12
การเติบโตในยุคดิจิทัล

การเติบโตในยุคดิจิทัล

โพสต์เมื่อวันที่ : November 27, 2024

 

ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ส่วนหนึ่งเพราะพ่อแม่ต้องใช้หน้าจอ มือถือ และสื่อสังคมออนไลน์ในการติดต่อสื่อสารและทำงานทุกวัน โดยเฉพาะครอบครัวที่ทำธุรกิจออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ อีกส่วนหนึ่ง ก็คือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่ถูกประยุกต์ใช้ทั้งในและนอกห้องเรียน ทักษะทางดิจิตอลเข้ามามีบทบาทมากทั้งในปัจจุบันและในอนาคต จึงมีความจำเป็นที่เด็กต้องใช้หน้าจอมากขึ้นในปัจจุบัน

 

เช่นเดียวกับทุกอย่างในโลกนี้ เหรียญย่อมมีสองด้าน ข้อดีของเทคโนโลยีก็มีมาก และผลเสียของมันก็มีมากเช่นกัน โดยเฉพาะหากใช้อย่างไม่ควบคุมเลย บทความนี้จะกล่าวถึงเด็กกับหน้าจอที่พ่อแม่ควรทราบในปัจจุบัน

 

 

ความจริงข้อแรกที่ควรทราบ คือ เด็กต้องการมนุษย์ในการเติบโต มิใช่หน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นช่วงปฐมวัย (ก่อนวัยเรียน) หรือหลังจากนั้น มนุษย์ต้องการมนุษย์รอบตัวในการเรียนรู้ที่จะเติบโตในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกปลอดภัยในจิตใจ ความสัมพันธ์ ภาษา การเรียนรู้อารมณ์ความรู้สึก การเข้าสังคม และอีกมากมาย โดยมีข้อมูลมากมายในปัจจุบันที่ชี้ว่า เด็กเล็กไม่สามารถเรียนรู้จากอุปกรณ์และหน้าจอเหล่านี้ได้ เด็กเล็กไม่สามารถเรียนรู้คำศัพท์และภาษาจากการดูหน้าจอได้ แม้ว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่ให้เด็กดูจะเป็น “สื่อเพื่อการเรียนรู้” ก็ตาม

 

ดังนั้นการศึกษาจึงพบชัดเจนว่า หากใช้หน้าจอมากเกินไปจะกระทบต่อพัฒนาการของเด็กอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านกล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กและใหญ่ ด้านภาษา ด้านพฤติกรรม ด้านสมาธิ ความจดจ่อใส่ใจ และด้านความสามารถในการควบคุมกำกับตัวเอง รวมถึงการมีความสุขในชีวิตในระยะยาวอีกด้วย แต่ก็แน่นอนว่า การใช้หน้าจอเป็นวิธีการเลี้ยงเด็กที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้เด็กนั่งนิ่ง ๆ อยู่ได้เป็นนานแสนนาน

 

จึงเป็นที่มาของคำแนะนำทั้งของ องค์การอนามัยโลก และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการใช้ ‘หน้าจอ’ ในเด็ก ที่ระบุว่า ควรหลีกเลี่ยงการใช้หน้าจอในเด็กเล็กต่ำกว่า 2 ขวบ สำหรับเด็กอายุ 2 - 5 ปีควรใช้หน้าจออย่างจำกัดไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน ควรเป็นรายการที่พ่อแม่เลือกให้อย่างเหมาะสมตามวัยและดูพร้อมกันไปพร้อมกับลูก สำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ไม่ควรใช้หน้าจอเพื่อความบันเทิงเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน

 

สำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 13 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ ‘สื่อสังคมออนไลน์’ (Social Media) ไม่นับวิดีโอคอลกับญาติและผู้ปกครองเป็นเวลาหน้าจอ ใช้ได้ตามปกติอย่างเหมาะสมเพื่อสื่อสารและกระชับความสัมพันธ์กับคนที่อยู่ห่างไกลได้ สำหรับการเรียนไม่แนะนำให้ใช้สื่อการสอนออนไลน์ในเด็กอนุบาลโดยขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้สอน (พ่อแม่หรือครู) สำหรับวัยประถม การใช้หน้าจอเพื่อการเรียนไม่นับเป็น “เวลาหน้าจอ” ตามคำแนะนำที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ (ที่กล่าวว่าเพื่อความบันเทิงไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน)

 

 

สำหรับพ่อแม่ ต้องมีกฎกติกาในการใช้หน้าอย่างชัดเจน ควรทำกิจวัตร การบ้านและหน้าที่ที่ได้รับผิดชอบให้เสร็จก่อนการใช้หน้าจอ มีวินัยในการใช้หน้าจอที่ดี และควรกำกับเนื้อหาของสื่อที่ลูกดู หากทำได้ไม่ควรมีการเปลี่ยนภาพอย่างรวดเร็ว ไม่ควรมีความรุนแรง และเนื้อหาแฟนตาซีเกินไป และไม่ควรเปิดหน้าจอทิ้งไว้ในบ้านจนเป็นนิสัย

 

ที่สำคัญ อย่าลืมประเมินพัฒนาการและพฤติกรรมของลูกด้วยเสมอ หากเริ่มมีปัญหาพัฒนาการและพฤติกรรมมากขึ้นหลังใช้หน้าจอ ควรกลับไปพิจารณาการใช้งานหน้าจอเป็นระยะว่าเหมาะสมแล้วหรือยัง 

 

  1. ควบคุมการใช้งานหน้าจอได้หรือไม่
  2. เวลาหน้าจอ เบียดบังเวลานอน ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง และการทำกิจกรรมของลูก โดยเฉพาะการเล่น การออกกำลังกาย การทำการบ้าน งานต่าง ๆ หรือไม่

 

หากเข้าเกณฑ์ว่าคุมการใช้งานหน้าจอไม่ได้ บั่นทอนความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และเบียดบังเวลาในชีวิตในการนอนและการทำกิจกรรมอื่น พ่อแม่ควรพิจารณาว่า อาจต้องหยุดใช้หน้าจอเพื่อความบันเทิงไปก่อนหรือไม่

 

 

เพราะแม้ว่าสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และคอมพิเตอร์จะสามารถให้ประสบการณ์ใหม่ ๆ และเปิดโลกทัศน์ให้กับมนุษย์ได้ ทำให้เราได้เห็นสิ่งใหม่ ๆ สถานที่ใหม่ ๆ และผู้คนใหม่ ๆ ซึ่งเกิดประโยชน์กับเด็กและผู้ใหญ่อย่างเราได้ แต่ต้องยอมรับว่าผลเสียก็มีไม่น้อยเช่นกัน ดังนั้นการใช้อย่างสมเหตุสมผลตามวัยจึงเป็นทางเลือกที่ดี เพราะสุดท้ายเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้นั่นเอง

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง