151
สร้างสังคมสมานฉันท์ สานฝันเยาวชน บนแหล่งการเรียนรู้

สร้างสังคมสมานฉันท์ สานฝันเยาวชน บนแหล่งการเรียนรู้

โพสต์เมื่อวันที่ : September 24, 2020

“ความรุนแรงไม่ได้แก้ด้วยอาวุธ แต่แก้ด้วยการศึกษา โดยเฉพาะที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park ที่เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ต่างเชื้อชาติต่างศาสนาได้มาอ่านหนังสือ มาทำกิจกรรมร่วมกัน ก็กลายเป็นเพื่อนกัน สุดท้ายก็เติบโตไปด้วยกันและเกิดความสมานฉันท์ในพื้นที่”

 

กว่า 14 ปีที่สถาบันอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park ขยายเครือข่ายแหล่งเรียนรู้สู่ภาคใต้ตอนล่าง จากจุดเริ่มต้นที่เปิดบริการอุทยานการเรียนรู้ยะลา เครือข่ายภูมิภาคแห่งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2550 สู่การเปิดบริการอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี ที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดอุทยานการเรียนรู้นราธิวาส ได้ทดลองเปิดบริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้เด็ก เยาวชนและประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชาย แดนภาคใต้ที่เผชิญกับปัญหาความไม่สงบมายาวนาน ได้รับโอกาสที่ดีในการเข้าถึง TK Park แหล่งเรียนรู้ในรูปแบบ “ห้องสมุดมีชีวิต” ที่เข้ามาเป็นพื้นที่แห่งการสร้างความสมานฉันท์ของผู้คนในสังคมพหุวัฒนธรรม

 

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หน่วยงานต้นสังกัดของสถาบันอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ การเกิดขึ้นของ TK Park ที่เข้ามาเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนโอกาสการแสวงหาความรู้ รวมทั้งสร้างสรรค์พื้นที่แห่งมิตรภาพและความเข้าใจระหว่างผู้คน ได้รับการยอมรับอย่างดีจากประชาชนทุกกลุ่มทุกวัย การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของ TK Park ยาวนานในภาคใต้ตอนล่าง ได้พิสูจน์ชัดเจนว่าพื้นที่เล็ก ๆ แห่งการเรียนรู้อย่างสันติสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีเส้นแบ่งของวัฒนธรรมและศาสนา

 

 

อุทยานการเรียนรู้ยะลา แม่ข่ายแห่งการสร้างสรรค์ทางปัญญา 

อุทยานการเรียนรู้ยะลา เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเทศบาลเมืองยะลา และสถาบันอุทยานการเรียนรู้ โดยตลอดระยะเวลา 13 ปีที่เปิดบริการมา อุทยานการเรียนรู้ยะลามีผู้เข้าใช้บริการกว่า 2,660,000 คน นับได้ว่ามีผู้ใช้บริการเฉลี่ยกว่า 190,000 คนต่อปี และมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นตลอดมา กลุ่มผู้ใช้บริการหลักครอบคลุมทั้งเด็ก เยาวชน ประชาชน และผู้สูงอายุ ด้วยทำเลที่เป็นพื้นที่สาธารณะใจกลางเมือง มีการคมนาคมสะดวก ปลอดภัย ส่งผลให้เกิดความหลากหลายในการใช้พื้นที่แหล่งเรียนรู้ ทั้งการใช้พื้นที่เพื่อการทำงาน การประชุม พบปะพูดคุย การศึกษา การอ่าน การค้นคว้า และการทำกิจกรรมกับกลุ่มเป้าหมาย

 

 

ล่าสุด นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวถึงแผนการขยายพื้นที่ให้บริการในส่วนของอุทยานการเรียนรู้ ว่าจะย้ายไปตั้งอยู่ในอาคารศูนย์เยาวชนแห่งใหม่ในพื้นที่ติดกัน ความสูง 5 ชั้น ขนาดพื้นที่กว่า 15,000 ตารางเมตร ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะพร้อมเปิดบริการในปี พ.ศ. 2565 โดยอุทยานการเรียนรู้ยะลาแห่งใหม่นี้สร้างสรรค์ขึ้นภายใต้แนวคิดของการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้เป็นพื้นที่กลางในการสร้างสรรค์องค์ความรู้สู่การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน มุ่งบ่มเพาะเด็กรุ่นใหม่ให้รู้จักตัวเอง รู้จักท้องถิ่น เท่าทันโลกและเท่าทันเทคโนโลยี มุ่งสู่ความเป็น Smart City ในมิติใหม่ที่ผู้คน ธรรมชาติ และวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ 

 

นายกเทศมนตรีนครยะลาวาดฝันให้พื้นที่แห่งนี้คือพื้นที่แห่งการมีส่วนร่วมและเรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง เพื่อเติมเต็มทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเด็ก เยาวชนและประชาชนในจังหวัดยะลา ในอาคารใหม่นอกจากอุทยานการเรียนรู้ยะลาแล้ว ยังมีพื้นที่เรียนรู้ด้านต่างๆ อีกด้วย อาทิ Co-working Space 24 ชั่วโมง พร้อมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มุ่งเน้นสอนทักษะใหม่เพื่อการประกอบอาชีพ โดยอนาคตจะโฟกัสในการเฟ้นหาสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่จะมาร่วมพัฒนานวัตกรรมและนำพาชาวยะลาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต

 

 

 

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวเสริมว่า แม้ว่าในอดีตจะมีเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่อุทยานการเรียนรู้ยะลาก็มีส่วนสำคัญเพิ่มความสมานฉันท์ โดยมีบทบาทในฐานะพื้นที่กลางที่เปิดกว้างให้ประชาชนทุกกลุ่มมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน จนกลายเป็นแหล่งการเรียนรู้ต้นแบบที่มุ่งสร้างทั้งปัญญา และสันติสุขในพื้นที่

 

อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี พื้นที่แห่งการเรียนรู้ไร้ขีดจำกัด

ความโดดเด่นของของอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี ภายใต้ความร่วมมือของ เทศบาลเมืองปัตตานี สถาบันอุทยานการเรียนรู้ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ คืออาคารรูปทรงคล้ายรังผึ้งและตัวเรือกอแระ ที่บ่งบอกถึงการอยู่ร่วมกันของสังคมพหุวัฒนธรรม มีพื้นที่ให้บริการทั้งสิ้น 6,476 ตร.ม. นับเป็นอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ให้บริการห้องสมุดที่มีหนังสือหลากหลายกว่าสองหมื่นเล่ม ห้องสมุดเด็ก ห้องสมุดไอที ห้องฉายภาพยนต์ ห้องประชุม ห้องศาสนา และมุมเครื่องดื่ม นับแต่เปิดบริการในเดือนมีนาคม 2560 เป็นต้นมา อุทยานการเรียนรู้ปัตตานีมีผู้เข้ามาใช้บริการแล้วกว่า 275,000 คน

 

 

 

อุทยานการเรียนรู้ปัตตานีมุ่งเน้น 4 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ เด็กเล็ก กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ โดยการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้สูงอายุ อายุ 65 ปีขึ้นไป กลุ่มเด็กด้อยโอกาส และกลุ่มผู้นำทุกศาสนาในพื้นที่ สามารถเป็นสมาชิกฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จุดเด่นของอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี คือกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เข้ามาตอบโจทย์ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ โดยที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรม อาทิ นิทรรศการเรื่องเล่าของแผ่นดิน ตอน “เสน่ห์ปัตตานี” เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตระหว่างวัฒนธรรมตามบริบทของพื้นที่สังคมพหุวัฒนธรรม นิทรรศการหลงรักวิถีปัตตานีกีตอ ที่เป็นสื่อกลางในการนำเสนอบริบททางวัฒนธรรมในหลายแง่มุม กิจกรรมการประกวดภาพถ่าย หลงรักวิถีปัตตานีกีตอ เป็นต้น

 

นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้อุทยานการเรียนรู้ปัตตานีแตกต่างคือการจัดให้มี “ห้อง 3 ศาสนา” ที่ให้ความรู้แก่เยาวชนให้เข้าใจถึงความแตกต่าง ทั้งศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม เพื่อที่จะเรียนรู้ที่จะเคารพในความเชื่อซึ่งกันและกัน รวมถึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความสมานฉันท์ เพราะตนเชื่อว่า ความรุนแรงไม่ได้แก้ด้วยอาวุธ แต่แก้ด้วยการศึกษา โดยเฉพาะที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park ที่เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ต่างเชื้อชาติต่างศาสนาได้มาอ่านหนังสือ มาทำกิจกรรมร่วมกัน ก็กลายเป็นเพื่อนกัน สุดท้ายก็เติบโตไปด้วยกัน และเกิดความสมานฉันท์ในพื้นที่ในที่สุด 

 

แม้ว่าอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี จะเปิดได้เพียงแค่ 3 ปี แต่ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมากจากประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มครูผู้ปกครองจากโรงเรียนในพื้นที่ ที่มองว่าเป็นแหล่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ข่วยให้เด็กได้เปิดโลกทัศน์กว้างขึ้น ทั้งในแง่ของวิชาการ กิจกรรม และความรู้รอบตัว ทำให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจ รักการเรียนรู้ และผลสัมฤทธิ์ด้านคะแนนสอบโอเน็ตที่สูงขึ้นจริงนับตั้งแต่อุทยานการเรียนรู้ก่อตั้ง

 

 

 ล่าสุดได้เปิดบริการ “ลานสานฝัน” บนพื้นที่ชั้น 3 ของอุทยานการเรียนรู้ปัตตานี มุ่งหมายสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาประสิทธิภาพการศึกษาเรียนรู้ของเยาวชน ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ตามศักยภาพของตนเอง และเป็นพื้นที่แสดงผลงานในทางสร้างสรรค์ การแข่งขันทักษะทางด้านวิชาการ วิชาชีพ ดนตรี ศิลปะของสถานศึกษาและหน่วยงานทุกระดับ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่กล้าคิด กล้าแสดงออก มีเจตคติต่อวิถีประชาธิปไตย มีนิสัยรักการอ่านและการแสวงหาความรู้ตลอดชีวิตอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งมีความภาคภูมิใจในท้องถิ่นปัตตานี

 

 

 

 

อุทยานการเรียนรู้แห่งใหม่ปลายด้ามขวานไทย ที่นราธิวาส

แน่นอนว่าปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ตอนล่าง ส่งผลให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ขาดโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ การบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในที่สุดศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ และ เทศบาลเมืองนราธิวาส ได้ทำความร่วมมือกับ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ ในการพัฒนาอุทยานการเรียนรู้นราธิวาส มุ่งหมายให้เกิดพื้นที่ปลอดภัย ที่จะเข้ามาส่งเสริม สนับสนุน และปลูกฝังการศึกษาเรียนรู้ และสร้างสรรค์แหล่งเรียนรู้ในสังคมพหุวัฒนธรรมของจังหวัดนราธิวาส เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

อุทยานการเรียนรู้นราธิวาส ตั้งอยู่ในบริเวณสวนกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นราธิวาส บนพื้นที่กว่า 12 ไร่ มีพื้นที่ใช้สอยรวมกว่า 5,000 ตารางเมตร เปิดพื้นที่ชั้นล่างของอาคารให้บริการสาธารณชนครั้งแรกในปี พ.ศ.2562 นับตั้งแต่เปิดให้บริการมีผู้เข้ามาใช้บริการแล้วกว่า 40,000 คน ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายมากมาย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มพ่อแม่ กลุ่มผู้สุงอายุ ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย ด้วยความเชื่อมั่นว่าการมีอยู่ของอุทยานการเรียนรู้ จะเข้ามาเป็นเครื่องมือในการสร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่ รวมทั้งสร้างมิตรภาพและความเข้าใจของผู้คนในสังคมพหุวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี 

 

สอบถามข้อมูลข่าวเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายประสานงานสื่อ คุณปิง โทร. 02-006-7186