3040
บันไดขั้นแรกของเจ้าตัวเล็ก

บันไดขั้นแรกของเจ้าตัวเล็ก

โพสต์เมื่อวันที่ : September 4, 2023

 

บันไดขั้นแรกในชีวิตของลูกจะมั่นคงได้ เมื่อพ่อแม่มีอยู่จริงจากการสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูก

 

บันไดขั้นต่อมา คือ การรับรู้ความสามารถในด้านร่างกายของตนเอง และรับรู้ว่าตนเองมีความสามารถที่จะทำสิ่งใดได้บ้าง ตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของ (Psychosocial Development) อีริก อีริกสัน นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน ได้กล่าวไว้ว่า "พัฒนาการขั้นที่สองของมนุษย์ (วัย 2-3 ปี) คือ ความเป็นตัวของตัวเอง (Autonomy)”

 

เด็กวัยนี้มีอิสรภาพทางร่างกายมากขึ้น เขาสามารถคลาน เดิน วิ่ง และหยิบคว้าอย่างรวดเร็ว เพราะกล้ามเนื้อของเขาเริ่มแข็งแรงพอจะเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง แต่อาจจะกะน้ำหนักมือไม่ได้และยังไม่คล่องแคล่วมากนัก ทำให้เขาอาจจะทำน้ำหก ทำของหลุดมือ จับของแล้วเผลอบีบจนเละคามือ และหกล้มได้บ่อยครั้ง ดังนั้นความสามารถที่ต้องพัฒนามาพร้อมกับด้านร่างกาย คือ 'การควบคุมร่างกายตนเอง' ซึ่งทักษะนี้จะเกิดขึ้นได้ หากเด็กได้ลงมือทำและฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ

 

 

ภารกิจที่สำคัญของพ่อแม่และผู้ใหญ่ของเด็กวัยนี้ คือ 'การสอนเด็กช่วยเหลือตัวเองตามวัย (Self-care)

เพื่อให้เขาได้ฝึกทำอะไรด้วยตนเอง' ได้แก่ การกิน การล้างหน้า แปรงฟัน การอาบน้ำ การถอด-ใส่เสื้อผ้า การถอด-ใส่รองเท้า การเก็บของเล่น และการเข้าห้องน้ำ แน่นอนว่าเราไม่ได้คาดหวังว่าเด็กวัย 2-3 ปี ต้องทำทุกอย่างนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะเราไม่ได้คาดหวังผลลัพธ์ แต่เราคาดหวังให้เขาเรียนรู้การลงมือทำทุกขั้นตอนด้วยตัวเขาเอง

 

เมื่อทำเสร็จพ่อแม่และผู้ใหญ่มีหน้าที่ดูแลตรวจสอบความเรียบร้อยอีกครั้ง โดยอาจจะทำย้ำให้ในครั้งที่สอง เช่น ให้เด็กได้แปรงฟันด้วยตนเอง 1 นาที เมื่อแปรงเองแล้ว พ่อแม่มาแปรงย้ำอีกครั้ง ให้เด็กอาบน้ำเอง เขาอาจจะทำได้เพียงราดน้ำ และถูสบู่แค่บริเวณที่เขาเอื้อมถึง พ่อแม่มาช่วยย้ำและถูในบริเวณที่เขาทำไม่ถึงได้อีกครั้ง เป็นต้น

 

 

..."เมื่อลูกทำได้ด้วยตนเอง อย่าลืมชื่นชมทุกก้าวเล็ก ๆ ของลูก เพราะทุกกำลังใจจากพ่อแม่สำคัญสำหรับลูกเสมอ"...

 

 

สิ่งสำคัญอีกประการของพ่อแม่ที่มีลูกวัยนี้ คือ 'ความอดทนรอคอย' หากเราเข้าไปช่วยเหลือลูกเร็วเกินไป เด็กจะขาดโอกาสในการฝึกฝนการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง และทำให้เขาเลือกที่จะไม่ทำสิ่งนั้น เพราะเขารู้ว่า “พ่อแม่พร้อมจะทำให้เขา” และเด็กจะรับรู้ว่า “พ่อแม่ไม่มีความอดทนเพียงพอที่จะรอเขา”

 

 

เคล็ด(ไม่)ลับสำหรับพ่อแม่ คือ “การเผื่อเวลาให้กับลูกเสมอ” และ “ใช้กฎ 5 นาที” กฎ 5 นาที คือ การชะลอเวลาก่อนเข้าไปช่วยเหลือลูก เราให้เวลาลูกลงมือทำ 5 นาที และเมื่อเลยเวลา 5 นาที ค่อยเข้าไปสอนหรือช่วยเหลือเขา ในกรณีที่ลูกไม่อยากทำและไม่ลงมือทำ เราบอกลูกชัดเจนได้ว่า “ให้ลูกพยายามทำเองก่อน 5 นาที ถ้าลูกทำไม่ได้ พ่อแม่จะเข้าไปช่วยสอน ย้ำว่าเข้าไปสอน ไม่ใช่ทำให้เขาเลย”

 

ขั้นตอนการสอนที่ดีที่สุด

  • ขั้นที่ 1 ทำให้ดูเป็นแบบอย่าง และให้เขาลองทำตาม (หากเด็กทำไม่ได้ ให้ไปที่ขั้นที่ 2)
  • ขั้นที่ 2 จับมือเขาทำไปด้วยกัน เพื่อให้เขาจดจำการเคลื่อนไหวแล้วทำตามได้ และให้เขาลองทำด้วยตนเองอีกครั้ง
  • ขั้นที่ 3 ฝึกฝนจนสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีพ่อแม่ช่วย

 

เมื่อเด็กรับรู้ว่า 'ตนเองสามารถทำสิ่งใดได้ด้วยตนเอง' เขาจะรับรู้ถึงความสามารถของตน ซึ่งนำไปสู่ความภาคภูมิใจ และความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง (Sense of Autonomy) และการควบคุมตนเอง (Self Control) จะเกิดขึ้นตามมา

 

ในทางตรงกันข้าม พ่อแม่ที่ปกป้องลูกจนเกินเหตุ ห้ามลูกทำนู่นทำนี่จนทำให้เด็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองตามวัย หรือ พ่อแม่ที่ตำหนิทุกสิ่งทุกอย่างเวลาลูกทำอะไร จนลูกไม่กล้าทำอะไรด้วยตนเอง และรอคำสั่งจากผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว เด็กจะเกิดข้อสงสัยในตัวเองว่า “แท้จริงแล้วเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งนำไปสู่ความวิตกกังวลและไม่มั่นใจในตนเอง (Shame and doubt) ในเวลาต่อมา” 

 

 

เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองตามวัยไม่ได้แสดงออกได้ 2 รูปแบบ

  1. เด็กที่เอาแต่ใจ เพราะเขาต้องรอให้ผู้อื่นมาทำสิ่งต่าง ๆ ให้กับตัวเอง การต้องพึ่งพาผู้อื่นอยู่ตลอดเวลาทำให้เขาหงุดหงิด เพราะสิ่งที่ผู้อื่นทำให้อาจจะไม่ได้ดั่งใจเขา 
  2. เด็กที่ไม่กล้าทำอะไรเอง ต้องรอผู้ใหญ่มาบอกหรือตัดสินใจให้ว่า “เขาต้องทำอะไร” 

 

ปัญหาที่ขึ้นตามมาของเด็กทั้ง 2 รูปแบบนี้ คือ เด็กอาจจะปรับตัวได้ยาก เมื่อเขาต้องเข้าโรงเรียนหรือเข้าสู่สังคม เขาจะไม่กล้าลองสิ่งใหม่ เพราะเขาไม่มั่นใจว่าตนเองมีความสามารถพอที่จะทำอะไรได้ด้วยตนเอง หรือ ทำสิ่งนั้นได้โดยไม่ต้องมีใครมาช่วย

 

แม้การฝึกฝนช่วยเหลือตัวเองของลูกในช่วงแรกจะทำให้บ้านเลอะเทอะบ้าง ร่างกายลูกไม่ได้สะอาดเอี่ยมอ่องดังหวังบ้าง ขอให้พ่อแม่และผู้ใหญ่มองข้ามจุดนี้ไป และปล่อยให้ลูกได้ลองทำอย่างเต็มที่ด้วยตนเอง หลังจากนั้นค่อยชวนเขามาเก็บกวาดหลังทำเสร็จ หรือ ช่วยสอนเขาทำความสะอาดร่างกายอย่างเหมาะสมอีกรอบก็ย่อมได้ เมื่อเด็กได้ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เขาจะทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นความชำนาญ และความมั่นใจในตนเอง

 

 

ให้เด็ก ๆ เล่นโดยใช้ร่างกายให้มากที่สุด เพื่อสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่ที่แข็งแรงพร้อมใช้งานในช่วงวัยต่อไป อย่าเพิ่งมุ่งอ่านเขียนเป็นสำคัญ

 

  • เล่นปีนป่าย เช่น ปีนเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น ปีนต้นไม้ 
  • เล่นกับธรรมชาติ เช่น เล่นน้ำ เล่นดิน เล่นทราย เล่นโคลน เล่นใบไม้ ใบหญ้า เรียงหิน เป็นต้น
  • เล่นเลอะเทอะ (Messy play) เช่น เล่นกับอาหาร ได้แก่ ข้าวสารแห้ง เส้นมักกะโรนี เส้นสปาเก็ตตี้ หั่นผักผลไม้ แป้งข้าวโพดใส่น้ำ เป็นต้น
  • เล่นทำงานบ้าน เช่น ช่วยแม่ทำอาหาร ช่วยพ่อล้างรถ ช่วยกวาดพื้น ถูพื้น ซักผ้า เป็นต้น

 

การเล่นเช่นนี้ทำให้เด็กได้ทดสอบร่างกายของตนเอง และส่งเสริมให้ร่างกายได้ใช้งานอย่างเต็มที่นั้นเอง เด็กที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ใช่แค่เพียงทำให้พ่อแม่สบายใจที่ปล่อยลูกไปสู่โลกภายนอก แต่เป็นความมั่นใจที่เกิดขึ้นในตัวเด็กด้วยว่า “เขาสามารถทำได้” เด็กจะพร้อมเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ อย่างมีความสุขเพราะฐานของเขานั้นมั่นคงและเเข็งแรง

 

อ้างอิง : Widick, C., Parker, C. A., & Knefelkamp, L. (1978). Erik Erikson and psychosocial development. New directions for student services, 1978(4), 1-17.

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง