7155
ขอโทษด้วยปาก แต่ต้องมาจากใจ

ขอโทษด้วยปาก แต่ต้องมาจากใจ

โพสต์เมื่อวันที่ : September 8, 2023

 

พ่อแม่อย่างเราเชื่อเหลือเกินว่า การสอนให้ลูกยอมรับและกล้ารับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองนั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากเรื่องหนึ่ง

 

หลายครั้งที่เราพยายามสอน พูดคุยดี ๆ แล้ว ลูกก็ยังทำเฉย เฉไฉ หรือแม้แต่ต่อต้านเราจนกระทั่งพ่อแม่เองอาจต้อง ‘บังคับ’ ให้ลูกเอ่ยคำว่า “ขอโทษ” ออกมา แต่สุดท้ายแล้วนั้นลูกได้เรียนรู้จากสิ่งที่ตัวเองกระทำลงไป และรู้สึกจริง ๆ เหมือนกับคำพูดคำว่า “ขอโทษ” ที่ออกจากปากหรือไม่ 

 

 

..."คำขอโทษมีความจำเป็นขนาดนั้นจริง ๆ หรือ ?"...

 

หากมองตามมารยาททางสังคมแล้ว "คำขอโทษ" อาจเป็น "มารยาท" ทางสังคมที่จับต้องเป็นรูปธรรมว่าได้ "ขอโทษ" ต่อการกระทำที่ผิดนั้นแล้ว คนฟังจะได้คำขอโทษ พ่อแม่ก็มักรู้สึกดีขึ้นที่ได้ยินคำว่า “ขอโทษ” ออกจากปากของลูก

 

แต่ในทางพฤติกรรมแล้วนั้นหากคำขอโทษไม่ได้ออกมาจากการยอมรับว่าตัวเอง “ผิด” และรู้สึก “รับผิดชอบ” ต่อการกระทำของตนเองแล้วนั้น มันก็ไม่ต่างอะไรกับคำพูดที่เลื่อนลอย และไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมในอนาคตของลูก ก็แค่พูดคำว่า “ขอโทษ”​ ส่ง ๆ ทุกอย่างก็จบ 

 

ดังนั้นการบีบบังคับให้ลูกพูดคำว่าขอโทษ อาจไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น แต่การสอนให้ลูกเรียนรู้ถึงสิ่งที่ตนเองกระทำนั้นส่งผลต่อคนอื่นอย่างไรเป็นเรื่องที่จำเป็นกว่า เพราะเมื่อเข้าใจก็จะเรียนรู้และปรับปรุง และเมื่อเรา ‘บีบบังคับ’ ให้ลูกพูดขอโทษด้วยวิธีการอะไรก็แล้วแต่ สมองส่วนเหตุผลของเขาจะไม่ได้คิด ไตร่ตรองเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้า แต่จะเป็นการพูดขอโทษแล้วลืมไปด้วยความรวดเร็ว"

 

 

'คำขอโทษ' พูดก็ดี ไม่พูดก็ไม่ได้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย แต่พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกเรียนรู้ถึงการกระทำของเขาเป็นเรื่องหลัก สอนลูกยามที่เขาทำเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

 

  • 1. เป็นผู้ชวนคุยที่ดี พูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุและผล พูดคุยให้เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช้อารมณ์ ไม่หาคนผิด 

 

  • 2. เป็นผู้ฟังที่ดี ฟังอย่างไม่ตัดสิน ฟังในมุมของลูก และหลายครั้งเราอาจต้องเชื่อคำว่า “ไม่รู้” ของลูกว่าเขาไม่รู้จริง ๆ ว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ดี ลูกยังต้องเรียนรู้ว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรตามกาลเทศะเสมอ 

 

  • 3. เป็นผู้ตัดสินที่ดี จงเชื่อว่าทุกคนเป็นคนดี และการกระทำทุกอย่างมีเหตุและผลของมัน หลีกเลี่ยงการกล่าวโทษหรือตราหน้าว่าเขาเป็นเด็กที่ไม่ดี เด็กดื้อ อย่าบังคับให้ลูกพูดคำว่า “ขอโทษ”​ แต่หากลูกพูดเอง เราต้องแสดงให้เขาเห็นว่าพ่อแม่เห็นว่าเขาทำเรื่องที่ดีที่เขารับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ

 

  • 4. เป็นผู้เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และสอนให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา สอนลูกให้มองเรื่องในมุมของผู้อื่น

 

  • 5. เป็นตัวอย่างที่ดี พ่อแม่ก็พูดคำว่า “ขอโทษ” กับลูกได้เมื่อพ่อแม่เองทำผิด และหลายครั้งเราอาจต้องพูด “ขอโทษ” แทนลูกก่อนได้หากทราบข้อมูลอย่างรอบด้านแล้วว่าลูกกระทำผิดจริง 

 

