื่อนกำลังขี่จักรยานอยู่ เขากำลังพยายามขี่ให้เก่ง ๆ ก็เลยยังไม่สนใจลูก”
เด็กส่วนใหญ่มักคิดว่า "ตัวเองผิด" เมื่อโดนปฏิเสธ ทั้งที่จริง ๆ ไม่ใช่ การยืนยันแบบนี้ช่วยให้ลูก มั่นใจในการเข้าสังคม ต่อไปได้ค่ะ
❸. อธิบายความคิดและความรู้สึกของเด็กคนอื่น
เพื่อให้ลูกเข้าใจว่า เพื่อนก็มีมุมมองและเหตุผลของตัวเอง
ตัวอย่าง
🗨️ “ลูกเห็นไหมว่าเพื่อนกำลังขี่จักรยานสนุก ๆ อยู่ ที่เพื่อนไม่ให้ลูกเล่น ทำท่าโบกมือและพูด ‘ไป ไป’ ก็เพราะเพื่อนอาจจะคิดว่าลูกจะมาขี่จักรยานของเขาก็ได้ เพื่อนยังไม่อยากแบ่งตอนนี้”
การใช้คำว่า “อาจจะ” สำคัญมาก เพราะแสดงให้ลูกเข้าใจว่า มีความเป็นไปได้หลายแบบ โดยไม่ตัดสินว่าเพื่อนไม่ดี
❹. มองหาทางออกหลาย ๆ ทาง (การแก้ปัญหา)
ปัญหา : ลูกอยากมีเพื่อนเล่น แต่เพื่อนไม่ได้อยากเล่นด้วย (หรือผลักกลับมา)
วิธี : ให้ลูกมีส่วนร่วมในการหาทางออก เช่น
🗨️ “เอายังไงดีนะ…ลูกอยากเล่นกับเพื่อน แต่เพื่อนยุ่งกับการขี่จักรยาน และยังไม่สนใจเล่นด้วย เราจะทำยังไงดีนะลูก ?”
เป้าหมาย : ไม่ใช่ให้ลูกตอบได้ถูกต้องทันที แต่ให้ลูก คุ้นเคยกับการคิดแก้ปัญหาเอง และกล้าตัดสินใจ
ถ้าลูกยังคิดไม่ออก คุณแม่อาจเสนอทางเลือก เช่น:
“หนูจะวิ่งเล่นกับแม่แทนดีไหม ?”
“หรือเรากลับไปเล่นของเล่นกันที่บ้าน แล้วค่อยออกมาหาเพื่อนใหม่อีกทีดีไหม ?”
ให้ลูก เลือกเอง เพื่อรู้สึกว่าเขาได้ “ควบคุมสถานการณ์” และยังคงความมั่นใจไว้ได้
เริ่มจาก ความรู้สึกของลูก → ไปสู่ ความรู้สึกของเพื่อน → แล้วจึง หาทางออกด้วยกัน ฝึกให้ลูก เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และแก้ปัญหาเอง อย่าลืมสังเกตด้วยว่า ลูกมีพฤติกรรมอะไรที่อาจไม่โอเคกับเพื่อนหรือเปล่า ถ้ามีก็ควรช่วยแนะนำอย่างอ่อนโยน
..."อย่าเพียงพูดว่า “ไปเล่นกับคนอื่นสิลูก” คำแนะนำแบบนั้นง่ายก็จริง... แต่เสียโอกาสทองในการ สอนทักษะชีวิตที่สำคัญมาก ไปอย่างน่าเสียดายเลยค่ะ"...
✱ ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official ✱