
สะท้อนความรู้สึกลูก ต้องมีชื่อ “ความรู้สึก”
เมื่อเด็ก ๆ แสดงความรู้สึก พ่อแม่ควรฝึกพูดสะท้อนความรู้สึกลูก
พ่อแม่หลายท่าน เมื่อได้ยินคำว่า “ไม่รักแม่แล้ว” หรือ “ไม่รักพ่อแล้ว” จากปากลูกน้อย ก็มักจะรู้สึก “เจ็บจี๊ดถึงหัวใจ” และเก็บเอาไปคิดทั้งคืนว่า “เราทำอะไรผิดหรือเปล่า ?”
แต่ในความจริง... เด็กปฐมวัยอาจ ไม่ได้หมายความตามที่พูด เสมอไป คำพูดเหล่านั้นมักเกิดขึ้นในช่วงที่เขารู้สึกโมโห ไม่พอใจ หรือถูกขัดใจ และเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุหลัก
⎯ ❶. ช่วยลูกบอกความรู้สึกของตนเอง
เพราะว่าเขาไม่รู้จะสรรหาคำศัพท์ใดมาแทนความรู้สึกโกรธ โมโห ไม่พอใจของตน ณ ขณะนั้น เด็กวัยนี้ยังไม่เข้าใจความคิดเชิงนามธรรม ดังนั้น การแสดงออกซึ่ง “ความรัก” ของเขา คือการให้วัตถุสิ่งของ ซึ่งเป็นรูปธรรมจับต้องได้ เช่น การกอด การบอกชอบ จึงไม่แปลกที่เขาจะบอกรักกับทุก ๆ อย่างที่เขาชอบหรือพึงพอใจ ไม่เว้นแม้แต่เหล่าตุ๊กตาตัวเล็กตัวน้อยบนหัวเตียงของเขา ในขณะที่ผู้ใหญ่ การบอก “รัก” นั้นมีความหมายลึกซึ้ง จริงจังมากไปกว่านั้นนัก
เวลาเด็กวัยนี้โมโห เขาก็มักจะเลือกใช้คำที่เขารู้จัก แสดงออกแบบไม่ซับซ้อน ถ้าไม่มีใครบอกเขาว่า ความรู้สึกที่เขาเผชิญ ความคับข้องใจที่เขามีอยู่นี้ เรียกว่า “ความรู้สึกอะไร ?” เด็กอาจจะระบุความรู้สึกที่เขามี จากคลังคำที่เขามีอยู่จำกัด
เด็กปฐมวัยเพิ่งเริ่มพัฒนาด้านภาษาและความคิด ประสบการณ์ในชีวิตที่มีอยู่จำกัด ผนวกกับคลังคำศัพท์ที่เขามี จึงไม่ได้มีมากมาย ทำให้เขาไม่เข้าใจอารมณ์ต่าง ๆ ที่ซับซ้อน เขาสามารถเข้าใจแค่อารมณ์หรือความรู้สึกพื้นฐาน เช่น “มีความสุข” “เศร้า” “ดีใจ” ได้
ด้วยเหตุนี้ เวลาเด็กไม่พอใจ เพราะถูกขัดใจ เขาอาจจะพูดออกมาว่า “ไม่รัก...แล้ว” แนวโน้มของประโยคดังกล่าว จึงอาจเกิดจากคลังคำและความเข้าใจที่เขามี ผู้ใหญ่อย่างเราจึงควรช่วยเหลือเขาในการระบุอารมณ์
⎯ ❷. เลียนแบบการพูดจากผู้ใหญ่รอบตัว
ผู้ใหญ่รอบตัวเด็ก อาจจะใช้ความรักเป็นเงื่อนไข เช่น เวลาเด็กดื้อ จะพูดกับเด็กว่า “ดื้อแบบนี้ เดี๋ยวไม่รักเลย”
เมื่อเด็กรับรู้ว่า ผู้ใหญ่จะรักเมื่อเขาเป็นเด็กดี หรือทำสิ่งที่ผู้ใหญ่ชอบ จึงเกิดการเลียนแบบว่า ถ้าผู้ใหญ่ทำอะไรที่เขาไม่พอใจ เขาจึงพูดแบบเดียวกับเรากลับไป เช่น “แม่ไม่ยอมให้เล่น ไม่รักแม่แล้ว” “พ่อดุ ไม่รักพ่อแล้ว”
✅ ขั้นที่ 1: ตั้งสติ ผู้ใหญ่ไม่ควรโกรธหรือโมโหเขา ให้พาตัวเองและลูกไปหามุมสงบ แล้วนั่งลงข้าง ๆ กัน งดการพูดคุยในขณะที่ยังโมโหอยู่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รอให้เขาและเราสงบ แล้วค่อยพูดคุยกันถึงสาเหตุว่า “ทำไมเขาถึงโกรธ”
✅ ขั้นที่ 2: ช่วยลูกระบุความรู้สึก เมื่อสงบแล้ว ให้สอนเขาถึง “ความรู้สึก” ที่เกิดขึ้นกับเขา ผ่านการบรรยายให้เขาฟังถึงสิ่งที่เขารู้สึก เพื่อเพิ่มคลังคำศัพท์ด้านอารมณ์ให้เด็กด้วย เช่น “เมื่อกี้หนูโมโห เพราะไม่ได้สิ่งที่หนูต้องการ หนูรู้สึกไม่พอใจ โกรธพ่อกับแม่ จึงพูดแบบนั้นออกมา”
✅ ขั้นที่ 3: ยืนยันความรัก เมื่อสอนเสร็จ อย่าลืมบอกว่า “รัก” เด็กน้อยด้วย เพื่อให้เขารู้ว่า ไม่ว่าพ่อกับแม่จะโกรธเขาแค่ไหน ไม่ว่าลูกจะน่ารักหรือไม่น่ารักในวันนี้ พ่อแม่พร้อมจะให้อภัย และรักเขาเสมอ
จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมผู้ใหญ่ควรสั่งสอนเด็กโดยปราศจากอารมณ์ทางลบ รอให้ทั้งเราและเขาสงบ แล้วค่อยสื่อสารกัน เพื่อให้เด็กตระหนักถึงคำสอน มากกว่ากลัวอารมณ์โกรธของพ่อแม่ และให้เขาเรียนรู้ จดจำคำสอนที่ถูกมอบให้เขาพร้อมกับ “ความรัก”
คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ใหญ่บ้านไหน ที่มีลูกหลานวัยนี้ หากได้ยินคำว่า “ไม่รัก” อย่าเพิ่งตกใจหรือน้อยใจ ค่อย ๆ สอนเขาเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก และปิดท้ายด้วยคำว่า“ถึงลูกจะบอกว่าไม่รักแม่วันนี้ แต่แม่รักลูกมากนะ”
✱ ติดตามข่าวสารและกิจกรรม Thai PBS Kids ได้ทาง Website | Facebook | Youtube | LINE Official ✱