938
วันนี้เล่นในบ้านกันเถอะ

วันนี้เล่นในบ้านกันเถอะ

โพสต์เมื่อวันที่ : July 7, 2023

ช่วงที่มีโรคระบาดหรือวันฟ้าฝนไม่เต็มใจที่จะให้เด็ก ๆ ได้ออกไปโลดแล่นกับโลกภายนอกก็ทำให้เด็กหลาย ๆ คนต้องอยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้ออกไปเล่นกับเพื่อน ๆ

 

สำหรับเด็กพวกเขามีพลังมากมายที่อยากนำออกมาใช้ พวกเขาอยากเล่น อยากทำอะไรที่ช่วยให้พวกเขาได้ปลดปล่อยพลังออกมา วันนี้จึงอยากมาแนะนำกิจกรรมที่สามารถชวนเด็ก ๆ ทำในบ้านได้

 

การเล่นเลอะเทอะ หรือ Messy Play (Duffy, 2007) เป็นการเล่นที่มุ่งเน้นให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ไม่ว่าจะเป็น การรับสัมผัสทางตาผ่านภาพ หูผ่านการได้ยิน จมูกผ่านการดมกลิ่น ลิ้นผ่านการรับรส และผิวกายผ่านการสัมผัส เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กในด้านต่างได้ดีขึ้น ซึ่งการเล่นเลอะเทอะนั้นมีประโยชน์กับเด็ก ๆ มากมาย ดังนี้

 

 

เล่นเลอะเทอะ ดียังไง ?

▶︎ 1. Relax ได้ผ่อนคลายจากการทำกิจกรรมและได้รับเสรีภาพจากการเล่นอย่างเต็มที่

 

▶︎ 2. Experiment ได้ทดลองและสำรวจคุณสมบัติของสสารต่างๆ เช่น วัตถุมีลักษณะเหลวหรือแข็ง ? เย็นหรือร้อน? เกิดอะไรขึ้นเมื่อนำมาผสมกัน ? และได้ทดลองว่า เมื่อเขาทำเช่นนี้ไป ผลลัพธ์คืออะไร ซึ่งการทดลองเช่นนี้ เป็นการเล่นแบบ Cause and effect play คือ ทำอะไร แล้วเกิดอะไรขึ้นตามมานั่นเอง เช่น เล่นสร้างภูเขาไฟ โดยปั้นดินน้ำมันหรือดินเหนียวเป็นรูปทรงภูเขาไฟ คว้านรูให้เป็นปล่องตรงกลางภูเขา จากนั้นนำเบกกิ้งโซดาหรือสีผสมอาหารสีที่ชอบใส่เขาไปในปล่องตามต้องการ จากนั้นเทน้ำส้มสายชูลงไป ฟองจะฟู่ขึ้นมา

 

▶︎ 3. Colour ได้เรียนรู้เกี่ยวสีสัน ได้สัมผัสสีในรูปแบบผิวสัมผัสที่แตกต่างกัน และได้ลองผสมสีต่างๆ เข้าด้วยกันจนเกิดเป็นสีใหม่

 

▶︎ 4. Hand-eye coordination ได้พัฒนาการทำงานของมือประสานกับสายตา ผ่านการเท การตัก การจับ การโยน และการสัมผัสในรูปแบบต่างๆ

 

▶︎ 5. Free form play เป็นการเล่นที่ไม่มีกรอบกำหนด เด็ก ๆ อยากเล่นแบบไหน ? เล่นอย่างไร ? ก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น การเล่นที่ไม่มีกรอบจึงทำให้เด็ก ๆ ได้ปลดปล่อยจินตนาการ และเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ เพราะการเล่นแบบนี้พวกเขาจะไม่ถูกตัดสินว่า เล่นผิดหรือเล่นถูก

 

 

ตัวอย่างการเล่นเลอะเทอะ (Messy play)

  1. เล่นสี ทาสีโต๊ะ พิมพ์ลายนิ้วมือ (Fingerprint) หรือ ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย (Body print)
  2. เล่นโฟมโกนหนวดผสมสีผสมอาหาร
  3. เล่นข้าวสาร ตัก เท ตวง ใส่ภาชนะโน้นที ภาชนะนี้ที
  4. เล่นอาบน้ำตุ๊กตา เราอาจจะเอาแป้งมาโรยให้ตุ๊กตาเลอะแป้ง จากนั้นให้เด็ก ๆ อาบน้ำให้พวกเขาหน่อย
  5. เล่นกับอาหาร เช่น เราอาจจะน้ำเส้นสปาเก็ตตี้ มักกะโรนี เส้นก๋วยเตี๋ยว มาย้อมสีผสมอาหารให้เขาเล่น หรือผักผลไม้มาหั่นเล่น และปั๊มสีเล่นก็สามารถทำได้เช่นกันเป็นต้น

 

นอกจากการเล่นเลอะเทอะแล้ว การเล่นของเล่นที่เป็นลักษณะแบบอิสระ (Free form) กล่าวคือ ของเล่นที่ไม่ได้มาพร้อมวิธีการเล่น มีเพียงวัตถุดิบมาให้ แล้วให้เด็กๆ ได้สร้างสรรค์การเล่นเอาเอง อย่างน้อยก็สามารถช่วยให้เด็ก ๆ ได้ผ่อนคลายและได้ใช้จินตนาการอย่างไม่มีข้อจำกัดจากการที่พวกเขาต้องอยู่ภายใต้พื้นที่สี่เหลี่ยมในบ้านได้

 

 

ตัวอย่างของเล่นที่เป็นลักษณะแบบอิสระ (Free form)

  1. บล็อกไม้รูปทรงต่าง ๆ และตัวต่อพลาสติก (เลโกหรืออื่น ๆ)
  2. แป้งโด ดินน้ำมัน
  3. อุปกรณ์ศิลปะ เช่น สำลี ปอมๆ หลากสี ไม้ไอศครีม ลวดดัดตกแต่ง
  4. ธรรมชาติ เช่น ทราย ดิน ดินเหนียว โคลน หิน ใบไม้ และอื่น ๆ
  5. เล่นแสงเงา ใช้ไฟฉาย และปิดไฟในห้อง ฉายไฟขึ้นกำแพง แล้วเล่นเเสงเงากับเด็ก ๆ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ งานบ้าน และการทำอาหาร สำหรับเด็ก ๆ แล้ว งานบ้านคือการเล่นอย่างหนึ่งได้เลย (ถ้าหากเราสามารถมอบหมายงานที่ไม่ยากจนเกินไป ปลอดภัย แต่ก็ท้าทายสักเล็กน้อยให้เขาทำ) เด็ก ๆ ชอบช่วย และชอบดูผู้ใหญ่ทำสิ่งเหล่านั้น ชวนพวกเขามาทำงานบ้าน กัน ทำให้มันเป็นเรื่องสนุกได้

 

ตัวอย่างเช่นการ(เล่น)ทำงานบ้าน

  1. กวาดเศษขยะเข้าโกล์ แปะเทปกาวติดสันปกลงบนพื้นให้เป็นกรอบสี่เหลี่ยมไว้ที่กลางห้อง แจกไม้กวาดให้เด็ก ๆ แล้วให้พวกเขากวาดเศษต่าง ๆ มาไว้ในกรอบนี้
  2. แปรงฟันให้ห้องน้ำ- ล้างห้องน้ำ โดยแจกขวดสเปรย์ฉีดน้ำ และแปรงสีฟันให้เด็ก ๆ บอกพวกเขาว่า แผ่นกระเบื้องไหนแห้งให้ฉีดน้ำ จากนั้นเราจะแปรงฟันให้คุณห้องน้ำกัน (กระเบื้องแต่ละแผ่นเป็นฟันของห้องน้ำ)
  3. ทำอาหารด้วยกัน สำหรับเด็กการทำอาหารนั้นเหมือนเป็นการเล่นอยู่แล้ว เราเพียงแค่ชวนเขามาทำ มาล้าง มาหั่น (มีดพลาสติก) และมาช่วยเราทำอาหารได้
  4. เล่นซูชิผ้าห่ม นำผ้าห่มมาม้วนตัว แล้วกลิ้งเล่นกับลูก เมื่อเล่นเสร็จก็ชวนกันเก็บที่นอน ผ้าห่มไปในตัว
  5. แข่งกันโยนผ้าใส่ตะกร้า-เสื้อผ้าใช้เเล้ว ก่อนจะนำไปซัก นำมากองไว้รวมกัน นำตะกร้าผ้าสองอันวางไว้ไม่ห่างมาจนเกินไป เรากับลูกแข่งกันโยนผ้าลงตะกร้า ใครโยนได้ลงมากกว่าเป็นฝ่ายชนะ เป็นต้น

 

กิจกรรมทำในบ้าน นอกจากจะได้ฝึกทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ และความแข็งแรงของร่างกายแล้ว ยังได้ฝึกจินตนาการ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเด็ก ๆ ด้วย สิ่งสำคัญที่สุดพวกเขายังได้เล่นอย่างเต็มที่ อย่างที่เด็กทุกคนควรจะได้รับ

 

สุดท้ายนี้ อย่ากลัวที่จะเลอะ เพราะการเลอะเทอะ เราสามารถชวนเขามาเก็บกวาดทีหลังได้ แต่สิ่งที่เราควรกลัว คือ เวลาแห่งการเป็นเด็กของเขาเหลือน้อยลงไปทุกทีแล้ว อย่าให้อากาศ หรือ ใครมาแย่งเวลาที่เขาควรจะได้เล่น และเป็นเด็กจากเขาไป

 

อ้างอิง : Duffy, B. (2007). All about… messy play. The Early Years Foundation Stage Primary National Strategy. Department of Education: London. See Less