พัฒนาทักษะ STEAM ผ่านงานบ้าน
แต่ละครอบครัวมีงานบ้านอะไรบ้างที่มอบหมายให้เด็ก ๆ ช่วยทำ ?
ตอนที่ 3
เวลาที่พ่อแม่ถามความรู้สึกของลูก บ่อยครั้งจะได้ยินเด็กตอบว่า ดีใจ, เสียใจ, หรือโกรธ เป็นความรู้สึกไม่กี่อย่างที่เด็กนึกออก ถ้าเป็นเด็กเล็กก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะความซับซ้อนของอารมณ์นั้นเข้าใจยาก แต่หากเป็นเด็กโต ควรจะสังเกต แยกแยะและทำความเข้าใจได้มากกว่านี้
ณ งานวันเกิดของเด็กวัยประถมฯ เด็กคนหนึ่งส่งเสียงโวยวายเพราะโดนแย่งขนมเค้ก (สมมติชื่อ เอ) หากถามว่าหนูรู้สึกยังไง เอคงบอกว่า ...“โกรธหรือกลัวเพื่อน”... ส่วนเด็กที่แย่งเพื่อน (สมมติชื่อ บี) โดนพ่อแม่ตีทันที หากถามความรู้สึกบีก็คงบอกว่า ...“เจ็บและกลัวพ่อแม่”... สำหรับเด็กเจ้าของงานวันเกิด (สมมติชื่อ ซี) ก็อาจไม่รู้สึกอะไรเลย หรือบางคนก็อาจ ...“เสียใจที่งานไม่สนุก”...
เป็นกลุ่มอารมณ์พื้นฐานที่พ่อแม่คุ้นปากเวลาคุยกับลูก แต่ความจริงแล้ว คนเรามีความรู้สึกได้มากกว่านั้น เหตุการณ์เดียวกัน นอกจากเด็กแต่ละคนจะรู้สึกต่างกันแล้ว บ่อยครั้งก็สร้างความรู้สึกที่หลากหลายให้เกิดขึ้นพร้อมกันได้ เช่น...
✖︎ บีที่โดนพ่อแม่ตี นอกจากจะกลัวพ่อแม่แล้ว ก็อาจโกรธพ่อแม่ด้วยที่ทำให้เจ็บตัว แถมต้องอายเพื่อนอีก
✖︎ ส่วนซีที่เป็นเจ้าของงานวันเกิด นอกจากเสียใจที่งานไม่สนุก ก็อาจรู้สึกตกใจที่เห็นบีโดนตี หรือบางทีก็อาจโกรธบีไปด้วยที่ทำให้งานสะดุด หากพ่อแม่สามารถลงรายละเอียด ก็จะเห็นความรู้สึกเหล่านี้ในตัวลูก
เพราะบ่อยครั้งเด็กที่ไม่เข้าใจตนเอง และรู้สึกไม่มีคนเข้าใจ อาจแสดงพฤติกรรมไม่ร่วมมือ ต่อต้านพ่อแม่ อาละวาดหงุดหงิด ร้องไห้ง่ายได้ ซึ่งหากพ่อแม่ไม่เข้าใจลูก ก็จะคิดว่าลูกดื้อเอาแต่ใจ
✖︎ ที่บ้านของบี แม่พยายามแบ่งขนมให้พี่และน้องเท่า ๆ กัน แต่ไม่ว่าจะแบ่งยังไง บีก็รู้สึกว่าตนได้น้อยกว่าอยู่ดี บีส่งเสียงโวยวาย ไม่ยอมน้อง จนคุณแม่ต้องดุและตี บีถึงยอม !
ในมุมมองของแม่ คงคิดว่าลูกคนนี้ขี้หวงเกินไป ลึก ๆ คงโกรธลูกที่สร้างปัญหาได้แม้แต่เรื่องเล็กน้อย แต่หากมองลึกเข้าไปในหัวใจบี เด็กชายที่โดนดุและตีเกี่ยวกับเรื่องนี้มาตลอด โลกภายในคงเต็มไปด้วยความรู้สึกโกรธ, กลัว, น้อยใจ, เสียใจ และไม่ไว้วางใจ นำมาซึ่งการต่อต้านและไม่ร่วมมือ
❒ บี “โกรธพ่อแม่” เพราะพ่อแม่ตีและใช้อารมณ์กับเขา
❒ บี “โกรธน้องและเพื่อน ๆ” ที่เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ ที่ทำให้เขาต้องโดนตี
❒ บี “น้อยใจพ่อแม่” ที่เอาแต่ต่อว่าเขา ไม่เคยเข้าใจเขาอย่างลึกซึ้ง
❒ บี “เสียใจ” ที่ไม่มีใครเข้ามาช่วยให้หลุดออกจากวังวนนี้
❒ บี “เสียใจ” ที่ตนเองทำผิดซ้ำ ๆ และไม่ชอบตัวเองแบบนี้เหมือนกัน
❒ บี “ไม่ไว้วางใจพ่อแม่” ไม่คิดว่าพ่อแม่ช่วยได้ ต่อให้พ่อแม่พูดอย่างไรก็ไม่เชื่อ
อ่านความรู้สึกของบีถึงตรงนี้แล้ว จะเห็นว่าทุกเหตุการณ์ที่เข้ามาในชีวิตสร้างความรู้สึกบางอย่างเอาไว้เสมอ และแต่ละความรู้สึกก็มีเหตุผลสนับสนุนและเชื่อมโยงกันด้วย ถ้าพ่อแม่เข้าใจบีได้อย่างนี้ ความคิดที่ว่าลูกขี้หวง มีเรื่องได้ตลอดเวลา ก็คงลดน้อยลง
พ่อแม่จึงควรอ่านความรู้สึกของลูกให้มากขึ้น หรือรับฟังลูกให้มากขึ้นในแต่ละเหตุการณ์ของชีวิตประจำวัน ไม่โฟกัสแต่การแก้ปัญหาอย่างเดียว เมื่อเข้าใจแล้ว ก็ต้องพูดออกมาด้วยนะคะ เช่น...
...“แม่ขอโทษที่ตีลูกนะ แม่รู้ว่าลูกทั้งเจ็บและกลัวแม่(กอดลูก)”....
... “จริง ๆ แล้ว ลูกก็คงอายเพื่อน ตอนที่แม่ตีลูกในงานวันเกิดซีด้วย.. แม่ขอโทษที่ทำให้ลูกอายนะ” ....
... “ลูกน้อยใจที่แม่มักต่อว่าลูกเรื่องนี้ใช่มั้ยจ้ะ”....
...“บางทีลูกก็รู้แหละว่า แม่แบ่งเท่ากัน แต่เพราะโกรธแม่อยู่ ก็เลยไม่ยอมฟังใช่มั้ยจ้ะ”...
...“จริง ๆ แล้ว แม่ก็รู้นะว่า ลูกก็ไม่อยากเป็นแบบนี้ ใช่มั้ย ลูกรัก”...
หากเราเข้าใจและพูดออกมาได้หมด เรื่องคาใจลูกจะน้อยลง ทำให้เปิดใจกับพ่อแม่ง่ายขึ้น ลองนำไปประยุกต์ใช้นะคะ และอย่าลืมสังเกตท่าทางของลูกด้วยว่าเขากำลังรู้สึกถูกเข้าใจจริง ๆ หรือเปล่า ความเข้าใจของพ่อแม่ จะนำมาซึ่งการเปิดใจของลูก เมื่อลูกเปิดใจ ปัญหาพฤติกรรมต่าง ๆ จะถูกหยิบมาคุยกันเพื่อหาทางแก้ไขต่อไปค่ะ
อ่านต่อ ตอนที่ 4 พ่อแม่ก็ต้องเข้าใจตนเองและจัดการอารมณ์ตนเองเหมือนกัน