1841
ลูกกลัวหมอฟันจะทำอย่างไรดี ?

ลูกกลัวหมอฟันจะทำอย่างไรดี ?

โพสต์เมื่อวันที่ : January 10, 2020

ความกลัวเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ย่อมต้องเผชิญกับความกลัวอยู่เสมอ ดังนั้นเด็กกับความกลัวเป็นเรื่องที่คู่กัน เด็กจะกลัวในเรื่องที่จำฝังใจ เช่น การกลัวการเจ็บปวด กลัวคนแปลกหน้า ความกลัวสถานการณ์ใหม่ ๆที่ยังไม่เคยประสบมาก่อน ซึ่งความกลัวจะเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งของชีวิตเท่านั้น

 

ซึ่งความกลัวนั้นจะขึ้นอยู่กับตัวเด็กอีกทีว่าเด็กนั้นที่ผ่านมาพ่อแม่อาจจะมีปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กกลัวหมอฟันหรือกลัวการรักษาฟัน เช่น ประสบการณ์การรักษาฟันในอดีต โดยเฉพาะการพาเด็กเข้าการรักษาฟันตอนที่เด็กเจ็บอยู่ฟัน และอาจจะทำให้เด็กทั้งเจ็บแล้วกลัวและฝังลึกในใจเลยทำให้เกิดความกลัว และอาจจะส่งผลให้เด็กกลัวหมอที่ใส่ชุดสีขาว หรือกลัวการเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลหรือคลินิกทันตกรรมต่าง ๆ และการฟังจากคำบอกเล่าจากญาติ พี่น้อง เพื่อน และเด็กอาจจะรับรู้ได้จากพฤติกรรมบางอย่าง หรือจากสีหน้าที่มีความกังวลที่พ่อแม่แสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว เป็นต้น

 

พ่อแม่มีวิธีการเตรียมตัวอย่างไร ก่อนที่พาลูกไปหาหมอฟัน

การเตรียมตัวเด็กที่ดีนั้นมีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมของเด็กและความสำเร็จในการรักษา ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงคำพูดที่น่ากลัวหรือแสดงความกังวลต่อการทำฟันให้ลูกเห็น ไม่ควรใช้หมอฟันหรือการทำฟันเป็นเครื่องมือในการขู่ลูก เช่น “ถ้าไม่ยอมแปรงฟันนะ จะจับไปให้หมอถอนฟันเลย” ซึ่งจะยิ่งทำให้ลูกฝั่งใจและกลัวหมอฟันมากขึ้น ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยส่งเสริมทัศนคติในทางบวกต่อการทำฟันให้แก่ลูก เช่น “คุณหมอจะช่วยให้หนูมีฟันสวยและแข็งแรง” นอกจากนี้เมื่อพบว่าลูกมีฟันผุก็ควรพาลูกมาทำฟันตั้งแต่ตอนที่ยังไม่มีอาการปวด หากรอให้มีอาการปวดก่อนเด็กจะยิ่งมีความกังวลในการทำฟันมากขึ้น

 

เมื่อมาหาหมอฟันแล้ว หากลูกกลัวหมอฟัน ไม่ให้ความร่วมมือผู้ปกครองและทันตแพทย์ ควรทำอย่างไร

 

เด็กแต่ละคนที่มีความกลัวก็จะแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป เด็กที่มีความกลัวและไม่ให้ความร่วมมือ จำเป็นอย่างยิ่งที่หมอฟันจะต้องวิเคราะห์หาสาเหตุของความกลัวของเด็ก เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาเลือกใช้วิธีการจัดการพฤติกรรม ซึ่งพ่อแม่จะมีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการให้ข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ หลังจากนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของ ทันตแพทย์ที่จะเลือกใช้วิธีปรับพฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เด็กให้ลดความกลัว ความกังวล และยอมให้ความร่วมมือในการทำฟัน โดยวิธีที่ใช้มากที่สุดก็คือ การปรับพฤติกรรมโดยวิธีทางจิตวิทยาไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย ปลอบโยน ชมเชย ส่งเสริมให้กำลังใจ การเบี่ยงเบน ความสนใจ หรือการแยกผู้ปกครอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่อายุของเด็ก ระดับของความร่วมมือ และปริมาณงานหรือ ความเร่งด่วนของการรักษาด้วย เช่น ในเด็กเล็กต่ำกว่า 3 ขวบ ที่ยังพูดคุยสื่อสารกันไม่เข้าใจ หรือเด็กที่ไม่ให้ ความร่วมมืออย่างมาก ทันตแพทย์ก็อาจจะจำเป็นต้องขออนุญาตใช้ผ้าห่อตัวเด็ก (Papoose board) ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของเด็กเพื่อให้สามารถให้การรักษาได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออาจจะนำเสนอทางเลือกการรักษาทางทันตกรรมภายใต้การทานยาให้สงบหรือการดมยาสลบให้แก่ผู้ปกครองเป็นผู้ตัดสินใจ

 

สิ่งที่ดีที่สุดที่จะทำให้ลูกน้อยไม่กลัวหมอฟัน

สิ่งที่ดีที่สุดที่จะทำให้ลูกของคุณไม่กลัวหมอฟันคือ การดูแลช่องปากของลูกไม่ให้มีฟันผุ โดยควรพาลูกมาพบหมอฟันตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้นหรือภายในขวบปีแรก และตรวจฟันอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ 6 เดือน เมื่อลูกไม่มีฟันผุ เวลาทำฟันก็ไม่เจ็บ เมื่อไม่เจ็บก็มักจะไม่กลัวหมอฟัน แต่เมื่อลูกมีฟันผุแล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ควรเข้มแข็งที่จะพาลูกมารับการรักษาตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าลูกจะร้องไห้ตั้งแต่อยู่ที่บ้านเมื่อรู้ว่าจะพามาทำฟันก็ตาม เพื่อให้ลูกของคุณมีสุขภาพช่องปากที่ดี ซึ่งเมื่อมีสุขภาพช่องปากที่ดีแล้วก็จะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการในด้านอื่น ๆที่ดีตามไปด้วย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : อ.ทพญ.ชุติมา อมรพิพิธกุล อาจารย์ประจำภาควิชาทันตกรรมเด็ก

คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล