1004
อย่าให้ความรักทำร้ายลูก

อย่าให้ความรักทำร้ายลูก

โพสต์เมื่อวันที่ : October 23, 2023

 

บางครั้งสิ่งที่พ่อแม่ทำให้กับลูกด้วยความเข้าใจผิดว่า “นั่นคือความรักที่มอบให้ลูก”

 

ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วสิ่งเหล่านั้นกลับกลายเป็นการทำร้ายลูกโดยที่พ่อแม่ไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งสิ่งที่พ่อแม่มักทำและเข้าใจผิดว่าเป็นความรัก มีดังนี้

 

ข้อที่ 1 “การทำทุกอย่างให้กับลูก โดยไม่ให้ลูกได้เรียนรู้การช่วยเหลือตัวเองตามวัยของเขา” พ่อแม่ควรสอนให้ลูกช่วยเหลือตัวเองตามวัย เช่น เมื่อลูกเริ่มกินข้าวได้ เปิดโอกาสให้เขาฝึกกินด้วยตัวเอง จะเริ่มจากมือในวัย 8 เดือน - 1 ขวบ แล้วค่อย ๆ พัฒนาไปสู่การใช้ช้อนส้อมในวัยต่อไป เราไม่ควรกังวลเรื่องเลอะเทอะ หรือ กินได้เยอะหรือน้อย หากเราให้เวลา 30 นาที เรานั่งกินร่วมกัน เมื่อหมดเวลาเก็บ กินไม่หมดหรือไม่กิน ให้งดขนมขมเนย รอกินอาหารหลักมื้อถัดไป

 

เมื่อลูกเริ่มเดินได้ เปิดโอกาสให้เขาเดิน - วิ่งด้วยตัวเอง อุ้มให้น้อยลง เพื่อให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ของเขาพัฒนา และที่สำคัญเพื่อให้ลูกได้สัมผัสพื้นผิวต่าง ๆ ในทุกที่ที่เขาเดิน-วิ่งไปถึง หากเรามัวแต่อุ้มเขา ลูกจะขาดโอกาสในการพัฒนากล้ามเนื้อและการกระตุ้นประสาทสัมผัสของเขา พ่อแม่ควรเลี้ยงลูกเพื่อให้เขาเติบโตมาเลี้ยงตัวเขาเองได้ ไม่ใช่เพื่อให้เขาต้องพึ่งพาเราไปตลอด เพราะคงไม่มีพ่อแม่คนใดที่จะสามารถดูแลลูกไปได้ทั้งชีวิต

 

 

ขั้นที่ 2 “การคาดหวังให้ลูกเป็นลูกที่สมบูรณ์แบบ โดยคาดหวังผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการเรียนรู้ของลูก” ลูกเกิดมาเพื่อเป็นตัวเขาเอง โดยมีพ่อแม่คอยสอนในสิ่งที่สำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเขา เช่น

 

  • ✔︎ การช่วยเหลือตัวเองตามวัย ได้แก่ กินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว ใส่รองเท้า เข้าห้องน้ำ
  • ✔︎ การมีวินัย ได้แก่ ตื่นนอน-เข้านอน และกินอาหารหลัก 3 มื้อให้เป็นเวลา รับผิดชอบต่อของของตัวเอง เก็บของเล่น และเมื่อโตขึ้นได้รับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ได้แก่ ทำงานบ้านหรือการบ้านก่อนไปเล่น
  • ✔︎ การเคารพตัวเองและผู้อื่น ได้แก่ กฎ 3 ข้อ ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำลายข้าวของ

 

ที่สำคัญ ระหว่างการสอน พ่อแม่ควรพุ่งเป้าไปที่ลูกได้เรียนรู้กระบวนการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเขาเอง ดังนั้นหากลูกยังทำไม่ได้ พ่อแม่มีหน้าที่สอนเขาไปเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งเขาสามารถทำมันได้ด้วยตนเองจริง ๆ ทั้งนี้หากลูกทำได้ไม่ดี หรือ ทำได้ไม่สมบูรณ์ ขอให้พ่อแม่ปล่อยวางผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และมองให้เห็นว่า “ลูกได้เรียนรู้อะไร ?"

 

 

ข้อที่ 3 “การใช้เงินซื้อของทุกอย่างที่ลูกต้องการให้กับลูก แต่ไม่ได้ให้เวลาคุณภาพกับเขา” เพราะ “ความรัก” ที่ดีที่สุดสำหรับลูกทุกคน คือ “เวลาคุณภาพ” ที่พ่อแม่ควรให้กับเขา

 

เวลาที่จะมอบความสนใจให้กับเขาอย่างเต็มที่
เวลาที่จะสัมผัสเขาด้วยความรัก มองตาเขา กอดเขา หอมเขา
เวลาที่จะเล่นกับเขา โดยไม่จะเป็นต้องมีของเล่นราคาแพง แต่เป็นตัวพ่อแม่ที่เป็นของเล่น
เวลาที่จะพูดคุยและฟังเขาเล่าเรื่องราวต่าง ๆ
เวลาที่จะอ่านหนังสือให้ลูกฟัง และอ่านหนังสือไปด้วยกันในวันที่เขาอ่านได้เอง
เวลาที่จะกิจกรรมด้วยกัน ออกกำลังกาย ทำงานบ้าน และอีกมากมาย

 

ยิ่งเป็นเด็กเล็ก ๆ เขาไม่รับรู้หรอกว่า สิ่งของเครื่องใช้ ของเล่น เสื้อผ้า ที่พ่อแม่ซื้อให้เขานั้นราคาแพงแค่ไหนกันเชียว เพราะสำหรับเขา อ้อมกอดที่อบอุ่นจากพ่อแม่มีค่ามากกว่าสิ่งเหล่านั้น

 

 

ข้อที่ 4 “การรักลูกอย่างมีเงื่อนไข โดยความรักที่มอบไป ลูกต้องตอบแทนความรักนั้นกลับมา” พ่อแม่ที่รักลูกมาก และพยายามทำทุกอย่างให้ลูก เพื่อหวังว่า สักวันหนึ่งเมื่อเราแก่ชรา ลูกจะตอบแทนเราเช่นกัน การกระทำแบบนี้เราอาจจะคุ้นเคยกันดีกับคำว่า “กตัญญู” แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ความรัก” ที่พ่อแม่ควรมอบให้กับลูกควรเป็นรักที่ปราศจากเงื่อนไข ให้ไปโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ความรักที่ดีที่สุดจะทำให้เกิดเป็นสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างเรากับลูก สายสัมพันธ์นี้อาจจะทำให้ลูกอยากทำสิ่งดี ๆ เพื่อตัวเองและให้พ่อแม่ของเขา เพราะเขารักเรามากนั่นเอง

 

“ความกตัญญู” จึงไม่ควรเกิดจากการบีบบังคับให้ลูกตอบแทนเรา เพราะหากพ่อแม่ใช้ความกตัญญูเป็นตัวตั้ง ลูกอาจจะรู้สึกกดดันหากเขาทำไม่ได้อย่างที่เราหวัง และตัวเขาจะรู้สึกผิดที่เขาเป็นลูกที่ไม่ได้เรื่อง และไม่ดีพอ เมื่อเขาไม่สามารถทดแทนบุญคุณให้เราได้

 

ลูกหลายคนที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่แล้วในวันนี้ อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของพ่อแม่ของเราได้ในเรื่องความคาดหวังที่มีต่อเรา แต่ถ้าเรามีลูก เราสามารถตัดวงจรนี้ได้ด้วยการรักลูกอย่างที่เขาเป็น และไม่คาดหวังให้เขาต้องตอบแทนเรา เพราะสำหรับเราขอแค่เขาเติบโตมาไม่ทำให้ตัวเขาหรือใครเดือดร้อน และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก็เพียงพอแล้ว

 

 

ข้อที่ 5 “การปกป้องลูกในทางที่ผิด” เมื่อลูกทำสิ่งที่ผิดพ่อแม่เลือกที่จะปกป้องเขาในทางที่ผิด เช่น แก้ปัญหาให้ลูกทันที แต่กลับไม่สอนให้เขาแก้ปัญหานั้นด้วยตัวเอง, เข้าข้างลูก ทั้ง ๆ ที่ลูกเป็นฝ่ายผิด ยิ่งนานวัน เมื่อลูกเติบโตขึ้น สิ่งที่ลูกทำผิดไม่ได้รับการสอน เขายังคงทำผิดซ้ำเดิม แต่ในคราที่เข้ากลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว พ่อแม่จะไม่สามารถปกป้องเขาได้ตลอดไป เขาต้องได้รับการลงโทษจากสังคมแทน การที่ลูกทำผิดแล้วเราไม่สอนเขาตั้งแต่เยาว์วัย เราก็มีส่วนในการรับผิดชอบในความผิดที่ลูกทำด้วย

 

"แท้ที่จริงแล้ว พ่อแม่เป็นส่วนหนึ่งส่วนสำคัญที่ช่วยกำหนดว่า ลูกจะเป็นเติบโตมาเช่นไร” หากเราอยากให้ลูกเติบโตมารักตัวเองและผู้อื่นเป็น ช่วยเหลือตัวเองได้ เราควรเลี้ยงดูเขาด้วยความรักจากการมีเวลาคุณภาพให้กับเขา และสอนในสิ่งที่สำคัญสำหรับการใช้ชีวิตให้ลูก ไม่ใช่รักเขาในทางที่ผิด