จงอย่าลืม ! สำหรับเด็กหลายครั้งที่เขาทำตัวไม่น่ารัก ดื้อ หรือทำตัวไม่ดีในสายตาเราและผู้อื่น มักถูกกระตุ้นจากเรื่องพื้นฐานของมนุษย์อย่างความหิว ความง่วง ความเหนื่อย และความไม่สบายตัว นี่คือสิ่งแรกที่เราต้องจัดการก่อน หิวก็กิน ง่วงก็นอน ไม่สบายตัวก็หาสาเหตุและจัดการ ยังไม่ต้องสอนหรือปรับพฤติกรรมในขณะที่ลูกยังหิว-ง่วง-เหนื่อย-ไม่สบายอยู่ สมองส่วนคิดยังไม่พร้อมที่จะทำงานหากความต้องการพื้นฐานเหล่านี้ยังไม่ถูกตอบสนองและแก้ไขก่อน

 

ในขณะเดียวกันพ่อแม่ต้องเรียนรู้จังหวะชีวิตของลูกด้วย หากรู้อยู่แล้วว่าเวลานี้ลูกจะง่วงมาก และเกิดปัญหาทุกครั้งทั้งต่อตนเอง พ่อแม่ และคนอื่นให้เราต้องไปตามขอโทษเสมอ ก็เรียนรู้ที่จะทำกิจกรรมหลังจากลูกนอนกลางวันอย่างเต็มที่แล้วดีกว่า ป้องกันย่อมดีกว่าแก้ไข

 

ยกตัวอย่าง เมื่อลูกไปแซงคิวเด็กคนอื่นที่สนามเด็กเล่น ณ จุดเกิดเหตุลูกไม่ยอมพูดคำว่าขอโทษทั้งที่ตัวเองแซงคิวเล่นสไลด์ จนเด็กที่ถูกแซงคิวเอามือมาดึงด้วยความไม่พอใจ และลูกเริ่มหันกลับไปจะผลักเด็กคนนั้น แม่ก็เข้าไปแยกลูกออกมาทันทีโดยบอกให้ลูกในวัย 3 ขวบขอโทษเด็กอีกคนที่แม่ของเด็กคนนั้นก็เข้ามาอยู่ข้างลูกแล้ว ซึ่งลูกเราไม่ยอมขอโทษ ทำเฉไฉอยู่ 

 

 

สิ่งที่เราควรทำก็คือ “ขอโทษ” แทนลูกไปก่อนหากลูกไม่ยอมพูดคำขอโทษเอง และบอกสิ่งที่ถูกต้องให้ลูกฟังก่อนเบื้องต้นให้สั้นและง่าย เช่น ...“ของเล่นต้องแบ่งกันเล่นนะคะ ต้องรอและต่อคิวค่ะ ไม่งั้นก็เล่นไม่ได้ค่ะ”... หากไม่ทำตามก็พากลับ เพราะนี่คือกติกาที่ควรทำ ไม่ดุ ไม่โทษ ไม่บ่นลูก แค่ชี้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร กติกาคืออะไร ณ สถานที่เกิดเหตุการณ์หากสถานการณ์ไม่ได้รุนแรงและลูกยังพร้อมที่จะฟังเราได้

 

 

เมื่อเวลาผ่านไปที่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเปิดบทสนทนาเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เป็นเรื่องปกติที่เราสามารถพูดคุยกันได้

 

แม่ : “วันนี้ที่สนามเด็กเล่น จำได้ไหมว่าหนูทำอะไรบ้าง”
ลูก : “...”
แม่ : “แม่เห็นเราแซงคิวคนอื่นเล่นของเล่น ใช่ไหมคะ”
ลูก : (พยักหน้า) 

 

 

แม่ : “การแซงคิว ทำได้ไหมคะ ?
ลูก : “ทำไม่ได้ค่ะ แต่หนูอยากเล่นอะแม่ แล้วเขาก็ผลักหนู” (เสียงอ่อย)
แม่ : “แม่เข้าใจว่าเราอยากเล่น ลูก แต่เราต้องต่อคิวนะคะ ถ้าหนูต่อคิวอยู่แล้วมีคนมาแซงคิวเล่นสไลด์เดอร์ หนูจะรู้สึกยังไงคะ”
ลูก : “โกรธเลย โกรธเลย มาแซงคิวได้ยังไง” 

 

 

แม่ : “ใช่เลย เป็นแม่..แม่ก็โกรธนะที่มีคนมาแซงคิวเรา เพื่อนวันนี้ที่หนูไปแซงคิวเขา เขาก็ต้องโกรธมากแน่เลย เขาเลยผลักเรา”
ลูก : “หนูถูกผลัก แต่หนูแซงคิวเขา”
แม่ : “เขาผลักเราก็เป็นเรื่องที่ไม่ดี แม่เข้าใจ แต่เราก็ต้องไม่แซงคิวคนอื่นนะคะ”
ลูก : (ลูกพยักหน้า)

 

 

แม่ : “แล้วถ้าเราทำผิด เราควรขอโทษไหมคะ”
ลูก : (ลูกพยักหน้า)
แม่ : “ครั้งหน้าเอาใหม่นะคะ แม่รู้ว่าลูกแม่ทำได้ ทำผิดก็ขอโทษกันเนอะ” (แม่ยิ้มกว้าง และอ้าแขนกอดลูก)​

 

แบบนี้น่าจะดีกว่าการบังคับจิตใจให้เขาพูดคำว่า “ขอโทษ” โดยที่เขาไม่ได้เรียนรู้จากสิ่งที่เขาทำเลย

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง