3444
ไม่ดีนะ... ถ้าลูกมั่นใจในตัวเองมากเกินไป !

ไม่ดีนะ... ถ้าลูกมั่นใจในตัวเองมากเกินไป !

โพสต์เมื่อวันที่ : June 10, 2020

เด็กที่มั่นใจในตัวเอง คือเด็กที่รับรู้ว่าตนเองมีความสามารถในการจัดการสถานการณ์ตรงหน้า..คือรับรู้ว่า “ตนเองมีความสามารถจริง” และมีพลังที่จะแสดงพฤติกรรม/คำพูดของตนเองได้จริง ๆ ทำให้มี “ความกล้า” ในการแสดงออกมา เช่น กล้าคิด, กล้าพูด, กล้าปกป้องตนเอง, กล้าที่จะไม่ยอมรับความอยุติธรรม, กล้าช่วยเพื่อน และอีกมากมายที่เป็นความกล้าที่น่าชื่นชม

 

แต่เด็กที่มั่นใจในตนเองหลายคน ก็อาจใช้พลังและความกล้านั้นเกินขอบเขต เช่น นำไปใช้แกล้งเพื่อน ควบคุมเพื่อน ไม่ฟังใคร หลายคนเรียกเด็กแบบนี้ว่า “เด็กมั่นใจในตนเองมากเกินไป!” ซึ่งเราอาจเคยพบผู้ใหญ่ลักษณะนี้มาแล้ว เป็นคนที่มั่นใจสูงแต่ขาดทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ดังนั้นพ่อแม่ต้องพยายามสอนลูกให้มีความมั่นใจในระดับพอดี อย่าให้น้อยเกินไปจนไม่กล้า หรือมากเกินไปจนลำเส้นคนอื่นได้

 

ความมั่นใจที่พอดี

คือความมั่นใจที่ลูกกล้าแสดงพฤติกรรมและคำพูดเพื่อนำไปสู่การปกป้องหรือพัฒนาตนเอง และหรือคนรอบข้างในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ โดยไม่ละเมิดกติกาหรือสิทธิของคนอื่น ซึ่งลูกจะทำได้ ก็เมื่อพ่อแม่อบรมสั่งสอนลูกให้อยู่ในกติกา ไม่เอาแต่ใจตนเอง รู้จักยอมรับความคิดเห็นของคนอื่นควบคู่ไปกับการรับรู้ศักยภาพและความสามารถของตนเอง ซึ่งต้องใช้การเลี้ยงลูกเชิงบวกและวินัยบวกเป็นหัวใจสำคัญ

 

การสอนให้ลูกทำตามกติกานั้น เริ่มได้ตั้งแต่ลูกเล็ก ๆ อย่าใช้อารมณ์ดุด่าและขู่ลูก เพราะความกลัวเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกไม่กล้า สูญเสียความมั่นใจได้... เมื่อลูกเริ่มโตออกสู่โลกภายนอก ก็ต้องรู้จักทำตามกติกาสังคม เช่น กติกาของโรงเรียน ที่ต้องเข้าเรียนให้ทัน, เวลากินข้าวนอกบ้าน ไม่ควรเดินไปมารบกวนคนอื่น เป็นต้น ฯ พ่อแม่อย่าตามใจลูก หรืออะลุ้มอล่วยจนลูกไม่สนใจกติกาสังคมด้วยนะคะ

..."อย่างไรก็ตาม เด็กมั่นใจในตัวเองมากไปหลายคนก็สามารถจัดการตนเองให้อยู่ในกติกาสังคมได้ มีแต่ปัญหาไม่ฟังเพื่อนหรือคนอื่น ยึดแต่ความคิดและความต้องการตนเอง เพราะคิดว่าการฟังเพื่อนหรือยอมเพื่อน แปลว่าไม่เก่ง หรือทำให้คุณค่าตนเองลดลง (ประมาณว่า ถ้าเจ๋งจริง ต้องไม่ฟังใคร)"...

 

พ่อแม่จึงควรอธิบายให้ลูกฟังว่า ..."การรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนหรือยอมเพื่อนบ้าง ไม่ได้ลดทอนคุณค่าในตัวตนลูก, ลูกไม่ได้เก่งน้อยลง หรือมั่นใจลดลง.. จริง ๆ แล้ว เมื่อลูกฟังไอเดียเพื่อนหรือยอมเพื่อน ลูกก็ยังคงเป็นคนเดิมที่ความสามารถแบบเดิม เพื่อนไม่ได้ทำอะไรตัวตนลูกสักนิด"...

 

 

และหากลูกเปิดใจฟัง หรือมองดูวิธีการของเพื่อนดี ๆ เราอาจได้แนวคิดใหม่ที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อนก็ได้, อาจช่วยกระตุ้นให้ลูกเกิดไอเดียใหม่ ๆ ต่อยอดศักยภาพลูกให้มากขึ้นก็ได้นะ เห็นมั้ยลูก การรับฟังคนอื่น ไม่ได้ลดทอนคุณค่าลูกเลย ความสามารถลูกยังเท่าเดิมอยู่ หรืออาจจะกลายเป็นเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วยซ้ำ

 

นอกจากนี้ พ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกทำอะไรด้วยตนเองบ่อย ๆ เพราะความมั่นใจที่แท้จริงจะเกิดขึ้นต่อตัวผู้ลงมือทำเองเท่านั้น ไม่ได้เกิดจากคำบอกของพ่อแม่ และให้ชื่นชมศักยภาพของลูกตามจริง ให้ลูกรับรู้ความสามารถของตนเองอีกครั้ง

ส่วนประเด็นของการรับฟังคนอื่นนั้น พ่อแม่ควรหมั่นอธิบายเรื่องราวของเพื่อน ๆ ให้ลูกฟังตั้งแต่ช่วงวัยอนุบาลต่อเนื่องไปจนโต เช่น อธิบายให้ลูกฟังว่า ที่เพื่อนทำแบบนี้ เขาคิดอะไรอยู่และรู้สึกอะไร และหมั่นชี้ชวนให้ลูกสังเกตท่าทางและสีหน้าของเพื่อน ฝึกให้ลูกรู้จักอ่านเพื่อน เรียนรู้ที่จะมองมุมของเพื่อน รับฟังเพื่อน รวมทั้งยอมทำตามที่เพื่อนต้องการ สลับกับความต้องการตนเองไปมาด้วย

 

ขอให้คุณพ่อคุณแม่ระลึกไว้ว่า เมื่อลูกมั่นใจและกล้าแสดงตัวตนออกมาแล้ว ลูกก็ต้องกล้าถอยและยอมคนอื่นในเวลาที่เหมาะสมด้วย ถึงจะเรียกว่ามั่นใจในระดับพอดีที่ไม่น้อยไปและไม่มากไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชีวิตลูกไม่ต้องประสบปัญหา เป็นคนเก่งที่ไร้เพื่อน มีปัญหาการเข้าสังคม จนนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพจิตในอนาคตได้