เด็กควรเริ่มเรียน "ภาษาที่สอง" เมื่อไร ?
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดหรือ Sweet spot ของการเรียนภาษาของเด็กคือช่วงไหนนะ
“ลูกมีปัญหากับเพื่อน ตอนนี้ไม่ยอมคุยกับใครเลย เท่าที่รู้คือโดนเพื่อนแกล้งและประจานลงโซเชี่ยล ตอนนี้ถึงขั้นไม่อยากไปโรงเรียนและแยกตัว แม่พยายามจะเข้าไปคุยแต่ลูกไม่ยอมคุยด้วย มีคนแนะนำว่าควรพาลูกไปพบจิตแพทย์”
กรณีของคุณแม่ท่านหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาเรื่องลูก และเชื่อว่าน่าจะมาจากสาเหตุที่ลูกทะเลาะกับเพื่อน และโดนเพื่อนกลั่นแกล้งนำไปประจานบนโลกออนไลน์ เรื่องเด็กมีปัญหากัน ไมใช่เรื่องเล็ก ๆ ที่คนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองจะปล่อยผ่านไปง่าย ๆ หรือดูเบาปัญหา เพราะยุคปัจจุบันมีเครื่องมือในการรังควานกันระหว่างเด็ก ที่เกินขอบเขตของความพอดีในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการรังแกกันบนโลกออนไลน์ หรือที่เรียกว่า Cyberbullying นั่นเอง
Cyberbullying
การรังแกในรูปแบบการด่าทอ กล่าวหา ใช้ถ้อยคำเสียดสี ต่อว่าผู้อื่น ล้อเลียนฯลฯ โดยใช้เครื่องมือสื่อสารบนโลกออนไลน์ในการรังแกและกลั่นแกล้งกัน และเมื่อเข้าสู่โลกออนไลน์ จากที่มีปัญหาระหว่างบุคคลกับบุคคล ก็ขยายวงบานปลายกลายเป็นเรื่องสาธารณะ ต่างคนต่างมีพวกของตัวเอง ขยายความขัดแย้ง นำไปสู่ความขัดแย้งใหม่ จากเรื่องเล็กก็เป็นเรื่องใหญ่ จากบุคคลต่อบุคคล ก็เป็นกลุ่มต่อกลุ่ม ความขัดแย้งมันก็ขยาย เกิดผลพวงตามมาอีกมากมาย
พฤติกรรมอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้บ่อยกว่าการแกล้งกันทั่วไป สามารถเกิดขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะในโลกออนไลน์นั้น ผู้รังแกไม่ได้เผชิญหน้ากับคู่กรณีจริง ๆ และในโลกออนไลน์ การกระจายข้อมูลแพร่กระจายไปได้เร็วมาก นั่นหมายความว่าอาจทำให้ฝ่ายที่ถูกรังแกอับอายขายหน้า หรือทนไม่ได้ จนกลายเป็นปัญหาบานปลาย
ผลที่ตามมา เมื่อเด็กถูกกลั่นแกล้งและไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน ก็จะมีอาการโดดเดี่ยว แยกตัวออกจากสังคม เริ่มไม่อยากไปโรงเรียน ผลการเรียนตกลง มีอาการซึมเศร้า และอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ประเทศทางยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราการฆ่าตัวตายจากการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์เพิ่มขึ้น จนปัจจุบันมีการพัฒนาถึงขั้นตราเป็นกฎหมาย
'Cyberbullying' ที่มีการโพสต์บนโลกออนไลน์ มีอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ ๆ คือ “ตั้งใจ” กับ “ไม่ตั้งใจ”
สำหรับพฤติกรรมที่เป็นความตั้งใจกระทำให้ผู้อื่นได้รับความทุกข์ความเจ็บปวดทางด้านจิตใจ จะเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น การว่ากล่าว ด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย ตอกย้ำปมด้อย ทำให้อับอาย ประจาน หรือแอบอ้างทำให้เสื่อมเสีย ฯลฯ
ส่วนพฤติกรรมที่เป็นความไม่ตั้งใจ ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่รู้ เช่น กรณีพ่อแม่โพสต์รูปตลก ๆ หรือใส่ชุดเปิดพุง โป๊ ของลูกตอนเด็กเล็ก เพราะเห็นว่าน่ารัก หรือครูโพสต์คลิปเอ็นดูเด็กร้องไห้ อยากจะโชว์ให้คนอื่นขำไปด้วย โดยที่ไม่รู้เลยว่านั่นคือการ Cyberbullying ถ้าวันหนึ่งเด็กคนนี้โตขึ้นแล้วกลับมาเห็นคลิปของตัวเองจะรู้สึกอย่างไร หรือเพื่อนเห็นแล้วเอาไปล้อเลียนต่อ หนักกว่านั้นถ้าสื่อหลักหยิบไปนำเสนอผ่านสื่อทีวีต่ออีกทอด จะเห็นว่ามันไม่ได้จบอยู่แค่คลิปนั้นหรือแค่วันนั้นแล้ว
มีตัวอย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้นและโด่งดังจากเว็บไซต์เทเลกราฟ รายงานว่า เด็กสาวชาวออสเตรียวัย 18 ปี ได้ยื่นฟ้องต่อศาล กรณีพ่อแม่นำภาพถ่ายวัยเด็กของเธอกว่า 500 ภาพไปโพสต์อวดบนเฟซบุ๊ก แม้เธอจะบอกให้ลบออกหลายครั้งแล้วก็ยังไม่สนใจ เธอจึงรอจนอายุครบ 18 ปีเต็ม แล้วเดินหน้าฟ้องทันที และนี่เป็นการฟ้องพ่อแม่เรื่องภาพถ่ายบนโลกออนไลน์คดีแรกของประเทศออสเตรีย
เด็กสาวคนนี้เปิดเผยว่า ภาพวัยเด็กที่พ่อแม่ของเธอโพสต์นั้น ถือเป็นภาพที่น่าอายและเข้าข่ายการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว พวกเขากระทำโดยไม่รู้จักความละอายและทำโดยไม่มีขีดจำกัด พวกเขาไม่สนว่าภาพนั้นจะเป็นภาพของฉันขณะที่กำลังเข้าห้องน้ำหรือนอนเปลือยเปล่าในเปล ทุก ๆ ภาพส่วนตัวที่ถ่ายได้กลายมาเป็นภาพที่ปรากฏสู่สายตาสาธารณชน"
ปัญหา Cyberbullying ส่วนใหญ่มาจากสาเหตุ 3 ประการ
❤︎ 1. ความไม่รู้ ❤︎
คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าโซเชียลมีเดียคือพื้นที่ส่วนตัว หารู้ไม่ว่าไม่มีคำว่าพื้นที่ส่วนตัวบนโลกออนไลน์ และไม่รู้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯลฯ
❤︎ 2. ดูเบาปัญหา ❤︎
ยกตังอย่างดังกรณีของสาวน้อยชาวออสเตรีย ที่พ่อแม่ไม่สนใจว่าลูกจะร้องขอให้ลบภาพของเธอ และมักคิดว่าไม่เป็นไรหรอก
❤︎ 3. รู้ไม่เท่าทันสื่อ ❤︎
เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะถ้าผู้ใหญ่รู้ไม่เท่าทันสื่อแล้วจะไปบอกให้เด็กรู้เท่าทันสื่อได้ยังไง การใช้สื่อโซเชียลมีเดียยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะมีข้อมูลทั้งจริงและเท็จมากมาย ฉะนั้นควรจะต้องรับข้อมูลแบบมีสติและมีความรู้
แล้วพ่อแม่ควรรับมือกับเรื่องนี้อย่างไรดี ?
พ่อแม่ต้องปรับความคิดก่อนว่า การรังแกกันบนโลกออนไลน์มีอยู่จริง และไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ หรือเป็นเพียงแค่เรื่องเด็กทะเลาะกัน เดี๋ยวก็คืนดีกัน แต่หากลูกมาเล่าว่าถูกรังแก พ่อแม่อย่าเฉยเมย หรือปล่อยผ่าน แต่ควรจะรับฟังและให้ลูกรับรู้ว่าพ่อแม่พร้อมจะยืนเคียงข้างเขาทุกเมื่อ
ประการต่อมา ด้องหาทางช่วยเหลือ เริ่มจากสอบถามความรู้สึกของลูกว่าเป็นอย่างไร และพยายามช่วยหาทางออกหรือแนะนำ เช่น ให้ลูกลองพูดกับเพื่อนตรง ๆ ว่าไม่ชอบให้ทำอย่างนี้ ถ้าไม่สำเร็จค่อยใช้ตัวช่วย หรือขอให้คุณครูช่วยหาต้นตอของปัญหา และช่วยแนะนำหาทางแก้ไขปัญหา
สิ่งสำคัญพ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกว่าเป็นอย่างไร นอกเหนือจากการให้กำลังใจ ก็อาจชี้ให้มองว่าไม่เกิดประโยชน์ที่จะไปสนใจที่เพื่อนมาแกล้ง เพราะเมื่อเขาแกล้ง แล้วเราโกรธหรือมีปฏิกิริยา ก็อาจทำให้เขาแกล้งมากยิ่งขึ้น ในทางตรงข้าม เราไม่สนใจ เขาก็จะเลิกสนใจไปเอง หรืออาจแนะนำให้บล็อกคนนั้นไปเลย
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ต้องสอนให้ลูกรู้จักเคารพตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง และพร้อมเผชิญหน้ากับปัญหา ที่สำคัญเมื่อไม่อยากให้ใครรังแกเราบนโลกออนไลน์ เราก็ไม่ควรจะไปรังแกใครเช่นกัน ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
ไม่ยากไม่ง่าย ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของความใกล้ชิดและเข้าใจกันมาอย่างยาวนานของคุณกับลูกด้วยว่ามีมากน้อยแค่ไหน ถ้ายังไม่มีปัญหา ก็เร่งสั่งสมพื้นฐานของสัมพันธภาพระหว่างคุณกับลูกให้แน่นไว้ก่อนจะดีที่สุด