พัฒนาทักษะ STEAM ผ่านงานบ้าน
แต่ละครอบครัวมีงานบ้านอะไรบ้างที่มอบหมายให้เด็ก ๆ ช่วยทำ ?
ปัญหา “ลูกชอบยียวน เชิญชวนให้ปรี๊ดแตก” ดูเหมือนจะเป็นปัญหาคลาสสิคสำหรับคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลาย ซึ่งปัญหาธรรมดา ๆ ข้อนี้ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ง่าย แต่เอาเข้าจริง พอเจอความกวนของลูกแบบขีดสุดเข้าให้ คุณพ่อคุณแม่ก็มีอันต้องตบะแตกกันไปเสียเกือบทุกราย
การที่จะทำใจไม่ให้โกรธลูกที่กำลังกวนใจเราอยู่ได้เห็นจะมีอยู่เพียงวิธีเดียว ซึ่งนั่นก็คือ การลองเอาตาของเราไปมองมุมเดียวกับลูก ลองเอาใจของเราไปทำความเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่งดู อย่าเพิ่งคิดมนุษย์พ่อกำลังจะเขียนบทความธรรมะนะครับ เพราะการทำความเข้าใจกับ “ลูก” ของเราเอง อย่างไรก็คุ้มค่าทุกนาที ยิ่งกว่าดูทีวีไม่มีโฆษณาอีกครับ แล้วมีอะไรที่เราควรจะเข้าใจลูกบ้าง มาดูกัน
✔︎ เข้าใจว่า... ลูกยังเล็ก สมองยังไม่พัฒนาถึงขั้นที่มีเหตุผล และสามารถควบคุมความต้องการของตัวเองได้
✔︎ เข้าใจว่า... เป็นธรรมชาติของวัย ที่ลูกจะท้าทายและทดสอบขีดจำกัดว่า สามารถทำอะไรได้มากแค่ไหนในบ้านนี้ และพ่อแม่จะมีปฏิกริยาอย่างไร
✔︎ เข้าใจว่า... ลูกกำลังอยู่ในวัยช่างสงสัย ช่างคิด ช่างถาม เห็นอะไรจึงสงสัยไปหมด และสามารถถามได้แบบ non-stop อีกทั้งยังถามซ้ำไปซ้ำมาได้ไม่รู้จบ
✔︎ เข้าใจว่า... ลูกต้องการลองทำทุกอย่างด้วยตัวเอง อยากรู้ว่าร่างกายของเขาสามารถทำอะไรได้มากน้อยสักแค่ไหน
✔︎ เข้าใจว่า... ถึงแม้ลูกจะโตขึ้นทุกวัน แต่ก็ยังต้องการความรักความสนใจจากเราไม่น้อยลงไปจากเดิม
ถึงอย่างไร หากคุณพ่อคุณแม่ยังไม่สามารถเข้าใจได้หมดทุกข้อ แต่อย่างน้อยการพยายามแสดงออกถึงความเข้าใจให้ลูกเห็นเสียหน่อยก็ไม่เห็นจะเป็นไร ตัวอย่างเช่น การใช้คำว่า “พ่อเข้าใจนะ” หรือ “แม่เข้าใจนะ” ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญในการทำให้ลูกสงบสติอารมณ์ลงอย่างได้ผลเสมอ แต่อย่าลืมต่อด้วยการถามและรับฟังปัญหาของลูกด้วยนะครับ
หาก “ความเข้าใจ” ยังไม่สามารถสะกัดอารมณ์อันพลุ่งพล่านของตัวเราเองได้ ก็ขอให้หันไปพูดกับลูกตรงๆว่า ตอนนี้พ่อหรือแม่โกรธระดับ 10 แล้ว ขอเวลาทำใจก่อน แล้วเดี๋ยวค่อยกลับมาคุยกันใหม่ อย่าลืมว่า พ่อแม่ก็ยังคงเป็นมนุษย์ ยังไม่ได้บรรลุธรรมด้านใด ๆ การที่ยังมีอารมณ์โกรธจึงเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งสำคัญคือ ไม่ควรที่จะคุยหรือเจรจาใด ๆ หากกำลังโกรธอยู่ เพราะสติและเหตุผลของเราจะแปรผกผันกับอารมณ์โกรธเสมอ ยิ่งดันทุรังยิ่งจะทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงได้
..."อย่าให้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่กับลูกเสียไปด้วยการใช้ความรุนแรง และสุดท้ายจบลงที่ “การเจ็บที่ตัว แต่สะเทือนไปถึงหัวใจ” กันเลยนะครับ"...