ขอโทษด้วยปาก แต่ต้องมาจากใจ
ทุกคนย่อมเคยทำผิด ผู้ใหญ่ก็ทำผิดได้ เด็กเองก็ทำผิดเป็น
หากมองภาพไม่ชัดเจน ยกตัวอย่าง หากลูกของคุณพ่อคุณแม่ไม่พอใจที่มีเด็กอีกคนเข้ามาแย่งของเล่นจากมือของเขา ลูกจึงผลักเด็กคนนั้นล้มลงแล้วแย่งเอาของเล่นคืนมา จากนั้นเด็กอีกคนเริ่มร้องไห้แล้วเข้ามายื้อแย่งของกับลูกของเราแล้วลูกเราก็ผลักเด็กคนนั้นลงไปกับพื้นอีกครั้ง ผู้ใหญ่จึงเข้าไปจับเด็กสองคนแยกออกจากกัน
แน่นอนว่า เด็กอีกคนก็ผิดที่เข้ามาแย่งของเล่นจากมือของลูกของเราโดยที่ไม่มีการขอ ในขณะเดียวกันลูกเราก็ผิดที่ใช้ความรุนแรงอย่าง ‘การผลัก’ เพื่อนล้มลงบนพื้น ในฐานะของพ่อแม่คุณจะทำอย่างไร
คุณจะเฉย ๆ แล้วให้เด็ก ๆ จัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง (มันเป็นหนึ่งประสบการณ์ที่ลูกจะได้เรียนรู้การเข้าสังคมแหละ และการบังคับให้เด็กให้เด็กต้องพูดคำว่า “ขอโทษ” อาจไม่ได้ทำให้ลูกรู้สึกผิดกับการกระทำตัวเองจริง ๆ ยิ่งบังคับให้ต้องพูด ยิ่งอาจสอนเขาให้พูดคำว่า “ขอโทษ” ไปอย่างนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นการหนีปัญหา พูดเพื่อให้เหตุการณ์นั้นผ่าน ๆ ไปก็เท่านั้น)
คุณจะเป็นคนที่เอ่ยปาก “ขอโทษ” เด็กอีกคนให้ลูกเห็นโดยเน้นย้ำว่า ‘การผลัก’ และ ‘การทำร้ายกัน’ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ หรือคุณจะบังคับให้ลูกพูดคำว่า “ขอโทษ” กับการผลักคนอื่นโดยไม่มีข้อแม้ อย่างไรก็ต้องขอโทษ (เพราะนั่นจะกำหนด ‘มาตรฐาน’ ให้ลูกได้เรียนรู้อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่หนูทำนั้นเป็นสิ่งที่ผิด พ่อแม่ไม่โอเคและลูกจะได้เรียนรู้จากสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไป)
🌟 สำหรับเด็กเล็กก่อน 2-3 ขวบ อาจยากสำหรับเขาที่จะรู้และเข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกหรือผิดจริง ๆ ดังนั้นน้อยมากที่เด็กจะรู้สึก ‘ผิด’ และเข้าใจคำว่า ‘ขอโทษ’ ต่อผู้อื่นกับการกระทำที่ทำลงไปนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพ่อแม่ก็คือ กำหนดกฎในการเล่นร่วมกับผู้อื่นอย่างชัดเจนว่าอะไรบ้างที่ควรทำเช่น การต่อคิวรอคอย และอะไรบ้างที่ไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ห้ามทำให้คนอื่นเจ็บ ห้ามเด็ดขาด ไม่อนุญาตให้ทำ เมื่อทำหรือจะทำต้องจับแยกทันที
🌟 สำหรับเด็กโตที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีเป็นต้นไป เด็กจะสามารถเข้าใจกฎกติกามารยาทในการเล่นร่วมกันดีแล้ว และรู้แล้วว่าสิ่งที่ตนเองกระทำลงไปนั้นเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เรียกสั้น ๆ ว่าเริ่มรู้จักผิดชอบชั่วดีในระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้นหากทำผิด เด็กในวัยนี้ควรรู้ว่าตัวเองผิด ควรรู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปทำให้คนอื่นรู้สึกอย่างไร ควรรู้ที่จะกล่าวคำขอโทษและหมายความอย่างนั้นจริง ๆ
🌟 ส่วนในวัยกึ่งกลาง 3-5 ขวบ เป็นวัยที่กำลังสร้าง ‘ตัวตน’ ดังนั้นวัยนี้จะเป็นวัยที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง บางคนก็ยังเหมือนเด็กเล็กที่ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นไม่โอเค แต่บางคนก็เริ่มรู้และกล่าวคำขอโทษเป็น
โดยในทางปฏิบัติเราก็รู้ดีว่า การกล่าวคำขอโทษนั้นจะทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้น เพราะผู้ทำผิดก็ (น่าจะ) รู้ว่าตัวเองทำไม่ถูกต้อง และก็ทำให้ความรู้สึกของผู้ถูกกระทำสงบและดีขึ้นได้บ้าง (ซึ่งอาจไม่ทั้งหมด) จากนั้นทุกคนก็จะได้ไปต่อจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ การพูดคำขอโทษให้เป็นจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่เราก็ไม่ต้องถึงขนาดบังคับให้ขอโทษเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบและเด็กไม่ได้รู้สึกถึงความรู้สึก ‘ขอโทษ’ จริง ๆ (พ่อแม่คงพอทราบว่าแบบไหนขอโทษปลอม ๆ) เพราะการบังคับให้พูดไปก็เท่านั้น สอนให้ลูกโกหกความรู้สึกตัวเองเปล่า ๆ
..."คำขอโทษที่แท้จริงควรมาจากจิตใจที่รู้สึกขอโทษจริง ๆ จึงดีที่สุด แล้วเราจะทำอย่างไรให้ลูกรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ"...
คำตอบก็คือทำให้ลูกรู้จัก “ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น” (Empathy) ตั้งแต่เนิ่น ๆ และการที่จะไปถึงจุดนั้นได้ต้องเริ่มจากความรู้สึกปลอดภัยทางอารมณ์ (Emotional Security) และการเข้าใจความรู้สึกของตนเองเป็นเสียก่อน โดยคุณพ่อคุณแม่จะเป็นคนสำคัญมากที่จะต้องให้ความสำคัญกับ ‘อารมณ์’ และ ‘ความรู้สึก’ ของลูกไม่ว่าจะเป็นการโกรธ ความเสียใจ ความหงุดหงิด ความสุขและอื่น ๆ
เมื่อเด็กรู้สึกปลอดภัยได้รับการเลี้ยงดูที่อบอุ่น และรู้จักอารมณ์ของตนเองได้แล้ว เด็กจะเริ่มเข้าใจและใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่น และจะเริ่มรู้ว่าการระทำและคำพูดของเราทำให้ผู้อื่นรู้สึกอย่างไรได้ (เพราะเด็กที่ขาดความอบอุ่น ตัวเองยังรู้สึกไม่ปลอดภัยเลย คงยากที่จะไปเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น)
คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมเป็นตัวอย่างที่ดี ทำผิดหรือทำให้ลูกรู้สึกไม่ดี ผู้ใหญ่อย่างเราก็ควรขอโทษกับการกระทำของตนเองได้เช่นกัน ทำให้คำขอโทษเป็นเรื่องที่ปกติที่พึงกระทำ ทำผิดก็ขอโทษ มันเป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่เรื่องที่ใหญ่โตเป็นการลงโทษหรือการจับผิดใด ๆ ในกรณีที่ลูกอายุยังน้อยและทำสิ่งที่ไม่ดีลงไป พ่อแม่ก็สามารถขอโทษแทนลูกให้เป็นตัวอย่างได้เลย โตขึ้นมาหน่อยก็อาจขอโทษพร้อมกันกับลูกก็ได้
แต่หากลูกที่ควรรู้เรื่องแล้วทำผิดและไม่ยอมขอโทษ เราอาจไม่ต้องบีบบังคับให้ลูกขอโทษทันทีก็ได้ (ถ้าทำได้) พ่อแม่อาจต้องใช้เวลาที่จะทำความเข้าใจในมุมมองของลูกก่อน และวิเคราะห์แยกประเด็นต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วน เพราะบางครั้งเรื่องราวมันอาจซับซ้อน อาจผิดด้วยกันทั้งคู่แต่ในมุมมองของแต่ละฝ่ายก็อาจไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายผิดก็ได้
ดังนั้นอาจต้องแยกส่วนการกระทำและทำความเข้าใจกับลูกเป็นเรื่อง ๆ ไป โดยยังต้องยืนยันว่าสิ่งที่ผิดก็คือผิด และคำขอโทษเป็นสิ่งที่ควรต้องทำ อย่างตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นที่เราต้องเข้าใจลูกว่าลูกรู้สึกโกรธที่ถูกแย่งของเล่นไป แต่อย่างไรการผลักคนอื่นจนล้มเจ็บตัวนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทำไม่ได้นั่นเอง