พัฒนาทักษะ STEAM ผ่านงานบ้าน
แต่ละครอบครัวมีงานบ้านอะไรบ้างที่มอบหมายให้เด็ก ๆ ช่วยทำ ?
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ธรรมชาติเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงอยู่และเรียนรู้ของเด็ก ๆ ที่ไม่ควรละเลยเด็ดขาด ท่ามกลางกระแสการแข่งขันด้านวิชาการที่เชี่ยวกราก
ไม่แปลกหรอกที่เด็ก ๆ จะถูกฉุดรั้งให้ออกห่างจากธรรมชาติไปทุกที นี่ยังไม่รวมถึงเทคโนโลยีหลากหน้าจอที่เป็นเหมือนขนมหวาน ซึ่งขัดขวางการเรียนรู้ของพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ราวปี ค.ศ.1983 Dr. Howard Gardner นักจิตวิทยาชื่อดังแห่งฮาร์วาร์ดได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาในชื่อ “Frames of Mind: The Theory of Multiple Intelligences” หรือทฤษฎีพหุปัญญา โดยนำเสนอแนวคิดที่ว่า คนเราแต่ละคนนั้นมีความฉลาด 8 ด้านติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด มาก-น้อยไม่เท่ากัน นั่นตอกย้ำให้เราได้เห็นว่า เด็กแต่ละคนมีความถนัดต่างกัน การจับไปนั่งในห้องเดียวกันเรียนบทเรียนเดียวกัน วัดผลจากข้อสอบเดียวกันนั้น เป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว
แนวคิดของ Dr.Gardner นั้น แนะให้พ่อแม่เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้หลาย ๆ ด้าน และส่งเสริมให้เกิดเป็นความสามารถเฉพาะตัว ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อพัฒนาสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาให้ทำงานอย่างสมดุล โดยหนึ่งนั้นก็คือ ความฉลาดด้านความเข้าใจธรรมชาติ (Naturalist Intelligence) ซึ่งสามารถสร้างได้จากประสบการณ์ของเด็กโดยตรง ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ ทดลอง สำรวจของจริงในธรรมชาติ ภายใต้เป้าหมายหลักคือความสุขของลูก ไม่ใช่เพียงผลสำเร็จ เพราะเมื่อเด็กได้พัฒนาตนเองอย่างฉลาดและมีความสุข แน่นอนว่าความภาคภูมิใจ และเห็นคุณค่าในตัวเอง กระทั่งความสำเร็จก็จะตามมาเองในที่สุด
แต่อย่างว่าล่ะครับ ใครจะไปกางเต็นท์เที่ยวป่า หรือพาลูกออกไปสำรวจโลกกว้างได้ทุกวัน แค่จะหาเวลาไปเดินเล่นในสวนสาธารณะที่มีอยู่จำกัด ภายใต้เวลาที่จำกัดของพ่อ ๆ แม่ ๆ อย่างเราทุกวันนี้ ก็ยังเป็นเรื่องยากเลย ฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดที่จะให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และอยู่กับธรรมชาติให้มากที่สุด ก็คือ สร้างมันขึ้นมาไว้ในบ้านเราเองนี่แหละครับ
บ้านใหญ่ บ้านเล็กไม่สำคัญ ต่อให้เป็นห้องเช่าแคบ ๆ เราก็มีห้องเรียนธรรมชาติให้ลูกได้ บางครั้งแทบไม่ต้องลงทุนอะไรด้วยซ้ำ แค่ชวนลูกเพาะถั่วเขียวในกระป๋องนม ปลูกผักบุ้งกินเองในบ้าน ก็ช่วยให้ดึงเขาออกจากหน้าจอมาได้สักพักแล้วล่ะครับ
อย่างบ้านผม พื้นที่เรียนรู้ธรรมชาติของลูกชายจะอยู่ข้างบ้าน ทุก ๆ เช้าพวกเราจะชวนกันเดินเท้าเปล่าย่ำหญ้า ฟังเสียงนกร้อง กวาดใบไม้ รดน้ำต้นไม้ ถ้าเวลาว่างมากหน่อยก็จะชวนกันไปเดินตลาดต้นไม้ ชวนกันปลูกนั่น เพาะนี่ไปเรื่อยเปื่อย
เพราะผมเชื่อว่า ธรรมชาติคือห้องเรียนห้องใหญ่ที่ไม่มีขอบเขตในตัวมันอยู่แล้ว ในกระป๋องใบเล็ก ๆ ที่เพาะเมล็ดถั่วเขียวนั้น มันจะอาจทำให้เด็กได้เรียนรู้อะไรมากมาย ทั้งความอดทนรอคอย วินัยในการรดน้ำใส่ใจดูแล การสังเกตสิ่งอันพันละน้อยที่เปลี่ยนไปในทุก ๆ วัน ความเข้าอกเข้าใจในวิถีแห่งธรรมชาติ อ่อนโยนกับบางสิ่งเล็ก ๆ และมีความสุขง่าย ๆ กับสิ่งรอบตัว รวมถึงเห็นคุณค่าและภาคภูมิใจกับตัวเองเมื่อได้ลงมือทำอะไรสักอย่าง ฯลฯ
..."นี่ล่ะครับ ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ที่บางครั้งเราก็ไม่จำเป็นกระเสือกกระสนเดินเท้าเข้าป่าไกล ๆ แค่ในบ้านเราเองง่าย ๆ ก็สร้างการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ให้ลูกเราได้แล้วล่ะครับ"...